ดูสาเหตุจิ๋นซีฮ่องเต้ไม่มีฮองเฮา ที่ว่าสนมเยอะนั้นมีกี่คน ไขปริศนาที่หายจากบันทึก

จิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิจีน จีน
พระสาทิสลักษณ์จิ๋นซีฮ่องเต้ (ภาพจาก ความลับของจิ๋นซี, 2555)

ในบรรดา “จักรพรรดิจีน” ที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ย่อมต้องเป็น จิ๋นซีฮ่องเต้ ปฐมจักรพรรดิตลอดกาล หลักฐานที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นโบราณวัตถุจาก “สุสานจิ๋นซี” หรือกำแพงเมืองจีนในยุคราชวงศ์ฉิน ต่างแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่อีกด้านของกำลังแรงงานเป็นอย่างดี

ข้อมูลเกี่ยวกับจิ๋นซีฮ่องเต้ ยังมีปริศนารายล้อมอีกหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องฮองเฮาอย่างเป็นทางการ

Advertisement

ปริศนาประการแรกเกี่ยวกับ จักรพรรดิจีน ผู้ยิ่งใหญ่ เริ่มตั้งต้นกันตั้งแต่คำถามเรื่องพระบิดาของพระองค์ ที่ถกเถียงกันว่าเป็นแท้จริงแล้วเป็น จื่ออี้ (อี้เหริน) ชาวแคว้นฉินซึ่งถูกจับมาเป็นตัวประกันที่แคว้นจ้าว หรือเป็น หลี่ว์ปู้เหวย ชาวหยางไจ๋ (ปัจจุบันคืออำเภออวี่ในมณฑลเหอหนาน) พ่อค้าใหญ่ที่ร่ำรวย ซึ่งทำการค้าในเมืองหานตัน เมืองเดียวกับที่ อิ๋งเจิ้ง หรือ หยิงเจิ้ง ถือกำเนิด (พระนามเดิมของจิ๋นซีฮ่องเต้คืออิ๋งเจิ้ง หรือหยิงเจิ้ง หรือบางตำราเรียกฉินสื่อหวง จากที่จักรพรรดิในสำเนียงจีนกลางออกเสียงว่า “หวงตี้”)

คำว่า อิ๋ง (หยิง) หมายถึง “ชัยชนะ” เจิ้ง มีความหมายถึงการเมืองการปกครอง ข้อถกเถียงเริ่มตั้งแต่ว่าแท้จริงแล้ว พระองค์เป็นบุตรนอกสมรสของหลี่ว์ปู้เหวย พ่อค้าที่ยิ่งใหญ่ซึ่งรู้จักกับจื่ออี้ ตัวประกันชาวแคว้นฉิน นักประวัติศาสตร์ถกเถียงคำถามนี้กันมายาวนาน แต่หากจะสืบสาวต้นตอของความคลุมเครือนี้ นักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่ามาจาก “บันทึกประวัติศาสตร์” โดย ซือหม่าเซียน นักบันทึกประวัติศาสตร์และนักประพันธ์ในราชวงศ์ฮั่น ซึ่งบันทึกส่วนประวัติของหลี่ว์ปู้เหวย ขัดแย้งกับบันทึกพระประวัติจิ๋นซีฮ่องเต้

ในที่นี้ยังไม่ขอกล่าวถึงประเด็นชาติกำเนิด แต่ที่เอ่ยถึงข้อถกเถียงข้างต้นเพื่อเกริ่นให้เห็นภาพปริศนาเกี่ยวกับพระประวัติ จิ๋นซีฮ่องเต้ ที่มีรายล้อมหลายอย่าง ไม่เพียงแค่เรื่องพระบิดาเท่านั้น ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องความเป็นไปของพระอนุชา และอื่นๆ อีกมาก ในที่นี้จะหยิบยกประเด็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างฮองเฮาและพระสนมกำนัลของจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่

โดยทั่วไปแล้ว การจารึกบันทึกเกี่ยวกับฮ่องเต้ที่ยิ่งใหญ่ในช่วงเวลาต่างๆ ของจีน อย่างน้อยก็มีบันทึกเกี่ยวกับพระราชวังหลัง ปรากฏชื่อนางสนมกำนัลในประจำวังหลัง แต่ หลี่ไคหยวน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชื่อดัง ตั้งข้อสงสัยว่า จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกในประวัติศาสตร์จีน ซึ่งไม่มีเอกสารประวัติศาสตร์บันทึกข้อมูลใดๆ เอาไว้เลย

