“ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร…” การสื่อความและเจตนารมณ์ใน “โคลงโลกนิติ”

บัว ก้านบัว
(ภาพจาก pixabay.com)

“ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร…” การสื่อความและเจตนารมณ์ใน “โคลงโลกนิติ”

“ก้านบัวบอกลึกตื้น   ชลธาร

มารยาทส่อสันดาน   ชาติเชื้อ

โฉดฉลาดเพราะคำขาน   ควรทราบ

หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ   บอกร้ายแสลงดิน”

ถอดความหมายบทประพันธ์นี้ได้ว่า กิริยามารยาทบอกได้ถึงชาติตระกูลและอุปนิสัยของบุคคล เช่นเดียวกับความสั้น-ยาวของก้านบัวย่อมบอกระดับความลึกของหนองบึงนั้น คำพูดสามารถแสดงระดับสติปัญญาของบุคคลได้ เปรียบเหมือนหญ้าที่เหี่ยวแห้งย่อมบอกถึงคุณภาพหรือความอุดมสมบูรณ์ของดินบริเวณนั้น กล่าวโดยสรุปว่า การแสดงออกทางพฤติกรรมและคำพูดสามารถบอกตัวตนของบุคคลนั้นได้

บทประพันธ์ดังกล่าวอยู่ใน “โคลงโลกนิติ” (อ่านว่า โคลง-โลก-กะ-นิด) ประพันธ์โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ระหว่าง พ.ศ. 2374-2378 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) สืบเนื่องจากมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม และมีพระราชประสงค์ให้รวบรวมสรรพวิชาความรู้ของไทยมาจารึกบนแผ่นศิลาประดับไว้ในวัดพระเชตุพลฯ

รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนเดชอดิศร รวบรวมและชำระโคลงโลกนิติสำนวนเก่าแล้วนำมาจารึกบนแผ่นศิลา เพื่อเป็นโอวาทสอนใจประชาชน ดังปรากฏในโคลงบทแรกว่า

“อัญขยมบรมเรศน์เรื้อง   รามวงศ์

พระผ่านแผ่นไผททรง   สืบไท้

แสวงยิ่งสิ่งสดับองค์   โอวาท

หวังประชาชนให้   อ่านแจ้งคำโคลง”

โคลงโลกนิติสำนวนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร เมื่อรวมสำนวนเดิมที่นำมาปรับปรุง และส่วนที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ รวมเป็นทั้งสิ้น 593 บท สำหรับสำนวนเดิมนั้น สันนิษฐานว่ามีการแต่งขึ้นก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องจากเนื้อความในบท 2 ที่ว่า

“ครรโลงโลกนิตินี้   นมนาน

มีแต่โบราณกาล   เก่าพร้อง

เป็นสุภษิตสาร   สอนจิต

กลดั่งสร้อยสอดคล้อง   เวี่ยไว้ในกรรณ”

โคลงโลกนิติใช้ฉันทลักษณ์หรือรูปแบบการประพันธ์แบบ “โคลง” โดยคำว่า “โลกนิติ” หมายถึง “ระเบียบแบบแผนของโลก” เนื้อหาของโคลงโลกนิติมุ่งเน้นการกล่าวถึงสัจธรรมหรือความเป็นจริงของโลก ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวง หรือความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ และสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตหรือการประพฤติตน เช่น การพูด การคบคน การใฝ่หาความรู้ ฯลฯ

ดังโคลงบท “ก้านบัวบอกลึกตื้น   ชลธาร…” ที่กล่าวถึงแต่แรกนั้น คือการเสนอความจริงเกี่ยวกับมนุษย์ว่า อากัปกิริยาที่แสดงออกทั้งหลายเป็นเครื่องสะท้อนชาติกำเนิด การเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน อุปนิสัย และสติปัญญาของแต่ละบุคคล สิ่งเหล่านี้เป็น “นามธรรม” แต่ผู้ประพันธ์หยิบยก “รูปธรรม” จากธรรมชาติ คือ บึงน้ำ – บัว และ ผืนดิน – หญ้า มาเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้อย่างแยบคาย

การเปรียบเทียบดังกล่าวนอกจากจะสอนเรื่องการมองโลกหรือมองคนแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเตือนบุคคลให้ระมัดระวังการแสดงออกของตนทั้งคำพูดและการกระทำ อันก่อประโยชน์ในเรื่องการได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่นและการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุขด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ราชบัณฑิตยสถาน. (2557). กวีวัจน์วรรณนา วรรคทองในวรรณคดีไทยพร้อมประวัติและคำอธิบาย. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายน 2565