“ยักษ์วัดโพธิ์” ตัวจริงอยู่ที่ไหน?

ตำนานยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดโพธิ์ วัดโพธิ์
พญาขร (ขวา) กับ สัทธาสูร (ซ้าย) อยู่ประตูทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหอไตรจตุรมุข

ตำนานยักษ์วัดโพธิ์ ตัวจริงอยู่ที่ไหน?

ยักษ์วัดโพธิ์ ในตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ ยักษ์วัดแจ้ง ซึ่งฝ่ายหลังคือทศกัณฐ์และสหัสเดชะ ที่ยืนประจำการอยู่ที่ซุ้มประตูยอดมงกุฎหน้าพระอุโบสถ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) แต่ยักษ์วัดโพธิ์ตัวจริงอยู่ที่ไหน ใช่ “ลั่นถัน” ตุ๊กตาจีนตัวใหญ่ที่อยู่ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) หรือไม่?

พระอุโบสถวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพจาก ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน, 2544)

วัดโพธิ์ จุดกำเนิดของตำนานยักษ์วัดโพธิ์ เป็นวัดสำคัญบนเกาะรัตนโกสินทร์ มีอายุตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ระหว่าง พ.ศ. 2231-2246 เป็นวัดที่ราษฎรสร้างขึ้นโดยไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง เดิมชื่อวัดโพธาราม ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่าวัดโพธิ์

Advertisement

ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ 2 ครั้ง ครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใช้เวลา 7 ปี 5 เดือน 28 วัน และอีกครั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวนี้ใช้เวลายาวนาน 16 ปี 7 เดือน

นอกจากวิหารพระนอน พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล วัดโพธิ์ยังมีตำรับตำราการแพทย์ วรรณคดี องค์ความรู้ต่าง ๆ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ รวมทั้งมียักษ์วัดโพธิ์ ที่หลายคนอาจสงสัยว่าอยู่ตรงไหน?

ตามตำนานยักษ์วัดโพธิ์เป็นเพื่อนกับยักษ์วัดแจ้ง วันหนึ่งยักษ์วัดโพธิ์ข้ามฝั่งไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้ง แต่เมื่อยืมแล้วกลับไม่คืนเสียที ยักษ์วัดแจ้งจึงโมโห ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันจนต้นไม้ล้มระเนระนาด พื้นที่ตรงนั้นเสียหายราบเป็นหน้ากลอง เป็นที่มาของชื่อ “ท่าเตียน”

เมื่อพระอิศวรทรงทราบเหตุวิวาทที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย จึงลงโทษยักษ์ทั้งสองฝ่ายให้กลายเป็นหิน ยักษ์วัดโพธิ์เฝ้าพระอุโบสถ ส่วนยักษ์วัดแจ้งเฝ้าพระวิหาร นับแต่นั้นยักษ์ทั้งสองฝั่งก็ไม่ทะเลาะกันอีกเลย

ส่วนยักษ์วัดโพธิ์ที่ไม่ใช่ตำนาน เมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัด พระองค์ทรงให้ช่างหล่อรูปยักษ์ ความสูงประมาณ 175 เซนติเมตร จำนวน 8 ตน มีหลักฐานปรากฏในสำเนาจารึกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์สมัยรัชกาลที่ 3 ว่า “แลกำแพงนั้นประกอบด้วยสิลาเขียวแผ่นใหญ่มีประตูซุ้มสามยอดไว้รูปอสูรหล่อด้วยสังกะสีผสมดีบุกสูงสามศอกคืบยืนกุมตระบองอยู่ในช่องซุ้มสองข้างประตูละสองรูปเหมือนกันทั้งสี่ประตูสี่ด้านเป็นรูปอสูรแปดรูป”

ยักษืวัดโพธิ์
มัยราพณ์ (ซ้าย) กับ แสงอาทิตย์ (ขวา) อยู่ประตูทิศตะวันตกเฉียงใต้

ยักษ์วัดโพธิ์ทั้ง 8 ตน อยู่ที่ซุ้มประตูทางเข้าหอไตรจตุรมุข (พระมณฑป) 4 ด้าน ด้านละ 1 คู่ ได้แก่

ทศกัณฐ์กับสหัสเดชะ อยู่ประตูทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

อินทรชิตกับสุริยภพ อยู่ประตูทิศตะวันออกเฉียงใต้

พญาขรกับสัทธาสูร อยู่ประตูทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

มัยราพณ์กับแสงอาทิตย์ อยู่ประตูทิศตะวันตกเฉียงใต้

เมื่อทำระเบียงพระมหาเจดีย์ในรัชกาลที่ 4 มีการรื้อซุ้มประตูออก 2 ด้าน คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันจึงหลงเหลือ “ยักษ์วัดโพธิ์” ให้ดู 2 คู่ คือ พญาขร (ผิวกายสีเขียว) กับ สัทธาสูร (ผิวกายสีหงเสน คือสีแดงเสนผสมสีขาว) และ มัยราพณ์ (ผิวกายสีม่วงอ่อน) กับ แสงอาทิตย์ (ผิวกายสีแดงชาด)

ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ (กมล โกวิโท ป.ธ. 6). ย่อประวัติวัดพระเชตุพน พระพุทธรูปสำคัญ. มูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์. พิมพ์ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2556.

“พญาขร” เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 จาก https://www.watpho.com/th/architecture/detail/649


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2566