จิ๋นซีฮ่องเต้ฝังคนทั้งเป็นจริงหรือ? ค้นต้นตอ-ข้อเท็จจริงเรื่องที่เชื่อกันมานับพันปี

กองทัพ ตุ๊กตาดินเผา ใน สุสาน จิ๋นซีฮ่องเต้
แฟ้มภาพกองทัพตุ๊กตาดินเผาในสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ ในจีน ภาพจาก AFP PHOTO / GEORGES BENDRIHEM

ปริศนาเกี่ยวกับ “จิ๋นซีฮ่องเต้” มีมากมายหลายแง่มุม และปฏิเสธได้ยากว่า ปฐมจักรพรรดิตลอดกาลมีเรื่องราว เรื่องเล่า หรือแม้แต่โบราณวัตถุต่างๆ ที่ตกทอดยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับข้อถกเถียงในบางกรณีที่ยังไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันฟันธงข้อสันนิษฐานได้อย่างชัดเจน นั่นเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เกิดความเชื่อบางอย่างที่ตกทอดกันมาด้วย อาทิ เรื่องเล่าว่าจิ๋นซีฝังคนทั้งเป็น

ราชวงศ์แรกของจีนที่รวมศูนย์การปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางก็คือ ราชวงศ์ฉิน และจักรพรรดิในราชวงศ์นี้ซึ่งเป็นที่ขนานนามว่า “ปฐมจักรพรรดิตลอดกาล” ก็คือ พระเจ้าฉินสื่อหวง หรือที่คนไทยคุ้นชินกันว่า “จิ๋นซีฮ่องเต้” ข้อมูลเกี่ยวกับพระองค์มีคำถามตั้งแต่ชาติกำเนิดแรกเริ่มว่า พระองค์เป็นโอรสของจื่ออี้ (อี้เหริน) ชาวแคว้นฉินซึ่งถูกจับมาเป็นตัวประกันที่แคว้นจ้าวหรือไม่

ขณะที่บางแห่งก็ตั้งข้อสังเกตว่า บิดาของพระองค์อาจเป็นหลี่ว์ปู้เหวย ชาวหยางไจ๋ (ปัจจุบันคืออำเภออวี่ในมณฑลเหอหนาน) พ่อค้าใหญ่ที่ร่ำรวย ซึ่งทำการค้าในเมืองหานตัน เมืองเดียวกับที่อิ๋งเจิ้ง หรือหยิงเจิ้ง ถือกำเนิด (พระนามเดิมของจิ๋นซีฮ่องเต้คือ อิ๋งเจิ้ง หรือหยิงเจิ้ง หรือบางตำราเรียกฉินสื่อหวง จากที่จักรพรรดิในสำเนียงจีนกลางออกเสียงว่า “หวงตี้”)

ภายหลังพระองค์รวมแผ่นดินจีนแล้ว พระเจ้าฉินหวังหยิงเจิ้ง เห็นว่าคำว่า “หวัง” (กษัตริย์) ไม่คู่ควรกับบารมีและฐานะ จึงเปลี่ยนเป็นคำว่า “หวงตี้” (จักรพรรดิ) มาใช้ยกย่องพระองค์เอง และเป็นการรับรองสถานะผู้มีอำนาจสูงสุด การรวมประเทศในครั้งนั้นกลายเป็นรากฐานระยะยาวของจีน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองการปกครอง โครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในยุคต่อมา

แต่อีกด้านที่คนทั่วไปรับรู้กันก็คือ “ความโหดร้าย” ในหลายแง่มุมเช่นกัน มีทั้งแง่การเก็บภาษีที่ดินและแรงงานเกณฑ์ (ปัจจัยเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญต่อการล่มสลายของราชวงศ์) ประกอบกับการปกครองที่มีบทลงโทษอย่างรุนแรง องค์ประกอบที่กล่าวข้างต้นกลายเป็นชนวนสะสมทำให้เกิดกบฏชาวนาครั้งแรกของจีนในช่วงปลายราชวงศ์

