จังหวัด “พะเยา” มาจากไหน?

พระอาทิตย์ ตกดิน ที่ กว๊านพะเยา พะเยา จังหวัดพะเยามาจากไหน
พระอาทิตย์ตกดิน ที่ กว๊านพะเยา (ภาพโดย Chainwit ใน Wikimedia Commons สิทธิการใช้งาน CC BY-SA 4.0)

จังหวัดพะเยามาจากไหน?

พะเยา เป็นจังหวัดทางภาคเหนือ ได้ชื่อมาจากเทือกเขา ภูยาว หรือ ภูกามยาว เป็นเมืองเก่าที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง ที่รู้จักกันดีก็เช่น กว๊านพะเยา ประวัติความเป็นมาของพะเยาเป็นอย่างไรนั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยนำเสนอไว้ในหนังสือ จังหวัดพะเยามาจากไหน? มีเนื้อหาบางส่วนดังนี้

พะเยา ได้ชื่อจาก ภูยาว

คำว่าพะเยาในชื่อจังหวัดพะเยาและเมืองพะเยา สะกดแบบเก่าสุดว่า พยาว มาจากชื่อ ทิวเขาภูยาว หรือ ภูกามยาวเป็นทิวเขาประจำเมือง มีเมืองตั้งอยู่ตอนปลายของทิวเขา

Advertisement

เมืองพะเยา

เมืองพะเยา มีพัฒนาการมาแล้วตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 1700 (ก่อนพุทธศตวรรษที่ 18) ต่อมาเป็นศูนย์กลางของแคว้นพะเยา นับเป็นรัฐเอกเทศร่วม สมัยแคว้นสุโขทัย และแคว้นเชียงแสน-เชียงรายหลัง พ.ศ. 1800 (หลังพุทธศตวรรษที่ 19) เมืองพะเยาตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอิง (หรือแม่น้ำสายตา) ปลายทิวเขาภูกามยาว (หรือดอยชมภูหรือดอยด้วน) มีหนองเอี้ยง (ปัจจุบันคือกว๊านพะเยา) เป็นแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์

กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา

ชื่อ เมืองพะเยา มีหลักฐานเก่าสุดอยู่ในศิลาจารึกวัดศรีชุม สมัยสุโขทัย (ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2) ราวหลัง พ.ศ. 1800 เขียนว่า พยาว ในสมุทรโฆษคำฉันท์ (วรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น) เขียนว่า พยาว อยู่ในตอนเล่นเบิกโรงหนังใหญ่เรื่องลาวกับไทยฟันดาบว่า

   ๏กูนี้เนื้อลาว
 แต่ยังพยาว   บมีผู้ปาน
 เขาขึ้นชื่อกู   ชื่อเสียงไกรหาญ
 ปานปล้นเมืองมาร   ขุนมารหักหัน

ปัจจุบันเขียนว่า พะเยา

พระอุโบสถวัดศรีโคมคำ อำเภอเมือง จังหวัด พะเยา
พระอุโบสถวัดศรีโคมคำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา (ภาพจากหนังสือ ประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม เมืองพะเยา)

ยังไม่พบหลักฐานว่าชื่อ พยาว สมัยเริ่มแรกเป็นภาษาอะไร? และมีความหมายอย่างไร? แต่สมัยหลัง ๆ มีคำอธิบายอยู่ในเอกสารว่าชื่อเมือง พะเยา หรือ พยาว มาจากชื่อเทือกเขาภูยาว หรือ ภูกามยาว 

ภูยาว หรือ ภูกามยาว บางทีเรียกว่า ดอยชม ภู-ดอยด้วน เป็นทิวเขาที่ทอดยาวจากทิศเหนือลงไปทิศใต้ เริ่มจากบริเวณที่ราบเขตอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย อันเป็นเขตติดต่ออำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา หัวดอยที่อำเภอพานมีลักษณะตั้งชันคล้ายถูกตัดให้ด้วน ซึ่งแตกต่างจากดอยลูกอื่น ๆ ในละแวกเดียวกัน ชาวบ้านจึงเรียก ดอยด้วน แต่เอกสารประเภทตำนานและพงศาวดารเรียก ภูยาว หรือ ภูกามยาว

ทิวเขาดอยด้วนหรือภูกามยาวจะทอดยาวลงไปทางทิศใต้ แล้วค่อย ๆ ลาดต่ำลงเรื่อย ๆ จนถึงบริเวณที่ตั้งจังหวัดพะเยา อันเป็นที่ราบริมแม่น้ำอิง หรือแม่น้ำสายตาจึงสิ้นสุดทิวเขา

เหตุที่เรียกชื่อจอมเขาว่าภูตามประเพณีล้านช้างเนื่องจากยุคแรก ๆ ราวก่อน พ.ศ. 1700 เป็นชาติพันธุ์เดียวกับชาวล้านช้างหรือนับถือวัฒนธรรมล้านช้างแต่หลังจากถูกผนวกเป็นล้านนาราวหลังพ.ศ. 2000 เลยหันมาเรียกจอมเขาว่าดอย ตามประเพณีล้านนา

ชม “พะเยามาจากไหน?” รายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน“เมืองพะเยา ต้นทางรัฐล้านนา ต้นเรื่องพระเพื่อนพระแพง[ในพระลอ]” ออนแอร์เมื่อวันอังคารที่ 24 กันยายน 2562

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“กว่าจะเป็นจังหวัดพะเยา”. จากหนังสือ จังหวัดพะเยามาจากไหน?. โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. สำนักพิมพ์มติชน. 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กันยายน 2561