ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
โคลงโลกนิติ เป็นวรรณกรรมคำสอน ประพันธ์โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีเนื้อหากล่าวถึงสัจธรรมของโลก รวมทั้งสอนเรื่องการดำเนินชีวิต การประพฤติปฏิบัติตนที่เหมาะที่ควร ปรากฏเป็นจารึกอยู่ที่วัดโพธิ์ ตามที่รัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาไว้ที่นั่น โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมที่มีความงดงามทางภาษาอย่างยิ่งผลงานหนึ่ง
เมื่อว่าด้วยการดำเนินชีวิต โคลงโลกนิติ จึงมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่าด้วย “การนอน” ระบุจำนวนเวลาที่คนกรุงเทพฯ สมัยจารีตควรนอนไว้ว่า
“บรรทมยามหนึ่งไท้ ทรงฤทธิ์
หกทุ่มหมู่บัณฑิต ทั่วแท้
สามยามพวกพาณิช นรชาติ
นอนสี่ยามนั้นแล เที่ยงแท้เดียรฉาน”
โคลงบทนี้มีความหมายว่า กษัตริย์นอนเพียง 3 ชั่วโมง เหล่าบัณฑิตนักปราชญ์นอน 6 ชั่วโมง พวกพ่อค้าและคนธรรมดาทั่วไปนอน 9 ชั่วโมง แต่ถ้าใครนอน 12 ชั่วโมง ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน (ที่มักใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการนอน)
ถึงอย่างนั้นก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนนอนเยอะบ้าง อย่างที่ ดี. อี. มัลล็อค (D.E. Malloch) พ่อค้าชาวอังกฤษที่เดินทางมาติดต่อค้าขายกับสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งข้อสังเกตว่า ชาวสยามคุ้นเคยกับการนอนถึง 14 ชั่วโมงต่อ 1 วัน ซึ่งข้อสังเกตของเขาอาจนับรวมเอาจำนวนชั่วโมงการนอนกลางวันเข้าไปด้วย เพราะปกติแล้ว ชาวสยามนิยมนอนกลางวันเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ แทนการออกไปเดินเล่นอย่างชาวตะวันตก
วีระยุทธ ปีสาลี ขยายความเรื่องการนอนไว้ในหนังสือ “กรุงเทพฯ ยามราตรี” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า เมื่อพิจารณาการนอนของคนกรุงเทพฯ สมัยจารีต พบว่าระบบเวลามาตรฐานยังไม่มีบทบาทต่อการกำหนดเวลาการเข้านอนและจำนวนชั่วโมงการนอนมากนัก ที่พบเป็นเพียงการกำหนดเวลาอย่างคร่าว ๆ ด้วยหน่วยวัดเวลาในสังคมเดิมคือ “ยาม” ไม่ใช่หน่วยนาฬิกาแบบโลกสมัยใหม่
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าลักษณะการนอนของคนกรุงเทพฯ สัมพันธ์กับสภาพสังคมในขณะนั้นคือสังคมก่อนสมัยใหม่ ในยุคเกษตรกรรมที่ระบบเวลาในชีวิตประจำวันยังไม่เคร่งครัดอย่างในสังคมอุตสาหกรรม
“จนเมื่อกรุงเทพฯ กลายเป็นสังคมเมืองสมัยใหม่ที่มีระบบเศรษฐกิจแบบใหม่คือระบบทุนนิยมแล้ว เวลาการเข้านอนและจำนวนชั่วโมงการนอนของคนกรุงเทพฯ จึงมีความชัดเจนขึ้นตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป” วีระยุทธ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ค่านิยมและวิถีปฏิบัติย่อมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หากเป็นยุคนี้ การนอนที่กินเวลา 12 ชั่วโมง อาจเป็นผลมาจากการทำงานหนักและวิถีชีวิตอันรีบเร่ง ที่หากมีเวลาว่างพอจะนอนเต็มอิ่มได้ หลายคนก็มักจะเลือกนอนเอาแรงเติมพลังให้เต็มที่ก่อนสู้ชีวิตกันต่อนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- รัชกาลที่ 3 ทรงพระประชวรเมื่อเจดีย์ที่วัดโพธิ์ เกิดเอียง
- “ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร…” การสื่อความและเจตนารมณ์ใน “โคลงโลกนิติ”
- “พระตำหนักวาสุกรี” ตำหนักลับแห่งวัดโพธิ์ อายุเกือบ 200 ปี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วีระยุทธ ปีสาลี. กรุงเทพฯ ยามราตรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2566