เรื่องการลงโทษที่รุนแรงนั้น หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่อง “ฝังคนทั้งเป็น” มาบ้าง หากนับจากยุคราชวงศ์ฉินแล้ว เรื่องเล่านี้สืบต่อกันมานานนับพันปีก็ว่าได้ แต่เรื่องที่ว่านี้มีต้นตออย่างไร และที่สำคัญคือมีข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง

หลายทศวรรษที่ผ่านมา นักประวัติศาสตร์ไปจนถึงนักโบราณคดีต่างขุดค้นศึกษาข้อมูลเพื่อสร้างความกระจ่างในปมต่างๆ สำหรับกรณีเรื่องเล่า “ฝังคนทั้งเป็น” หลี่ไคหยวน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชื่อดัง เล่าไว้ว่า ช่วงปลายพระชนม์ชีพ พระองค์หวาดหวั่นเรื่องความตาย จึงพยายามมุ่งหายาอายุวัฒนะซึ่งทำให้ไม่แก่เฒ่า หรือหากเป็นไปได้ก็เป็นยาที่ทำให้เป็นอมตะ

เนื้อเรื่องต้นตอที่นำมาสู่บทลงโทษฝังทั้งเป็น

สำหรับประเทศจีนมีผู้ฝึกฝนตนเองโดยมีเป้าประสงค์ไม่ให้แก่เฒ่า มุ่งพยายามแสวงหาปรุงยาอายุวัฒนะ คนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่าฤาษีนักพรต มีทั้งที่เป็นคณาจารย์สอนพลังลมปราณชี่กงในยุคโบราณ เป็นนักเล่นแร่แปรธาตุ หากลองแบ่งแยกจัดสายสำนักทางความคิดต่างๆ อาจเห็นได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับทางเต๋า

หลี่ไคหยวน ยกข้อมูลที่มาที่ไปความเชื่อเรื่องบทลงโทษฝังคนทั้งเป็น อันเริ่มจากเรื่องการเสด็จประพาสตรวจราชการแผ่นดินครั้งที่ 2 เมื่อรัชศกจิ๋นซีฮ่องเต้ปีที่ 28 พระองค์เสด็จถึงพระลานหลางหยา (ในบริเวณเจียวหนาน มณฑลซานตงในปัจจุบัน) ในเวลานั้น ข้อมูลบอกว่า จิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งเพิ่งเคยทอดพระเนตรทะเลเป็นครั้งแรกเบิกบานใจกับทิวทัศน์ของภูผา ระลอกคลื่นสมุทรจรดปลายขอบฟ้าเป็นอย่างมาก ทรงประทับที่พระลานหลางหยา 3 เดือนเต็ม โปรดให้จารึกหลักศิลา บูรณะตำหนักพระที่นั่งต่างๆ และย้ายครัวเรือนเพื่อมาพำนักถาวรในที่นี้ โดยมีนโยบายลดเลิกภาษีให้ ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นสถานที่อาบน้ำพุร้อนส่วนพระองค์ สร้างนครใหม่เพื่อพักฟื้นตากอากาศส่วนพระองค์อีกแห่ง

ที่พระลานหลางหยานี่เองทำให้พระองค์พบกับ นักพรตสวีฝู เป็นครั้งแรก นักประวัติศาสตร์ บรรยายว่า ในการพบกันนั้น สวีฝูกราบบังคมทูลว่า กลางมหาสมุทรเวิ้งว้างมีภูเทพสถิต 3 ภู เรียกว่า เผิงไหล ฟางจ้าง และอิ๋งโจว บนภูเหล่านี้สถิตด้วยเซียนเทพ และพวกเซียนเก็บรักษาเภสัชทิพย์เป็นภักษาหาร ทำให้ชีวิตเป็นอมตะไม่แก่เฒ่า ไม่เจ็บป่วย ไม่ทุกข์ยาก พระองค์ตอบรับข้อเสนอของนักพรต จัดส่งเด็กเล็กชายหญิงนับพันขึ้นเรือพร้อมกับสวีฝูออกทะเลกว้างใหญ่หายาวิเศษ ซึ่งหลังจากนี้ไปจึงกลายเป็นยุคที่ฤาษีนักพรตเจริญรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์ฉิน มีนักพรตฤาษีมารวมตัวกันที่ เสียนหยาง นครหลวง และสลับเข้าเฝ้ากันมากมายหลักร้อยคน

