คดีและความเดือดร้อนในหมู่เจ้านายจาก “หม่อมไกรสร”? รัชกาลที่ 4 ทรงเรียก “ชาติเวรของพระองค์”

รูปปั้น หม่อมไกรสร กรมหลวงรักษรณเรศ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
รูปปั้น หม่อมไกรสร หรือกรมหลวงรักษรณเรศร ตามจินตนาการของช่างปั้นในปัจจุบันในศาลกรมหลวงรักษรณเรศร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2534 ณ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ หรือวัดเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

คดีและความเดือดร้อนในหมู่เจ้านายจาก “หม่อมไกรสร”? รัชกาลที่ 4 ทรงเรียก “ชาติเวรของพระองค์” และยังทรงถวายพระนามพระพุทธรูปองค์หนึ่งว่า พระไพรีพินาศ อันหมายถึงการสิ้นเสี้ยนศัตรู

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษรณเรศ หรือ หม่อมไกรสร เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่มีฐานะและบทบาทสำคัญมาตลอดทั้ง 2 แผ่นดิน ในสมัยรัชกาลที่ 2 อันเป็นเวลาที่เจ้านายเริ่มเข้ามามีบทบาทกำกับราชการแผ่นดินเหนือขุนนาง หม่อมไกรสรเป็นหนึ่งในบรรดาเจ้านายไม่กี่พระองค์ที่ได้รับสถาปนาให้ทรงกรม ได้กำกับกรมสังฆการี และในช่วงตลอดรัชกาลนั้นก็เป็นผู้หนึ่งที่ยืนอยู่ข้างฝ่าย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งต่อมาจะได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 และในรัชกาลนี้เองหม่อมไกรสรก็ได้กำกับราชการกรมวัง กระทั่งได้เลื่อนยศขึ้นไปเป็นที่กรมหลวงใน พ.ศ. 2375

Advertisement

แต่แล้วใน พ.ศ. 2391 ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เกิดเหตุการณ์สะท้านสะเทือนแผ่นดิน เมื่อรัชกาลที่ 3 โปรดให้ถอด กรมหลวงรักษรณเรศ ออกเสียจากที่กรมหลวง ให้เรียกแต่เพียงว่า “หม่อมไกรสร” แล้วให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา การสำเร็จโทษครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ดังที่บรรยายพระประวัติข้างต้นแล้วว่า อย่างน้อยหม่อมไกรสรเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 แล้วไฉนจึงโดนสำเร็จโทษเช่นนั้น

หม่อมไกรสร กับข้อถูกกล่าวหา

เล็ก พงษ์สมัครไทย อธิบายไว้ในบทความ “หม่อม” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2549 ว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาฟ้อง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษรณเรศ พระปิตุลา ผู้เป็นกําลังสําคัญให้พระองค์ได้ครองราชย์และเป็นเจ้านายที่ประทุษร้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงพระผนวชอยู่เป็นประจํา

คําฟ้องมีว่า กรมหลวงรักษรณเรศทรงพิพากษาคดีของราษฎรไม่ยุติธรรม ไม่สมกับที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย กรมหลวงรักษรณเรศทรงเลี้ยงโขนละครผู้ชายไว้มากมาย บริวารของพระองค์ท่านรับสินบนทั้งของโจทก์และจําเลย ทรงเกลี้ยกล่อมขุนนางและพวกพ้องไว้มาก ทรงมักใหญ่ใฝ่สูงทําเทียมพระเจ้าแผ่นดินหลายประการ

ตั้งแต่ทรงมีคณะโขนละครผู้ชายขึ้นในวังแล้ว ก็บรรทมอยู่กับพวกโขนละคร ไม่บรรทมกับหม่อมห้ามในวังเลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ไต่สวนพวกโขนละครของกรมหลวงรักษรณเรศ ได้ความตรงกันว่า ทรงเป็นสวาทกับพวกละคร ไม่ถึงกับชําเรา แต่เอามือพวกโขนละครและหัตถ์ของพระองค์ ท่านกําคุยหฐานซึ่งกันและกันจนภาวะธาตุเคลื่อน

