ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อ “กรมพระปรมานุชิตชิโนรส” สร้าง “วัดชิโนรสฯ” เตรียมหลบราชภัย ส่วนภิกษุ เจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงสร้าง “วัดบรมนิวาส”
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระนามเดิม พระองค์เจ้าวาสุกรี ประสูติ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2333 / สิ้นพระชนม์ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2396) ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับเจ้าจอมมารดาจุ้ย (ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นท้าวทรงกันดาล)
เมื่อ เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) ผนวชเป็นพระภิกษุ และทรงเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ของฝ่ายธรรมยุต อยู่วัดบวรนิเวศวิหาร กรมพระปรมานุชิตชิโนรสก็ทรงเป็นเจ้าคณะกลางของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ประทับ ณ วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม
แม้จะอยู่กันต่างคณะสงฆ์ และประพฤติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดแข่งกันแล้ว หากกรมพระปรมานุชิตชิโนรส และภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ก็ไม่ได้มีเรื่องบาดหมางน้ำพระทัยกันแต่ประการใด ตรงกันข้ามกลับทรงมีความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนข้อวินิจฉัยในหลักธรรม และทรงเคารพรักกันอย่างแน่นแฟ้น
นอกจากนี้ ทั้งสองพระองค์ยังทรงสร้างวัดไว้เป็นที่ประทับสำรองเหมือนกันอีกด้วย
โดยทั่วไปกล่าวว่าทรงสร้างวัดนี้ขึ้น เพื่อเป็นที่ประทับสำราญพระอิริยาบถในที่ห่างไกล แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องประวัติบุคคลสำคัญว่า เหตุผลในเรื่องนี้เป็นความลับในหมู่พระราชวงศ์
เมื่อสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และ เจ้าฟ้ามงกุฎ ขณะยังทรงผนวชอยู่ ได้ทรงปรึกษากันว่า หากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต และราชสมบัติได้แก่เจ้านายบางพระองค์ อาจถูกเบียดเบียนให้ได้รับความเดือดร้อน จึงทรงมีพระดำริเห็นพร้อมกันว่าควรจะสร้างวัดเล็กๆ ไว้ในเรือกสวนสักแห่ง ถ้าถึงเวลาคับแค้นเมื่อใดจะเสด็จออกไปอยู่เสียที่วัดนั้นให้ห่างไกล
ด้วยเหตุนี้สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสจึงทรงสร้าง วัดชิโนรสฯ ขึ้นที่ริมคลองมอญ ส่วนภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงสร้าง วัดบรมนิวาส
ส่วนราชภัยที่ว่า หรือเจ้านายบางพระองค์ที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึง คือ กรมหลวงรักษรณเรศร (ภายหลังถูกยอดยศเป็นหม่อมไกรสร) ที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) อย่างถึงที่สุดและขนาดจะตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน
ด้วยเหตุผลเพียงสั้นๆ ว่าถ้าสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว หม่อมไกรสรคนนี้จะไม่ยอมเป็นข้าใคร ทั้งพยายามใส่ร้ายป้ายสีพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎอย่างออกหน้าออกตา อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้ทรงเชื่อคำยุยงของหม่อมไกรสร
อ่านเพิ่มเติม :
- ความเดือดร้อนในหมู่เจ้านายจาก “หม่อมไกรสร”? ร.4 ถึงกับทรงเรียก “ชาติเวรของพระองค์”
- สำเร็จโทษกรมหลวงรักษรณเรศรและประหารชีวิตบ่าว 3 คน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 สิงหาคม 2560