นักพรตฤาษีผู้เป็นที่โปรดปรานคือ โหวเซิง และหลูเซิง ได้รับมอบหมายให้เสาะหายาอายุวัฒนะ แม้ไม่สามารถหายาพบได้ แต่ที่พวกเขาพบคือ “เหตุผลที่หายาวิเศษไม่ได้”

หลูเซิงและนักพรตที่ออกไปหายาวิเศษกราบทูลจิ๋นซีฮ่องเต้ว่า “มีภูตผีมารร้ายคอยมาเป็นอุปสรรคขัดขวางอยู่ตลอด” เพื่อปัดรังควาน จึงขอให้จิ๋นซีฮ่องเต้เสด็จประพาสนอกพระราชวังเป็นการลับ ภูตผีจะสลายตัวหลีกหนีห่างส่งผลต่อมาคือ นักพรตศักดิ์สิทธิ์ที่พำนักดำรงตนตามเมฆหมอกป่าเขาสูงลิบครองตนเป็นอมตะมายาวนาจึงจะปรากฏตัวออกมา

หลักฐานที่บ่งชี้ว่า จิ๋นซีฮ่องเต้ทรงเชื่อลุ่มหลงเกี่ยวกับการแสวงหายาอายุวัฒนะอีกประการ คือ พระองค์ประกาศว่าเคารพศรัทธานักพรตบริสุทธิ์ นับแต่นี้จะเรียกพระองค์เองว่า “เจินเหยิน” หรือแปลว่าผู้บริสุทธิ์ จะไม่เรียกสรรพนามแทนตัวเองว่า “ข้า” หรือ “เจิ้น” (เจิ้น เป็นสรรพนามที่ฮ่องเต้หรือจักรพรรดิใช้เรียกแทนพระองค์เอง จิ๋นซีฮ่องเต้ตรากฎหมายให้ใช้หลังรวมแผ่นดิน) ขณะที่สถานภาพในเวลานั้น พระองค์ถือพระกิริยาเป็นความลับสุดยอด ใครเผยข้อมูลรั่วไหลมีโทษถึงประหารชีวิต

ในขณะเดียวกัน รัฐฉินก็มีระบอบกฎหมายที่มุ่งเน้นการปฏิบัติให้ได้ผลจริง จิ๋นซีฮ้องเต้ทรงเข้มงวดและจริงจัง การพิสูจน์เรื่องที่นักพรตฤาษีกล่าวอ้างแนะนำก็ต้องมีข้อพิสูจน์ บทลงโทษตามกฎหมายระบุว่า “ผู้ใดก็ตามที่มีเคล็ดวิชาด้านนักพรตฤาษี ก็จงอย่ามัวแต่ลังเลสองจิตสองใจในลักษณะเหยียบเรือสองแคม หากพิสูจน์ทดสอบแล้วพบว่า ไม่ศักดิ์สิทธิ์จริง ผู้นั้นต้องถูกลงโทษประหารชีวิต”

เมื่อบรรดานักพรตฤาษีเริ่มตระหนักว่ามาตรการที่นึกคิดคงไปไม่รอด ก็เริ่มแจ้งข่าว และพากันหลบหนีทั้งกลุ่มจนไร้ร่องรอย เป็นผลให้จิ๋นซีฮ่องเต้พิโรธอย่างหนัก พระองค์มอบหมายให้สำนักงานอวี้สื่อรับผิดชอบติดตามตัวมาลงโทษ แต่แล้วการติดตามตัวนักพรตฤาษีในเสียนหยางกลับทำให้นักวรรณกรรมทฤษฎีภาษาศิลป์จำนวนหนึ่งพลอยติดร่างแหไปด้วย การพิพากษาคดีตัดสินว่า ในจำนวนนี้มีกว่า 460 คนต้องถูกลงโทษ โดยฝังทั้งเป็นในชานเมืองทิศบูรพาของนครเสียนหยาง

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวอันนำมาสู่ความเชื่อ “ฝังปราชญ์หยู” (ทั้งเป็น) ซึ่งเล่ากันสืบต่อมาเป็นพันปี แล้วหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในกรณีนี้ปรากฏอยู่บ้างไหม?