ตลอดระยะเวลาสองพันปีที่ผ่านมา ไม่มีใครบ่งชี้ได้แน่ชัดว่า “ฮองเฮา”ของจิ๋นซีฮ่องเต้ คือใครกันแน่

สิ่งที่จะเป็นผลประจักษ์มากกว่าคือผลงานของแคว้นฉินที่รวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่น จิ๋นซีฮ่องเต้ดำเนินนโยบายการปกครองปักรากลงฐานระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมอำนาจเข้าศูนย์กลาง ตั้งรากลงอย่างมั่นคง และยังกลายเป็นอิทธิพลที่มีต่อสังคมศักดินาของประเทศจีน

ขณะที่การบอกเล่าเรื่องฮองเฮาของจิ๋นซี (จิ๋นซีฮองเฮา) และเรื่องวังหลังของจิ๋นซีฮ่องเต้ก็แทบไม่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ เมื่อ ค.ศ. 2007 ปีเดียวกับที่มีข่าวครั้งขุดพบหลุมฝังพระศพของเซี่ยไทเฮา พระอัยยิกา (ย่า) ของจิ๋นซีฮ่องเต้ วาระนั้นเองที่หลี่ไคหยวน ลงพื้นที่สำรวจร่องรอยซากโบราณ อันอาจเกี่ยวข้องกับสตรีเพศที่รายล้อมจิ๋นซีฮ่องเต้

สุสานฉินด้านตะวันออก สุสานของเชื้อพระวงศ์ต่างๆ ล้วนตรงกับจารีตประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติ มีเพียงสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งตั้งโดดเดี่ยวอย่างยิ่งใหญ่ โดยไม่มีหลุมฝังพระศพหรือสุสานฮองเฮาอยู่เคียงข้าง

ข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุของสภาพนี้ที่มักถูกหยิบยกมาอธิบายมีหลายประการ

จิ๋นซีฮ่องเต้ อาจไม่ได้สถาปนาฮองเฮา

หลี่ไคหยวน ร่างสาเหตุสมมติว่าด้วยสมมติฐานที่พระองค์ไม่ได้สถาปนาฮองเฮาขึ้น หากเป็นเพราะพระองค์ครอบครองพระราชวังหลังมากมาย มีพระสนมกำนัลในมหาศาลเกินไป ไม่อาจใช้พระวินิจฉัยได้ว่าจะสถาปนาใครขึ้นมาเป็นฮองเฮา

แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว ราชวงศ์ฉินแม้จะกินเวลาไม่ยาวนานนัก แต่ก็มีระเบียบ มีกฎมณเฑียรบาลกำหนดแน่ชัด ย่อมไม่มีความเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งฮองเฮาโดยตรง การสถาปนาฮองเฮานั้น เป็นระเบียบที่กำหนดเพื่อสืบทอดตำแหน่งองค์รัชทายาทท่านอ๋อง รวมถึงเป็นระเบียบที่กำหนดหลักปฏิบัติในพระราชวังหลัง

ทรงเชื่อเรื่องชีวิตเป็นอมตะไม่แก่เฒ่า

กระแสร่ำลือเกี่ยวกับจิ๋นซีฮ่องเต้ประการหนึ่งบอกเล่ากันว่า พระองค์ทรงเชื่อนักพรตฤาษีเรื่องชีวิตอมตะ เนื่องด้วยคติความเชื่อนี้ พระองค์จึงยืดการแต่งตั้งฮองเฮาออกไป

เมื่อหลี่ไคหยวนตรวจสอบที่มาที่ไปของเรื่องบอกเล่าข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นหลังพระกรณียกิจรวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่ง เข้าใกล้วัยชราภาพแล้ว ตามธรรมเนียมราชวงศ์ฉิน อ๋องฉินจะทรงสถาปนาอ๋องเฮาอย่างเป็นทางการ หลังขึ้นครองราชย์บริหารรัฐด้วยพระองค์เองไม่นานนัก บางแห่งเชื่อไม่เกิน 3 ปีหลังครองราชย์ มักพบว่า จะทรงแต่งตั้งในช่วงทรงพระเยาว์วัยหนุ่มสาวพระชมมายุ 20 กว่าชันษาโดยประมาณ

