ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระตำหนักวาสุกรี ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) พระตำหนักวาสุกรีมีความเป็นมายาวนานเกือบ 200 ปี แต่ความที่ตั้งอยู่ในเขตสงฆ์ ไม่ได้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเป็นการทั่วไป เป็นเสมือน ตำหนักลับ ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติน้อยคนนักจะรู้จัก และแทบไม่รู้ว่าวัดโพธิ์ยังมี “อันซีน” เปี่ยมคุณค่าทางประวัติศาสตร์อยู่อีกจุดหนึ่ง
พระตำหนักวาสุกรี ที่ประทับในสมเด็จพระสังฆราช
พระตำหนักวาสุกรี เป็นที่ประทับใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 7 และหนึ่งในมหากวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าวาสุกรี” เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแด่เจ้าจอมมารดาจุ้ย เมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น 5 ค่ำ จุลศักราช 1152 ตรงกับวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2333 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลที่ 1
เมื่อพระองค์เจ้าวาสุกรีทรงเจริญพระชันษาได้ 12 พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่วัดพระเชตุพน เมื่อพระชนมายุครบ 20 พรรษา ก็ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ผ่านไปราว 3-4 พรรษา สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ถึงแก่มรณภาพระหว่างพรรษา
เมื่อออกพรรษาแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นพระราชาคณะ และเป็นอธิบดีสงฆ์ครองวัดพระเชตุพน โดยทรงเป็นอธิบดีสงฆ์สืบเนื่องมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ. 2394 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2396 ซึ่งหลังจากพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้เชิญพระอัฐิสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ไปประดิษฐาน ณ พระตำหนักวาสุกรี วัดพระเชตุพน
ย้อนไปในรัชกาลที่ 1-2 พระองค์ยังไม่ได้ประทับอยู่ที่พระตำหนักวาสุกรี กระทั่งล่วงเข้าสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีพระบรมราชโองการให้พระยาศรีพิพัฒน์และพระยาเพ็ชรพิไชย เป็นแม่กองจัดการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ซึ่งเป็นวัดเก่ามีประวัติสืบไปได้ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา หลังแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา
คราวนั้นจึงมีการสร้างพระตำหนักวาสุกรีขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2375 สำหรับเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
พระตำหนักวาสุกรี มีความยาวราว 21 เมตร และกว้างราว 18 เมตร ผนังก่ออิฐฉาบปูน มีเสาราย หลังคาพระตำหนักเป็นทรงจั่ว ประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ภายในมีห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม ห้องสรง และห้องโถง ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้ ตราบจนสิ้นพระชนม์
สถานที่แต่งพระนิพนธ์ทรงคุณค่า
ขณะประทับ ณ พระตำหนักวาสุกรี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์ผลงานวรรณคดีไว้จำนวนมาก รวมทั้ง “ปฐมสมโพธิ” ซึ่งใน พ.ศ. 2387 ทรงพระนิพนธ์ชำระเพิ่มเติมฉบับภาษาบาลี เป็น 30 ปริจเฉท โดยทรงชำระแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2388
หลังจากทรงตรวจชำระพระปฐมสมโพธิฉบับภาษาบาลีเสร็จสิ้น ก็ทรงพระนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทย มี 30 ปริจเฉทเช่นกัน ซึ่งฉบับแปลภาษาไทยนี้ ได้รับการยกย่องอย่างสูงในด้านการเป็นความเรียงร้อยแก้วที่มีความไพเราะ และเลือกใช้คำได้อย่างงดงาม
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงใช้เวลาทรงพระนิพนธ์หนังสือที่ห้องทรงพระอักษร ณ พระตำหนักวาสุกรี เป็นหลัก เช่นที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ไว้ในลายพระหัตถ์ ลงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2483 ใจความตอนหนึ่งว่า
