เผยแพร่ |
---|
ประเพณี “สิ้นจักรพรรดิ สนมต้องตายตาม” ปรากฏให้เห็นกันในหลายวัฒนธรรม สำหรับชีวิตความเป็นอยู่ในพระราชวังของจีนก็มีเช่นกัน จนกระทั่งมีจักรพรรดิบางพระองค์ที่เห็นว่าธรรมเนียมนี้เป็นเรื่องน่าชัง และสั่งยกเลิกก่อนสิ้นพระชนม์
เมื่อครั้งจักรพรรดิหมิงไท่จู (จูหยวนจาง) เสด็จสวรรคต มีบันทึกว่าสนมที่พลีชีพตามเสด็จมีมากถึง 40 นาง ขณะที่จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (จูตี้) สวรรคตก็มีสนมพลีชีพตามเช่นกัน ครั้งนี้มีบันทึกว่าพระสนมที่ตามเสด็จมี 30 นาง
หนังสือ “ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม” บันทึกว่า กฎในสมัยราชวงศ์หมิงมีว่า ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกุ้ยเฟย (ตำแหน่งหนึ่งของนางในพระราชสำนักจีน) หากมีโอรสและโอรสได้รับแต่งตั้งเป็นขุนนางผู้ครองหัวเมือง ถือว่าครอบครัวมีความดีความชอบจะได้รับ “พระราชทานยกเว้น” การพลีชีพ
หากขยายความเพิ่ม นางในพระราชสำนักจีนที่ได้รับแต่งตั้งมักมีสิทธิมากขึ้นตามไปด้วย เช่นมีนางกำนัลติดตามเพิ่มขึ้น หรือกรณีที่ได้เป็นไท่โฮ่ว (พระมเหสีของจักรพรรดิองค์ก่อนเทียบเท่าพระพันปีหลวง) และไท่เฟย (พระมเหสีของจักรพรรดิองค์ก่อนที่ได้ประสูติพระราชโอรส) จะมีสิทธิเข้าอุทยานฉือหนิงกง อุทยานในหมู่พระตำหนักฉือหนิงกง ใช้สำหรับให้ไท่โฮ่ว และไท่เฟย พักผ่อนและไหว้พระโดยเฉพาะ มีเนื้อที่ 6,800 ตารางเมตร ออกแบบเพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ตกแต่งราว “สวรรค์ในแดนดิน” แต่บันทึกบรรยายว่า ส่วนใหญ่แล้วหมู่พระตำหนักที่จัดให้ไท่โฮ่ว และไท่เฟย บรรยากาศภายในนั้นเงียบเหงาไม่น้อย
ขณะที่ช่วงปลายราชวงศ์ชิง มีบันทึกว่า ซูสีไทเฮาเข้าควบคุมราชกิจ ตลอดพระชนม์ชีพประทับที่พระราชฐานชั้นใน แทบไม่เคยเสด็จที่ฉือหนิงกง ประกอบกับจำนวนพระสนมในช่วงราชวงศ์หลังมีน้อยลง อุทยานที่เคยมีสีสันก็ไม่ค่อยมีใครใช้เป็นที่ดูแลบุพการีอีก
กลับมาที่ราชวงศ์หมิง ประเพณีพลีชีพตามนี้ เป็นองค์จักรพรรดิหมิงอิงจงมีพระบรมราชโองการยกเลิกประเพณีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นคุณูปการใหญ่หลวงที่สุดของจักรพรรดิพระองค์นี้ทีเดียว ประเพณีพลีชีพตามเสด็จในจีนในราชวงศ์หมิงเป็นอันสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นราชวงศ์ชิง เมื่อจักรพรรดิซื่อจู่ (ซุ่นจื้อ) สวรรคตก็ยังมีสนมพลีชีพตามเสด็จ 4 นาง แต่แล้วเมื่อจักรพรรดิคังซีใกล้สวรรคต พระองค์ทรงตรัสว่า
“จักรพรรดิตายก็ตายตาม เราชังนัก นับแต่เราเป็นต้นไปห้ามมิให้ทำอีก”
เมื่อทรงห้ามดังนี้ ราชสำนักที่เดิมทีคิดว่าจะให้สนม 40 นางตามเสด็จไปด้วยก็เป็นอันยกเลิกไป และถือว่าเป็นคุณูปการของจักรพรรดิคังซีอีกหนึ่งประการ
อ้างอิง:
จ้าวกว่างเชา. ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม. แปลโดย อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และชาญ ธนประกอบ. มติชน : กรุงเทพฯ, 2560
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2561