“พญางำเมือง” สถาปนารัฐพะเยา กับตำนาน “แกงหวานบ้านแตก”

พระบรมราชานุสาวรีย์ พญางำเมือง จังหวัด พะเยา
พระบรมราชานุสาวรีย์พญางำเมือง จังหวัดพะเยา (ภาพจาก Wikimedia Commons)

“พญางำเมือง” แห่งเมือง พะเยา เชื้อวงศ์ขุนจอมธรรมกับขุนเจือง ผู้นำกลุ่มโยนก เมื่อครองเมืองพะเยาแล้ว ได้ขยายเครือข่ายกับเครือญาติ เช่น รัฐเชียงราย, รัฐสุโขทัย, รัฐละโว้ (ลพบุรี) ฯลฯ ทำให้สามารถพัฒนาเมืองพะเยาให้กลายเป็นรัฐขนาดย่อม เรียกว่า “รัฐพะเยา” พญางำเมืองยังสร้างเครือข่ายเข้าคุมเส้นทางการค้าข้ามภูมิภาคร่วมกับเครือญาติรัฐอื่น ๆ ที่กำลังเรืองอำนาจอยู่ในขณะนั้น

เมืองพะเยามีรากฐานมาจากบ้านเมืองที่ “ขุนจอมธรรม” ต้นวงศ์พญางำเมือง เป็นผู้สถาปนาไว้บนที่ราบในหุบเขา บริเวณลุ่มแม่น้ำอิง เรียก “หนองเอี้ยงเชิงภูยาว” บริเวณต่อไปข้างหน้าได้กลายเป็นเมืองพะเยา โดยขุนจอมธรรมมีทายาทนามว่า “เจือง” หรือขุนเจือง

สมัยของขุนเจืองมีบ้านเมืองอุบัติขึ้นไล่เลี่ยกันคือ เมืองล้านช้าง (หลวงพระบาง) ริมแม่น้ำโขง และเมืองสุโขทัย ริมแม่น้ำยม (ต้นน้ำอยู่ในเขตพะเยา) โดยขุนเจืองมีอำนาจเหนือเมืองเชียงแสน ลุ่มแม่น้ำกก ดินแดนสิบสองปันนา และข้ามแม่น้ำโขงไปถึงล้านช้าง ไกลถึงทุ่งไหหิน ประชิดดินแดนเวียดนาม จะเห็นว่าขุนเจืองแผ่อำนาจไปทั่วสองฝั่งโขง ก่อนเสียชีวิตในสนามรบ

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของขุนเจืองมีลักษณะของนิทานปรัมปราเสียเป็นหลัก ไม่มีหลักฐานว่ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับเรื่อง “พระเจ้าพรหม” ของตระกูลไทย-ลาว ทราบเพียงในยุคต้นวงศ์ของพญางำเมือง หรือสมัยขุนเจืองนี้ ผู้คนยังนับถือศาสนาผี ไม่รู้จักพุทธ-พราหมณ์แต่อย่างใด

สำหรับพญางำเมือง ท่านถูกนับว่าเป็นกษัตริย์องค์แรกของเมืองพะเยา เพราะมีหลักฐานยืนยันว่ามีตัวตนอยู่จริงอยู่ในประวัติศาสตร์ ทั้งตำนาน พงศาวดาร ระบุชัดว่า “พญางำเมือง” คือวงศ์วานของขุนจอมธรรมและขุนเจือง โดยเป็นบุตรของพญามิ่งเมือง เกิดที่เมืองพะเยา เมื่อ พ.ศ. 1781

“งำเมือง” หมายถึงอะไร? ที่มาของนามนี้มีตำนานเล่าว่า “ท่านไป ณ ที่ใด ที่นั้นแดดก็บ่ร้อน ฝนก็บ่ร่ำ ท่านจักใคร่ให้บดก็บด จักใคร่ให้แดดก็แดด เหตุดังนั้นจึงชื่อว่า ‘งำเมือง’ ” คือมีอำนาจบารมีเหนือ-นำ หรือครอบงำ (บ้านเมือง) ได้นั่นเอง

เมื่ออายุ 16 ปี (พ.ศ. 1797) พญางำเมืองได้ไปเรียนศิลปวิทยาที่เมืองละโว้ (ลพบุรี) ดังปรากฏใน พงศาวดารโยนก เล่าว่า “ไปเรียนศิลปะในสำนักพระสุกทันตฤๅษี ณ กรุงละโว้ อาจารย์เดียวกับสมเด็จพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย” เหตุดังนั้น พญางำเมืองกับสมเด็จพระร่วงฯ หรือพ่อขุนรามคำแหง จึงเป็นสหายกัน

