สำเร็จโทษกรมหลวงรักษรณเรศรและประหารชีวิตบ่าว 3 คน

รูปปั้นหม่อมไกรสร หรือกรมหลวงรักษรณเรศร ตามจินตนาการของช่างปั้นในปัจจุบันในศาลกรมหลวงรักษรณเรศร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ ณ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ หรือวัดเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, กรมศิลปากร, 2538. น. 131-132 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสำเร็จโทษ กรมหลวงรักษรณเรศร ว่า

“ครั้นมาถึงเดือน ๑ พระยาธนูจักรรามัญทำฎีกาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย กล่าวโทษกรมหลวงรักษรณเรศว่า ชำระความของตัวไม่ยุติธรรม กดเอาบุตรชายว่าเป็นผู้ร้ายย่องเลาลักเอาเงินทองสมิงพิทักษ์เทวาไป เงิน ๒๐ ชั่ง สมิงพิทักษ์เทวาเป็นโจทก์ จึ่งโปรดให้ประชุมเสนาบดีชำระใหม่ ก็ได้ความจริงว่า บุตรพระยาธนูจักรมิได้เป็นผู้ร้าย ผู้ร้ายนั้นคือบุตรเขยของสมิงพิทักษ์เทวานั่นเอง

Advertisement

ครั้นสมิงพิทักษ์เทวาโจทก์แพ้แก่พระยาธนูจักร ทรงขัดเคืองกรมหลวงรักษรณเรศรว่า ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงให้เป็นผู้ใหญ่ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยต่างพระเนตรพระกรรณ ก็ไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรมกดขี่หักหาญถ้อยความผิดๆ อย่างนี้คงมีหลายเรื่องมาแล้ว เพราะด้วยอ้ายพวกละครชักพาให้เสียคน

จึ่งให้ตระลาการค้นหาความอื่นต่อไปได้ความว่า กรมหลวงรักษรณเรศรชำระคดีของราษฎรมิได้เป็นยุติธรรม ด้วยพวกละครรับสินบนทั้งฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลย แล้วก็คงหักเอาชนะจงได้ แล้วเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง จนชั้นแต่ลอยกระทงก็ไปลอยกรุงเก่าบ้าง เมืองนครเขื่อนขันธ์บ้าง เอาธรรมเนียที่ในหลวงทรงลอย เจ้าพวกละครห่มแพรสีทับทิมใส่แหวนเพชรแทนหม่อมห้าม เกลี้ยกล่อมขุนนางและกองรามัญไว้เป็นพวกพ้องก็มาก ที่ผู้ใดไม่ฝากตัวก็พยาบาทไว้ ตั้งแต่เล่นละครเข้าแล้ว ก็ไม่ได้บรรทมข้างในด้วยหม่อมห้ามเลย บรรทมอยู่แต่ที่เก๋งข้างท้องพระโรงพวกละคร จึ่งรับสั่งให้เอาพวกละครมาแยกย้ายกันไถ่ถาม ได้ความสมกันว่าเป็นสวาทไม่ถึงชำเรา แต่เอามือเจ้าละครและมือท่านกำคุยหฐานด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไว้ให้สัมภวะธาตุเคลื่อนพร้อมกัน เป็นแต่เท่านั้น

แล้วโปรดให้ตระลาการถามกรมหลวงว่า เป็นเจ้าใหญ่นายโตเล่นการเช่นนี้สมควรอยู่แล้วหรือ กรมหลวงรักษรณเรศรให้การว่า การที่ไม่อยู่กับลูกเมียนั้นไม่กี่ยวข้องต่อการแผ่นดิน

ถามอีกข้อ ๑ ว่า เกลี้ยกล่อมเจ้านายขุนนางไว้เป็นพรรคพวกมากจะคิดกบฏหรือ กรมหลวงให้การว่า ไม่ได้คิดกบฏ [ตรงนี้สำนวนบ่งให้เห็นว่า คงจะมีคำถามอีกคำ ๑ ว่า ถ้าไม่คิดกบฏก็เกลี้ยกล่อมหาพรรคพวกไว้ทำไม จึ่งตอบว่า] คิดอยู่ว่าถ้าสิ้นแผ่นดินไปก็ไม่ยอมเป็นข้าใคร

ถามอีกข้อ ๑ ว่า ถ้าได้อย่างนั้นแล้วจะเอาผู้ใดเป็นวังหน้า ให้การว่าคิดไว้จะเอากรมขุนพิพิธโภคภูเบนทร์

ทรงพระราชดำริปรึกษาด้วยพระราชวงศานุวงศ์เสนาบดีว่า กรมหลวงรักษรณเรศรมีความผิดหลายอย่าง ทั้งบังเอาเงินเบี้ยหวัดและเงินขึ้นวัดพระพุทธบาทปี ๑ ก็หลายสิบชั่งเป็นอาณาประโยชน์ จะเลี้ยงไว้ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย พระราชวงศานุวงศ์และท่านเสนาบดีกราบทูลว่า จะไม่เอาโทษเสียจะเลี้ยงไส้ก็ไม่เป็นที่ไว้ใจ เหมือนตีอสรพิษให้หลังหักระวังยาก