หลักฐานทางประวัติศาสตร์

หลี่ไคหยวน ตอบคำถามนี้โดยยกเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า “บันทึกประวัติศาสตร์ : บันทึกพื้นฐานพระประวัติจิ๋นซีฮ่องเต้” ซึ่งเป็นเอกสารที่ปรากฏกรณี “ฝังปราชญ์หยู” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม หากสืบค้นในเอกสารประวัติศาสตร์เพิ่มเติมเกี่ยวกับปราชญ์หยูแล้ว ไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าจิ๋นซีฮ่องเต้ต่อต้านปราชญ์หยูแบบชัดเจนแต่อย่างใด

หลี่ไคหยวน บรรยายต่อว่า หลังจาก “นักสืบประวัติศาสตร์” สืบค้นลงลึกถึงเรื่องปราชญ์หยู จึงเริ่มเกิดข้อสงสัยเคลือบแคลงว่า แก่นสารใน “บันทึกประวัติศาสตร์ : บันทึกพื้นฐานพระประวัติจิ๋นซีฮ่องเต้” มีกลิ่นว่าจะไม่ใช่เรื่องจริงในทางประวัติศาสตร์ แต่อาจเป็นการสร้างเรื่องจากคนรุ่นหลัง

เนื้อหา “บันทึกประวัติศาสตร์ : บันทึกพื้นฐานพระประวัติจิ๋นซีฮ่องเต้” กล่าวถึงช่วงหลังจากนักพรตฤาษีโหวเซิงและหลูเซิงหลบหนีไร้ร่องรอย ได้ปรากฏเรื่องขึ้นดังนี้

“ครั้นจิ๋นซีฮ่องเต้ทรงสดับเรื่องหลบหนี ก็ทรงกริ้วยิ่ง นักพร้อมตรัสว่า ‘ข้าเก็บริบตำราทั่วหล้าก็เพื่อทำลายเล่มที่ไร้ประโยชน์ รวมพลชุมนุมฤาษีนักพรตบัณฑิตวรรณศิลป์เป็นจำนวนมากก็เพื่อความเจริญรุ่งเรืองมหาสันติ ให้เหล่านักพรตแสวงหาเภสัชทิพย์ยาอายุวัฒนะ

ตอนนี้กลับได้ข่าวของหานจังหลบหนีหายเร้นไป นักพรตเฉกเช่นสวีซื้อ (สวี) เป็นอาทิ ได้ใช้จ่ายสิ้นเปลืองมูลค่ามหาศาลก็ยังค้นไม่พบยาอายุวัฒนะ ได้ยินแต่ข่าวฟ้องร้องใส่ร้ายกันเองมุ่งหาผลประโยชน์ใส่ตัว สำหรับนักพรตประเภทหลูเซ็งเป็นอาทินั้น ข้าประทานให้ทั้งเกียรติและเงินทองมากมาย แต่ก็ยังให้ข่าวใส่ร้ายข้า กล่าวหาข้าไร้ศีลธรรม บรรดาปราชญ์หยูต่างๆ ในนครเสียนหยาง ข้าได้ส่งคนไปตรวจสอบก็พบว่ามีคนในกลุ่มนี้เที่ยวกระจายข่าวใส่ร้ายข้าแพร่ไปปลุกปั่นบรรดาหมู่คนหัวดำ (ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์)’

ดังนั้น จึงมีพระบัญชา รับสั่งให้อวี้สื่อไต่สวนดำเนินคดีบัณฑิตปราชญ์หยูทุกคน บรรดาบัณฑิตต่างๆ ล้วนพากันใส่ร้ายพาดพิงผู้อื่นเอาตัวรอด กำหนดผู้ทำผิดต้องโทษได้ 460 กว่าคน จับฝังที่เสียนหยางจนหมดสิ้น เพื่อให้ใต้ฟ้ารับทราบเพื่อเป็นกรณีปรามเตือนอนุชนรุ่นหลังไม่ให้ถือเป็นเยี่ยงอย่างต่อไป”

หลี่ไคหยวน ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อมูลนี้ 3 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 คำเรียกชื่อกลุ่มผู้เสียหาย