บางตำราบอกว่า จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 13 (คิดเดอร์ และออปเพนไฮม์, 2010) แต่บางแห่งบอกว่า พระองค์ขึ้นปกครองเมื่อพระชนมายุ 22 พรรษา อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วไม่ค่อยรอจนถึงพระชนมายุ 40-50 (พระองค์สวรรคตขณะพระชนมายุ 50 พรรษา)

ประเด็นนี้จึงไม่น่าเป็นไปได้อีกเช่นกัน

ความสัมพันธ์กับพระมารดา

ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่บางกลุ่มยกขึ้นมาคือ เรื่องพระมารดาของพระองค์ทรงมีพระจริยาวัตรไม่ค่อยงาม ในกรณีนี้เรื่องมีว่า ทรงเลี้ยงดูเมี่ยนโส่ว (ชายขายบริการ) จิ๋นซีฮ่องเต้จึงทรงกดดันขับไล่พระมารดาออกนอกนครหลวง เนื่องจากทรงเคียดแค้นชิงชังพระมารดา และพัฒนากลายเป็นปมความเกลียดชังเพศหญิง จักรพรรดิจีน ผู้นี้จึงผัดผ่อนการแต่งตั้งฮองเฮาออกไป

หลี่ไคหยวน อธิบายว่า “เป็นเรื่องจริงที่พระมารดาของจิ๋นซีฮ่องเต้ได้ทรงเลี้ยงดูเมี่ยนโส่ว(นาม)เล่าไอ่ และทรงให้กำเนิดพระบุตรส่วนพระองค์ ส่วนจิ๋นซีฮ่องเต้ก็ทรงเคยขับไล่ไสส่งพระมารดาออกนอกวังหลวงจริงๆ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อพระองค์ทรงได้รับคำกราบทูลเตือนเรื่องความมั่นคงทางการเมือง พระองค์ก็รีบนำตัวพระมารดานิวัตินครหลวง พร้อมฟื้นความสัมพันธ์

สำหรับผู้ที่ยังค้างคาเรื่องไทเฮาเลี้ยงดูเมี่ยนโส่ว ในช่วงเวลาของรัฐฉินมีเรื่องราวลักษณะนี้มากหลาย เซวียนไทเฮา พระมารดาของพระไปยกา (ปู่ทวด) ของจิ๋นซีฮ่องเต้ ทรงมีพระบุตรสององค์กับ “อี้ฉวี่อ๋อง” ผู้มาจากต่างรัฐ ซึ่งอาศัยพำนักในรัฐฉิน จึงพอกล่าวได้ว่า ไม่พบมูลเหตุอะไรที่น่าเชื่อถือหรือเกี่ยวพันกันกับสมมติฐานเรื่องไม่พอพระทัยพระมารดาจนชิงชังสตรี

หลักฐานที่พอจะเชื่อมโยง

เมื่อพิจารณาจากข้อสมมติฐานจากการคาดคิดเหล่านั้นแล้ว น่าจะพอเห็นได้ว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ หลี่ไคหยวน จึงบ่งชี้ว่า เบาะแสที่พอจะเป็นเส้นด้ายเล็กๆ ให้พอสืบสาวไปถึงข้อมูลอื่นๆ คือเบาะแสอันเกี่ยวกับพระราชวังหลัง ซึ่งหลี่ไคหยวนสืบเสาะเอกสารประวัติศาสตร์ว่าด้วยพระราชวังหลังของจิ๋นซีฮ่องเต้ พบเพียงแค่ข้อความเดียวเท่านั้นจากเอกสาร “บันทึกประวัติศาสตร์ : บันทึกพื้นฐานพระประวัติจิ๋นซีฮ่องเต้” ข้อความรัชศกจิ๋นซีฮ่องเต้ ปีที่ 37 มีใจความว่า