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, กรมศิลปากร, 2538. น. 131-132 บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับการสำเร็จโทษกรมหลวงรักษรณเรศเอาไว้ด้วย

ตุลาการชําระความประจักษ์แล้ว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ถอดเสียจากพระยศให้เรียกว่า “หม่อมไกรสร” และภายหลังโปรดเกล้าฯ ให้สําเร็จโทษทุบด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคาเสียเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2391

สาเหตุที่ทรงขัดเคืองหม่อมไกรสรจนถึงให้สำเร็จโทษนั้น สุพจน์ แจ้งเร็ว ผู้เขียนบทความ “รัชกาลที่ 3 กับกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ และเรื่อง ‘มิดเม้น’ ของเจ้านาย” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2550 บรรยายเพิ่มไว้ว่า “มิได้อยู่เพียงที่หม่อมไกรสรฉ้อฉลเงินแผ่นดิน หรือชอบ ‘เป็นสวาท’ กับผู้ชายชาวคณะละครของตน, มิได้อยู่เพียงที่หม่อมไกรสร เป็นพืชพันธุ์ลูกอียายเดนเลือก หรือ เป็นคนอุบาทว์บ้านเมือง แล้วมิหนำซ้ำกระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนไปทุกเส้นหญ่าใบไม้ด้วยความโลภเจตนา, อย่างที่ทรงบริภาษเท่านั้น, หากข้อใหญ่ใจความนั้นอยู่ที่ความมักใหญ่ใฝ่สูงของหม่อมไกรสรที่หมายจะขึ้นครองแผ่นดินเสียเองเมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์แล้ว.”

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี มีเนื้อความพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ใจความว่า :

“…การที่ตัวได้ดีมียศศักดิ์ขึ้นกว่าแต่ก่อนก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ยิ่งกว่าเจ้านายทุกๆ พระองค์ จึ่งได้คิดกำเริบใจขึ้น แต่ก่อนนั้นยังกำเริบน้อยๆ เดี๋ยวนี้มากขึ้นๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ได้ 25 ปีแล้ว บัดนี้ก็ถึงปรารถนาจะเป็นเจ้าแผ่นดิน ให้ตัวรำลึกถึงความหลังดู แต่ก่อนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกรมหมื่นสุรินทรรักษ์กับตัวได้ทำราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ จนถูกทิ้งหนังสือด้วยกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสำคัญพระทัยว่าได้เป็นเพื่อนยากกันมา ฝ่ายกรมหมื่นสุรินทรรักษ์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ยังแต่ตัว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึ่งไว้วางพระทัยให้ช่วยราชการแผ่นดินต่อมา…

ความชั่วของตัวมันฟุ้งเฟื่องเลื่องฦๅไปทั่วนานาประเทศทั้งปวง หาควรไม่เลย ต่างคนต่างมีใจโกรธแค้นยิ่งนัก แล้วยังมาคิดมักใหญ่ใฝ่สูง จะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง อย่าว่าแต่คนเขาจะยอมให้เป็นเลย แต่สัตว์เดียรัจฉานมันก็ไม่ยอมให้ตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน…”

รัชกาลที่ 4 ทรงเรียก “ชาติเวรของพระองค์” 

พฤติกรรมของหม่อมไกรสรในหมู่เจ้านาย ไม่ใช่แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เท่านั้นที่ทรงเดือดร้อนรำคาญพระราชหฤทัย เจ้านายอีกพระองค์หนึ่งที่ต้องทรงเดือดร้อนสาหัสกว่าทั้งกายและใจ เพราะต้องพบกับการจองล้างจองผลาญของหม่อมไกรสรมาตลอดแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งขณะนั้นยังทรงเป็น ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ

สุพจน์ แจ้งเร็ว ยกตัวอย่างว่า ในประกาศฉบับหนึ่งซึ่งออกเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ถึงกับทรงเรียกหม่อมไกรสรว่าเป็น “ชาติเวรของพระองค์”