จากการตรวจสอบรายชื่อในกรณีฝังปราชญ์หยู ผู้ที่มีชื่อเรียกอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมล้วนเป็นนักพรตฤาษี โหวเซิง และหานจ้ง เป็นนักพรตฤาษีกำเนิดในรัฐหาน, สวีซื่อ คือ สวีฝู กำเนิดในรัฐฉี, หลูเซิงกำเนิดในรัฐเอี้ยน บรรดาชื่อนักพรตฤาษีชื่อดังเหล่านี้แวดล้อมอยู่กับจิ๋นซีฮ่องเต้มานาน เล่นเล่ห์เหลี่ยมมารยาหลากหลาย ย่อมตกเป็นเป้าหมายการโจมตีในการ “ฝังปราชญ์หยู”

แต่บุคคลเป้าหมายที่ถูกพระองค์ติเตียน จากที่มีนักพรตฤาษี กลับเป็น “ปวงฤาษีนักพรตและปราชญ์ภาษาศิลป์” ดังที่ใช้คำว่า “เหวิน เสวีย ฟาง ซู่ ซื่อ” ซึ่งคำว่า ฟางซู่ซื่อ คือ ฟางซื่อ ที่แปลว่า ฤาษีนักพรต ส่วน “เหวินเสวีย” คือ ปราชญ์บัณฑิตภาษาศิลป์ กินความกว้างถึงผู้สันทัดทางภาษาและทรงภูมิปัญญา หรือตีความรวมถึงปราชญ์สำนักหยู (หยู เสว จือ ซื่อ) ได้เช่นกัน นักประวัติศาสตร์เตือนว่า ปราชญ์บัณฑิตภาษาศิลป์ในที่นี้ ไม่มีผู้ใดปรากฏชื่อแซ่จริงเลย มีแต่ผสมปนเป ประเภทภาษาสำนวนพาไปมากกว่า

เนื้อความต่อเนื่องในบันทึกดังกล่าว ปรากฏเรื่ององค์ชายฝูซู เข้าเฝ้าที่พระตำหนักกราบทูลเตือนพระสติ ใจความในบันทึกดั้งเดิมมีว่า

“ฝูซู พระบุตรองค์โตจิ๋นซีฮ่องเต้กราบทูลเตือนพระสติว่า : ‘ใต้ฟ้าทั่วแหล่งหล้าเพิ่งเจ้าสู่สภาวะสันติ บรรดาคนหัวดำแดนไกลยังคงไม่ฟื้นคืนสงบ บรรดาปราชญ์บัณฑิตต่างๆ ล้วนอ่านศึกษาคำสอนขงจื๊อ (สุนทร ลีวงศ์เจริญ ผู้แปลอธิบายกำกับว่า สำเนียงจีนกลางออกเสียงขงจื่อ) ตอนนี้พระบิดาฮ่องเต้กลับทรงใช้กฎหมายบังคับลงโทษพวกเขา ข้าพระองค์เกรงว่าจะเกิดความปั่นป่วนไร้สันติสงบไปทั่วใต้ฟ้าแหล่งหล้า ขอพระบิดาฮ่องเต้ทรงดำเนินการตรวจสอบให้ชัดแจ้งเถิด พระเจ้าข้า”

หากพิจารณาเนื้อเรื่อง “การฝังปราชญ์หยู” ตามที่บอกเล่ามาข้างต้นว่า มีจุดเริ่มต้นจากนักพรตฤาษีแล้ว หากพิจารณาว่า เมื่อฝูซู จะมีพระดำรัสเตือนก็ควรต้องเริ่มจากเรื่องฤาษีนักพรตแสวงหายาอายุวัฒนะ แต่น่าประหลาดที่ในบันทึกไม่ได้บ่งชี้ว่า ฝูซูมีพระดำรัสถึงกรณีนี้แต่อย่างใด กลับยกประเด็นบรรดาปราชญ์บัณฑิตทะลุขึ้นมาตรงกลางเลย จึงพอตั้งข้อสังเกตได้ว่า เป็นพระดำรัสที่ผ่านการตัดแต่งหัวท้าย ดูไม่เหมือนพระดำรัสกราบทูลเตือนพระสติ แต่กลับเป็นส่วนที่เหมือนพยายามบ่งชี้ว่า คำว่าปราชญ์บัณฑิตต่างๆ หมายถึงบรรดาปราชญ์สำนักหยูสานุศิษย์ขงจื๊อ