ครั้นมาถึงวันศุกร์ เดือน ๑ ขึ้น ๓ ค่ำ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตระลาการนำกระทู้ซักถามกรมหลวงรักษรณเรศรว่า การที่ตัวได้ดีมียศศักดิ์ขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ยิ่งกว่าเจ้านายทุกๆ พระองค์ จึ่งได้คิดกำเริบใจขึ้น แต่ก่อนนั้นยังกำเริบน้อยๆ เดี๋ยวนี้มากขึ้น จนกระทั่งทุกวันนี้ได้ ๒๕ ปีแล้ว บัดนี้ก็ถึงปรารถนาจะเป็นเจ้าแผ่นดินให้ตัวระลึกถึงความหลังดู แต่ก่อนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกรมหมื่นสุรินทรรักษ์กับตัวได้ทำราชการมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จนถูกหนังสือทิ้งด้วยกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสำคัญพระทัยว่าได้เป็นเพื่อนยากกันมา ฝ่ายกรมหมื่นสุรินทรรักษ์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ยังแต่ตัว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึ่งไว้วางพระทัยให้ช่วยราชการแผ่นดินต่อมา และตัวประพฤติการคดๆ โกงๆ เอาสินบนในการชำระถ้อยความแล้วตั้งขุนนาง ก็ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่บ้าง ก็ได้ทรงเตือนสติเป็นหลายครั้งหลายคราว ว่าอย่าทำให้ราษฎรเขาติฉินนินทาหมิ่นประมาทได้ อย่าให้ชื่อชั่วอยู่ในแผ่นดินเหมือนตัวประพฤติการไม่อยู่กับเมียดังนี้ ก็มีผู้มาพูดว่าทั้งผู้ชายผู้หญิง ข้างผู้ชายนั้นก็มีกรมขุนรามอิศเรศร เป็นต้น จนกระทั่งมหาดเล็กเด็กชา ฝ่ายผู้หญิงเมียของตัวที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดก็มาเล่าให้เขาฟังออกเซ็งแซ่ไป ว่าตัวไม่อินังขังข้อกับลูกเมีย มาหลงรักอ้ายคนโขนคนละคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบ จึ่งทรงพระราชดำริว่าจะชอบใจอย่างเจ้าปักกิ่ง (เตากวาง) รักงิ้ว จะซ่องเสพผู้ชายบ้าง ผู้หญิงบ้างกระมัง ครั้นจะห้ามปรามว่ากล่าวให้รู้สึกตัวเสียว่า ทำดังนี้ไม่งามไม่ดี ความก็จะอื้ออึงไป เหมือนจะแกล้งประจานให้ญาติได้ความอัปยศ

แล้วทรงพระราชดำริว่า แต่ก่อนกรมหลวงเทพพลภักดิ์ก็ประพฤติการไม่อยู่กับลูกเมียเหมือนกันเช่นนี้ สมเด็จพระบรมวงศาธิราชซึ่งเป็นผู้ใหญ่ก็ทรงทราบทุกๆ พระองค์ ก็หาได้ว่ากล่าวกรมหลวงเทพพลภักดิ์ประการใดไม่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึ่งมิได้เอาพระทัยเป็นพระราชธุระ ด้วยสำคัญพระทัยว่าเขาประพฤติให้เหมือนพี่ชาย เป็นพืชพันธุ์ลูกอียายเดนเลือก เป็นคนอุบาทว์บ้านเมืองแล้วมิหน่ำซ้ำกระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนไปทุกเส้นหญ้าใบไม้ ด้วยความโลภ เจตนา ให้ขายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระเดชพระคุณเป็นล้นพ้นของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง ทั้งฝ่ายหน้าข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย สมณชีพราหมณ์ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ด้วยความชั่วของตัวมันฟุ้งเฟื่องเลื่องฦาไปทั่วนานาประเทศทั้งปวงหาควรไม่เลย ต่างคนต่างมีใจโกรธแค้นยิ่งนัก

แล้วยังมาคิดมักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง อย่าว่าแต่คนเขาจะยอมให้เป็นเลย แต่สัตว์เดียรัจฉานมันก็ไม่ยอมให้ตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน

จึ่งโปรดถอดออกเสียจากที่กรมหลวง ให้เรียกว่าหม่อมไกรสร ลงพระราชอาญา แล้วให้ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา เมื่อ ณ วันพุธเดือน ๑ แรม ๓ ค่ำ อายุได้ ๕๘ ปี แต่บ่าว ๓ คน ขุนวุฒามาตย์ ขุนศาลคน ๑ เป็น ๔ คนด้วยกัน ไปประหารชีวิตเสียที่สำเพร่ในวันเดียวกัน

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ความเดือดร้อนในหมู่เจ้านายจาก “หม่อมไกรสร”? ร.4 ถึงกับทรงเรียก “ชาติเวรของพระองค์”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 31 มีนาคม พ.ศ.2560