“เดือน 9 ฝังพระศพจิ๋นซีฮ่องเต้ที่หลีซาน…ฉินรัชกาลที่ 2 ตรัสว่า : ‘วังหลังของฮ่องเต้พระองค์ก่อนผู้ไร้พระบุตรพระธิดา ไม่เหมาะที่จะปล่อยออกนอกวัง’ จึงทรงมีรับสั่งให้ฝังทั้งเป็นตายตามฮ่องเต้ทั้งสิ้น ผู้สิ้นพระชนม์ตามนี้มีจำนวนค่อนข้างมาก”

นางกำนัล ดินทาสี

จิ๋นซีฮ่องเต้ สวรรคตเฉียบพลันขณะพระชนมายุ 50 พรรษา ในรัชศกจิ๋นซีฮ่องเต้ปีที่ 37 ตรงกับช่วง 210 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนสวรรคต พระองค์เสด็จประพาสตรวจราชการเมื่อถึงเมืองซาปิงและล้มป่วย พระองค์สั่งให้ จ้าวเกา พระอาจารย์ของ หูไฮ่ โอรสองค์เล็กของจิ๋นซีฮ่องเต้ ขุนนางที่ควบคุมขบวนราชรถพลม้าข้างพระกาย ส่งราชโองการให้ ฝูซู โอรสองค์โตที่ดูแลกองทัพที่ชายแดนทางเหนือให้รีบกลับมาจัดการพิธีศพที่เมืองเสียนหยาง แต่จ้าวเกาไม่ได้ทำเช่นนั้น จ้าวเกาปลอมแปลงราชโองการ และกำจัดฝูซู ด้วยการบีบบังคับให้ฆ่าตัวตาย หลังจากนั้นก็สนับสนุนหูไฮ่ขึ้นครองราชย์เป็นรัฐฉินรัชกาลที่ 2

จ้าวเกาได้รับอำนาจทางการเมืองเป็นหลางจงลิ่ง กุมอำนาจทางการเมือง หลี่เฉวียน นักวิชาการที่สืบค้นด้านประวัติศาสตร์ยังอธิบายว่า โอรส 12 พระองค์ และพระธิดา 10 พระองค์ รวมถึงขุนนางในช่วงของจิ๋นซีฮ่องเต้ก็ถูกกำจัดไปไม่น้อย ข้อมูลเรื่องจำนวนพระโอรสพระธิดาของจิ๋นซีฮ่องเต้ นักวิชาการให้จำนวนแตกต่างกันออกไป สำหรับหลี่ไคหยวน บอกว่ารวมกันแล้วเกือบ 20 พระองค์ ขณะที่ในช่วงฉินรัชกาลที่ 2 เกิดแรงเสียดทานและสัญญาณความไม่สงบเกิดขึ้นทั่วพื้นที่ตะวันออก

กลับมาที่ประเด็นหลัก จากข้อความในบันทึกข้างต้น พิธีพระศพของจิ๋นซีฮ่องเต้มีขึ้นในเดือน 9 รัชศกเดียวกัน พระศพของจิ๋นซีฮ่องเต้ฝังที่เขาหลีซาน (เขาม้าดำ) ในพิธีศพ ฮ่องเต้รัชกาลที่ 2 แห่งฉินมีพระราชโองการเรื่องการจัดการวังหลังของจิ๋นซีฮ่องเต้ว่า “ในหมู่พระราชวังหลังของฮ่องเต้องค์ก่อน ผู้ใดที่ไร้พระบุตรพระธิดาไม่เหมาะที่จะปล่อยให้ออกนอกพระราชวัง” อาศัยพระราชโองการฉบับนี้จึงรับสั่งให้นำตัวไปฝังทั้งเป็นตายตามฮ่องเต้องค์ก่อน ขณะที่ข้อความจากบันทึกว่า “ผู้สิ้นพระชนม์ตามนี้มีจำนวนค่อนข้างมาก”

ข้อความที่ว่านี้พอจะบ่งชี้ได้ว่า พระราชวังหลังของฉินที่มีระเบียบกำหนดเคร่งครัดประจำรัฐ วังหลังที่ว่ามีกันมากแต่ไม่อาจระบุจำนวนแน่ชัดได้ แต่อย่างน้อยพอจะเห็นเค้าลางได้จากพระสมัญญานาม กล่าวคือ ตำหนักพระราชวังหลังด้านข้างหรือวังคู่ขนานที่มีจำนวนมากจะเรียกกันว่า “ฮูหยิน” (ฮูหยินโดยแท้จริงของฮ่องเต้เรียกว่า “ฮองเฮา”)