ด้วยเพราะทรงถือว่าเป็น ชาติเวรของพระองค์ ขณะที่ยังทรงเป็นภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ เมื่อทรงได้พระพุทธรูปศิลามาองค์หนึ่งในช่วงเวลาไล่ๆ กับที่หม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษ จึงถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นั้นว่า พระไพรีพินาศ อันหมายถึงการสิ้นเสี้ยนศัตรูในคราวแรก และมิใช่แต่ พระไพรีพินาศ เท่านั้น เวลาต่อมาก็ยังทรงตั้งนามเจดีย์ศิลาเล็กๆ องค์หนึ่งว่า พระไพรีพินาศเจดีย์ อีกด้วย

พระไพรีพินาศเจดีย์ ซึ่งบรรจุอยู่ในช่องคูหาของพระเจดีย์องค์ใหญ่ ก่อนหน้านี้ไม่มีผู้ใดทราบว่ามีนามเรียกหาว่าอย่างไร ในปี 2462 เมื่อ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเรียบเรียง ตำนานวัดบวรนิเวศ ทรงกล่าวถึงพระเจดีย์องค์นี้แต่เพียงว่า ที่ช่องคูหาแห่งหนึ่งประดิษฐานพระเจดีย์ศิลาองค์ย่อม บรรจุแผ่นศิลาจารึกพระพุทธวจนะ เป็นอุทเทสิกเจดีย์

“พระไพรีพินาศเจดีย์” พระเจดีย์ศิลาองค์ด้านหน้า ปัจจุบันประดิษฐานภายในคูหาพระเจดีย์องค์ใหญ่วัดบวรนิเวศวิหาร (ภาพจากเพจ เล่าเรื่อง..วัดบวรฯ)

กระทั่งปี 2507 เมื่อทางวัดบวรนิเวศจะบูรณะพระเจดีย์ใหญ่ จึงนำพระเจดีย์ศิลาองค์นี้ออกมาจากช่องคูหาด้วยการถอดเป็นชิ้นๆ แล้วนั่นแหละ จึงได้พบว่าในพระเจดีย์มีกระดาษแผ่นหนึ่งประทับตราสีแดง, มีข้อความหน้าหนึ่งว่า, พระสถูปเจดีย์บัลลังก์องค์ “จงมีนามว่าพระไพรีพินาศเจดีย์เทิญ” และอีกหน้าหนึ่งมีว่า “เพราะตั้งแต่ทำแล้วมา คนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ”

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ตลอดเวลากว่าศตวรรษ นับตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา จนถึงปีที่มีการรื้อซ่อมพระเจดีย์ใหญ่ เว้นเสียแต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เองแล้ว ไม่มีผู้ใดทราบถึงความหมายของพระเจดีย์เล็กๆ องค์นี้เลย สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรยายเพิ่มเติมว่า “บางทีดูเหมือนจะไม่มีผู้ใดทราบด้วยซ้ำว่า องค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเองที่ทรงสร้างพระเจดีย์ที่บรรจุข้อความอันมิได้เป็นพระพุทธวจนะองค์นี้ขึ้นมา”

ข้อความที่ว่า “คนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ” มีความหมายคือ นับตั้งแต่ที่ทรงสร้างพระเจดีย์ศิลาองค์นี้มา บรรดาไพรีต่างๆ ที่เคยรวมกันก็แตกแยกยับเยิน นับแต่เรื่องหม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษเป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญกว่านั้นก็คือนัยที่แฝงอยู่ในข้อความดังกล่าว สุพจน์ แจ้งเร็ว อธิบายว่า นั่นก็คือ พระองค์ทรงเห็นว่า ไพรีของพระองค์หาได้มีแต่หม่อมไกรสรเพียงผู้เดียวเท่านั้น หากเป็นกลุ่มเป็นคณะที่ร่วมมือกันกีดกั้นมิให้พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต

ในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ที่ทรงมีถึงกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส พระราชโอรส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงกล่าวถึงบรรดาเจ้านายฝ่ายกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระองค์ในครั้งนั้นว่า