กระทั่งอายุ 20 ปี (พ.ศ. 1801) พญางำเมืองได้เป็นเจ้าเมืองพะเยา และรับเอาคติพุทธศาสนาจากเมืองหริภัญชัยไปประดิษฐานที่เมืองพะเยาด้วย ก่อนจะขยายอำนาจไปพยายามยึดครองเมืองน่าน

รุกรานเมืองน่าน ตำนาน “แกงหวานบ้านแตก”

อาจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล อ้างตำนานเมืองน่านที่กล่าวว่า พญางำเมืองส่งกองทัพไปยึดเมืองปัว (น่าน) แล้วส่งชายาองค์หนึ่งชื่อ “นางอั้วสิม” และราชบุตรอามป้อมไปครองเมืองปัว เหตุการณ์ก่อนที่พญางำเมืองยึดเอาเมืองปัวนั้น พญาเก้าเกลื่อนเจ้าเมืองปัว ได้ทิ้งเมืองไว้ให้ชายาคือ แม่ท้าวคำพินดูแล พญางำเมืองจึงอาศัยจังหวะนี้เข้ายึดครองเมืองปัว

แม่ท้าวคำพินหนีออกจากเมือง ระหว่างทางได้ให้กำเนิดราชบุตรนาม “ท้าวผานอง” เมื่อเติบใหญ่ก็ได้ครองเมืองปลาดซึ่งอยู่ในอำนาจของพะเยา

ต่อมา นางอั้วสิมและราชบุตรอามป้อมเดินทางจากเมืองปัวมาเยี่ยมพญางำเมืองที่เมืองพะเยา ก่อนจะลากลับ นางอั้วสิมทำแกงควายถวายสวามี ปรากฏว่ารสแกงไม่ถูกปากพญางำเมือง เป็นเหตุให้วิจารณ์แกงของชายาตนเองว่า “แกงควายก็ยังหวานแก่ เท่าว่าน้ำนักหั้นนาว่าอั้น” (แกงหวานและน้ำเยอะเกินไป) นางอั้วสิมได้ยินดังนั้นจึงกลับเมืองปัวพร้อมความโกรธเคืองสวามี ทิ้งพญางำเมืองไปสมรสกับท้าวผานอง…

พญางำเมืองจึงยกทัพไปรบเมืองปัวอีกหน แต่พ่ายแพ้กลับมา ฝ่ายนางอั้วสิมมีราชบุตรกับท้าวผานองชื่อ “พญาครานเมือง” ผู้สร้างเวียงแช่แห้งและพระธาตุแช่แห้ง สรุปว่าที่พญางำเมืองพยายามควบรวมเมืองน่าน (เมืองปัว) ไว้ในอำนาจ ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่นานน่านก็แข็งเมืองประกาศแยกตนเป็นอิสระดังเดิม

ช่วยพญามังรายสถาปนาอำนาจ

พญางำเมืองและรัฐพะเยามีบทบาทในการช่วย “พญามังราย” แห่งเชียงแสน สถาปนาอำนาจในดินแดนล้านนา พ.ศ. 1824 พญางำเมืองยกไพร่พลเมืองพะเยาร่วมกับพญามังรายไปยึดเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) แล้วร่วมกับพญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) แห่งกรุงสุโขทัย สร้างเมืองเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม การศึกษาสมัยหลังบ่งชี้ว่าพญาทั้งสามเป็นพันธมิตรกัน แต่อาจไม่ได้ร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่แต่อย่างใด

พงศาวดารโยนกระบุว่า พญางำเมืองอ่อนน้อมต่อพญามังรายตั้งแต่ พ.ศ. 1819 แล้ว ก่อนจะผูกสัมพันธ์กับวงศ์พระร่วงแห่งสุโขทัยแล้วไปยึดหริภุญชัยในภายหลัง เป็นส่วนหนึ่งของการขยายอำนาจและสร้างเครือข่ายรวบรวมชนเผ่าทั่วบริเวณที่ราบลุ่มน้ำแม่กก-แม่อิง รวมถึง 2 ฝั่งโขง เชื่อมโยงถึงลุ่มน้ำสาละวินของพญามังราย

ความเป็นเครือญาติมีส่วนสำคัญทำให้พญางำเมืองสนับสนุนพญามังราย ดังปรากฏในพงศาวดารโยนกว่า “มังรายคือลูกลาวเมง หลานท้าวฮุ่ง เกิดแต่นางเทพคำข่าย” ซึ่ง “ท้าวฮุ่ง” คือขุนเจืองแห่งเมืองพะเยานั่นเอง

พญางำเมืองสิ้นชีพ พ.ศ. 1861 สิริอายุ 80 ปี อยู่ในราชสมบัติเมืองพะเยานานถึง 60 ปี หลังสิ้นพญางำเมือง พญามังรายได้ผนวกพะเยาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐล้านนา…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2552). จังหวัดพะเยา มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กันยายน 2566