“…หอที่ตำหนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสนั้น หม่อมฉันจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่ามี ๒ หอต่อกัน คือ หอพระหอ ๑ กับหอทรงพระอักษรหอ ๑ เขาเล่าว่าเวลาค่ำพอเสร็จพระธุระอื่นแล้วสมเด็จพระปรมาฯ ท่านเสด็จเข้าหอทรงพระอักษรเสมอทุกคืน มหาดเล็กเอาหมากเสวย และน้ำร้อนน้ำเย็นไปตั้งถวายแล้วไปนอนได้ ด้วยท่านไม่ตรัสเรียกหาอะไรต่อไป
ส่วนพระองค์ท่านทรงพระนิพนธ์หนังสือ เขียนลงในกระดานชะนวนอย่างโบราณ มีกำหนดแน่เป็นนิจว่าต้องทรงเขียนเต็ม ๒ หน้ากระดานชะนวนแล้วจึงเสด็จเข้าบรรทม เฉพาะฉะนั้นวันไหนแต่งคล่องก็บรรทมหัวค่ำ วันไหนติดขัดก็บรรทมดึก…”
หลังจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์ ก็ไม่มีผู้ใดพำนักที่พระตำหนักวาสุกรีอีก ซึ่งเหตุผลอาจเป็นไปตามที่ พระเทพโสภณ อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน กล่าวไว้ว่า เพราะพระองค์มี 2 ฐานะ ฐานะหนึ่งเป็นพระสังฆราช และอีกฐานะหนึ่งเป็นเจ้า เมื่อสิ้นพระชนม์ก็ถือกันว่าเป็นตำหนักเจ้า ใครจะเข้าไปอยู่ไม่ได้ จึงต้องปิดไว้
พระตำหนักวาสุกรี นับเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่เพียงสะท้อนยุคทองของการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาของรัชกาลที่ 3 เท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่สำหรับคนรุ่นหลังที่จะศึกษาหาความรู้ได้ ดังที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นักปราชญ์ นักคิด และนักการเมืองชื่อดังผู้ล่วงลับ กล่าวถึงความน่าสนใจของพระตำหนักนี้ไว้ว่า
ฐานะแรกของตำหนักคือกุฏิพระ ฐานะที่สองคือบ้านของกวี ซึ่งสามารถรักษาไว้ได้แห่งเดียวในประเทศไทย ขณะที่กวีเอกคนอื่น ๆ อาทิ สุนทรภู่ แม้รู้บ้านช่อง แต่ก็รู้เพียงเลา ๆ เพราะตัวบ้านสูญหายไปแล้ว และฐานะที่สามคือวังเจ้า
เพราะนอกจากจะทรงอยู่ในเพศบรรพชิต ทรงเป็นกวี ก็ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ที่ประทับจึงต้องปลูกตามแบบแผนธรรมเนียมการสร้างวังเจ้านายชั้นพระเจ้าลูกเธอในสมัยโบราณ คือต้องมีตำหนักที่ประทับ และต้องมีท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกให้คนเฝ้า
“เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะสนใจในขนบธรรมเนียม ในการกวีหรือแม้แต่อย่างอื่น ตลอดจนสนใจในพระศาสนาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในทางศาสนา เราได้ครบที่ตำหนักกรมสมเด็จพระปรมาฯ นี้ เพราะฉะนั้นผมรู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่ควรจะรักษาไว้ด้วยดี แล้วก็ควรจะได้ร่วมมือกันทั่วไปในการรักษานั้น”
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์
หมายเหตุ : บทความนี้ผู้เขียนเขียนขึ้นเผยแพร่ครั้งแรกในชื่อ “‘Happy Journey with BEM’ ชวนชม ‘พระตำหนักวาสุกรี’ วัดโพธิ์ ที่ประทับ ‘มหากวี’ กรุงรัตนโกสินทร์”
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระแก้วมรกต” เคยประดิษฐานที่วัดโพธิ์ ก่อนย้ายเข้าวัดพระแก้ว?
- เมื่อ “กรมพระปรมานุชิตชิโนรส” สร้าง “วัดชิโนรสฯ” เตรียมหลบราชภัย
- “ยักษ์วัดโพธิ์” ตัวจริงอยู่ที่ไหน?
อ้างอิง :
พระปฐมสมโพธิ ๓๐ ปริจเฉท พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ฉบับปริวรรตและตรวจสอบชำระจากคัมภีร์ใบลาน จัดพิมพ์เนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมรัตนากร (สีนวล ปญฺญาวชิโร ป.ธ.๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๕ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน ๒๕๖๕
รายงานพิเศษ พระตำหนักวาสุกรี “บ้านกวี” แห่งแรกของไทย. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2533
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2566