“แต่ก่อนผู้ที่จะคิดกันขัดขวางทางที่เจ้าแผ่นดินปัจจุบันนี้จะมาเปนเจ้าแผ่นดินนั้นมีตัวฤๅหาไม่ ตัวเธอก็มิใช่เด็ก เปนผู้ใหญ่แล้ว เคยถูกเขาข่มเหงงอมมามิใช่ฤๅ ก็พวกที่กีดขวางนั้นมีเท่าไร เขากลมเกลียวเปนอันเดียวกัน ก็เมื่อเขานั่งซังเปนโตเปนใหญ่อยู่นั้น ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งอุปถัมภ์แผ่นดินปัจจุบันก็ทำไมเขาไม่ได้ไม่ใช่ฤๅ ก็เปนเหตุอะไรเล่า เมื่อยามจะถึงคราวแผ่นดินปัจจุบันนี้จะได้ตั้ง ก็พะเอิญให้พวกที่กีดขวางฆ่าฟันกันขึ้นเอง แล้วคิดอะไรไปก็ไม่สำเร็จ… “

เพราะเช่นนั้นเอง เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2396 เมื่อทรงเห็นว่าหมดสิ้นเสี้ยนไพรีทั้งปวงอย่างแน่แท้แล้ว ก็ได้ทรงจัดให้มีงานบำเพ็ญพระราชกุศล ผ่องพ้นไพรี ขึ้นคราวหนึ่ง, ดังคำประกาศสังเวยเทวดาที่ว่า, …เวรีไภยนั้นๆ ซึ่งปรากฏมาแต่ก่อน ก็สงบรำงับเสื่อมหายไปเองโดยธรรมดา ไม่ต้องประกอบพระราชอุบายอันหนึ่งอันใดเลย จนถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มาเสด็จดำรงศิริราชสมบัติโดยยุติธรรม ปรากฏชัดเจนอยู่.

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษรณเรศ
รูปปั้นหม่อมไกรสร หรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษรณเรศ ตามจินตนาการของช่างปั้นในปัจจุบันในศาลกรมหลวงรักษรณเรศร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ ณ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ หรือวัดเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

สุพจน์ แจ้งเร็ว ผู้เขียนบทความยังลงท้ายต่อว่า

“ไพรีของพระองค์จะมีสักเท่าใด เราไม่ทราบ, พระไพรีพินาศกับไพรีพินาศเจดีย์ที่ทรงสร้างจะศักดิ์สิทธิ์สักเท่าใดก็เป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จะพิสูจน์ แต่ความจริงประการหนึ่งที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การที่ทรงได้ราชบัลลังก์กลับคืนมาก็คือ การสำเร็จโทษหม่อมไกรสรเป็นสาเหตุให้สองขุนนางพี่น้องแห่งตระกูลบุนนาคแปรพักตร์จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ตนเคยเป็นกำลังสนับสนุนสำคัญมาแต่ก่อน หันไปหนุนภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎหรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทันที

ที่จริงเรื่องราวระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับหม่อมไกรสรยังมีอีกไม่น้อย. เรื่องหม่อมไกรสรเล่นงานพระฝ่ายธรรมยุติกนิกายอยู่เนืองๆ ก็ดี, เรื่องเจ้าฟ้าอาภรณ์ที่สุนทรภู่โอ่อวดว่าเป็นศิษย์ ไปฝากตัวเป็นหลานสนิทของหม่อมไกรสรแล้วหันมาเป็นศัตรูกับพระองค์ก็ดี, เรื่องผีเข้าเจ้าฟ้าอาภรณ์, ประกาศว่าราชบัลลังก์ต้องเป็นของหม่อมไกรสร จนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงสั่งให้จำขังเจ้าฟ้าอาภรณ์ไว้จนสิ้นพระชนม์ก็ดี, เรื่องพระองค์ทรงสร้างวัดบวรมงคลและกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงสร้างวัดชิโนรสสำหรับไว้เป็นที่หลบภัยที่อาจเกิดขึ้นก็ดี-ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องที่แวดเวียนอยู่กับเรื่องอำนาจและบารมีของหม่อมไกรสรทั้งสิ้น.”

กรณี “หม่อมไกรสร” ยังมีเรื่องราวอีกหลายแง่มุมให้นำเสนอดังที่ข้อความข้างต้นยกตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆ นานา โอกาสหน้าจะมานำเสนอกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

บทความ “รัชกาลที่ 3 กับกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ และเรื่อง มิดเม้น ของเจ้านาย” เขียนโดย สุพจน์ แจ้งเร็ว ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2563