พระสมัญญาของฮูหยินเรียกได้หลากหลายพระนาม แยกได้เป็นเหม่ยหลิน เหลียงเหยิน ปาจื่อ ชีจื่อ จ่างสื่อ เช่าสื่อ ฯลฯ จากข้อกำหนดการเรียกขานพระนามนี้ หลี่ไคหยวน สรุปไว้ว่า

“ผู้ที่มีพระสถานะตำแหน่งเรียกพระนามอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจถูกเรียกได้ว่าเป็นพระราชวังหลังของจิ๋นซีฮ่องเต้นั้น มีอยู่สิบกว่าพระนางโดยประมาณ…

นักประวัติศาสตร์นามลือเลื่องยังวิเคราะห์ว่า เสียงลือเรื่องจำนวนพระสนม “จิ๋นซีฮ่องเต้” ที่มีมากมายหลักหมื่นขึ้นไป น่าจะเป็นเรื่องที่แต่งเติมขยายจนเกินข้อเท็จจริง ข้อมูลเหล่านี้มาจากการบอกเล่าสืบทอดกันมา และมาจากอิทธิพลของงานวรรณกรรมในช่วงหลัง ในแง่ข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการประวัติศาสตร์แล้วคงไม่อาจบอกได้ว่ามีน้ำหนักพอให้เชื่อถือ

ส่วนหลักฐานเกี่ยวกับฮองเฮาของจิ๋นซีฮ่องเต้ จนถึงวันนี้ยังไม่มีหลักฐานพอจะบ่งชี้ตัวตนฮองเฮาได้อย่างชัดเจน (ในกรณีที่มี)

ส่วนหลักฐานที่พอจะบ่งชี้ถึงสาเหตุที่ไม่พบหลักฐานการสถาปนาฮองเฮาในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ได้ ก็ยังคงต้องค้นหาและศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปมาก นักวิจัยจีนถึงกับสร้างภาพจำลองใบหน้าจากชิ้นส่วนร่างกายเพศหญิงที่ค้นพบในสุสานขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นจุดเดียวกับที่พบกองทัพหุ่นดินเผาจำนวนมหาศาลในซีอาน

พลธนูสวมชุดเกราะ ดินเผา

เมื่อปี 2018 ทีมนักวิทยาศาสตร์รวบรวมชิ้นส่วนของผู้หญิงที่แยกออกจากกันอยู่ภายในสุสานบริเวณทางเดินเข้าสุสาน ที่เชื่อว่าเป็นที่ฝังศพร่างฮูหยินต่างๆ เชื่อว่าโครงกระดูกของผู้หญิงรายนี้อาจถูกฆ่าให้ตายตามจักรพรรดิหลังจิ๋นซีฮ่องเต้สวรรคต

การศึกษายังไปถึงเรื่องชาติกำเนิดของเหล่าวังหลัง หากสามารถตรวจเทียบดีเอ็นเอได้ เนื่องจากภาพจำลองที่แสดงออกมามีลักษณะเหมือนมีเชื้อสายชนชาติอื่นผสม รายงานข่าวจากสำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า นักวิจัยบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า สตรีรายนี้อาจมีต้นกำเนิดที่เกี่ยวข้องกับชนชาติตะวันตก อาจเป็นเปอร์เซียน หรือยุโรป แต่บางกลุ่มก็มองว่าเป็นไปได้ยาก

เชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีและความพยายามในการศึกษาจากคนรุ่นใหม่ ในอนาคตปริศนาเหล่านี้อาจถูกถอดได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หลี่ไคหยวน. ความลับของจิ๋นซีฮ่องเต้. แปลโดย สุนทร ลีวงศ์เจริญ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555.

หลี่เฉวียน. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. แปลโดย เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556

Chen, Stephen. “Could these be the faces of the murdered wife and son of China’s first emperor Qin Shi Huang?”. South China Morning Post. Online. Published 13 JUL 2018. Access 5 SEP 2019. <https://www.scmp.com/news/china/society/article/2155189/could-these-be-faces-murdered-wife-and-son-chinas-first-emperor>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2562