หลี่ไคหยวน บรรยายว่า

“…ข้อเท็จจริงของบันทึกประวัติศาสตร์เรื่องนี้มีอะไรที่น่าสงสัยไม่น้อยเลย รู้สึกลึกๆ อยู่ในใจว่า เบื้องหลังถ้อยคำภาษาศิลป์ในกรณีนี้มีมือมืดแฝงกายซ่อนเร้นอยู่คนหนึ่ง ได้แอบขโมยแต่งแต้มเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของประวัติศาสตร์อย่างแนบเนียนยิ่งนักแล้ว…”

ประการที่ 2 เรื่องพิสดารว่าด้วยการลงโทษผู้เสียหาย

ในบันทึกเอ่ยถึง อวี้สื่อ ซึ่งจิ๋นซีฮ่องเต้มอบหมายให้จัดการนำตัวนักพรตฤาษีมาดำเนินการ หลี่ไคหยวน ตั้งข้อสังเกตว่า อวี้สื่อในที่นี้อาจหมายถึงผู้รับผิดชอบงานด้านราชทัณฑ์การตรวจสอบควบคุมบุคคลผู้เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจเป็นคำย่อตำแหน่งขุนนาง “อวี้สื่อไต้ฟู” ขุนนางตำแหน่งรองอัครมหาเสนาบดี งานรับผิดชอบดูแลความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายรัฐ ขุนนางระดับอวี้สื่อต่างๆ อยู่ภายใต้การควบคุมของอวี้สื่อไต้ฟู

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามหลักฐานตัวบทกฎหมายราชวงศ์ฉินและฮั่นตั้งแต่ที่พบมาจนถึงไม่กี่ปีมานี้ กลับไม่พบกรณีตัวอย่างและบทกฎหมายที่ใช้วิธีลงโทษฝังทั้งเป็น หลี่ไคหยวน มองว่า ประวัติศาสตร์ยุคราชวงศ์ฉินและฮั่น การฝังทั้งเป็นเกิดขึ้นท่ามกลางสงครามอันเหี้ยมโหดเท่านั้น และถือเป็นเรื่องทารุณที่พึงถูกประณามจึงมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์สื่อสารในเชิงลบ มีตัวอย่างกรณีแม่ทัพใหญ่แห่งไป๋ฉี่แห่งรัฐฉินฝังเชลยศึกรัฐจ้าวทั้งเป็น หรือเซี่ยงอวี่ (ฌ้อป้าอ๋อง) ฝังเชลยศึกรัฐฉินทั้งเป็น ดังนั้น กรณีนี้จะเห็นได้ว่าเป็นช่องโหว่ที่บ่งชี้ข้อสันนิษฐานว่า อาจเข้าข่ายแต่งเติมขึ้นมา

ประการที่ 3 ฝังปราชญ์หยู เพื่อกำจัดรายเล็กรายน้อย แต่รายใหญ่ลอยนวล

การฝังทั้งเป็นนั้น ฤาษีนักพรตหานจ้ง และหลูเซิง หนีหายไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่ได้โดนลงโทษ สวีฝูที่เป็นฤาษี ซึ่งถูกจิ๋นซีฮ่องเต้ตำหนิโดยตรงเช่นเดียวกับสองรายข้างต้น ขณะที่มีระบุชื่อแซ่ชัดเจนกรณีผู้รับโทษหนักที่สุด แต่สวีฝู ไม่ได้โดนลงโทษ ใช้ชีวิตเสรีที่หลางหยา

เนื้อหาใน “บันทึกประวัติศาสตร์ : บันทึกพื้นฐานพระประวัติจิ๋นซีฮ่องเต้” ช่วงปีที่สองของกรณีฝังปราชญ์หยู ตรงกับรัชศกจิ๋นซีฮ่องเต้ปีที่ 36 เมื่อครั้งเสด็จประพาสตรวจราชการนอกนครหลวงครั้งที่ 5 ก็เสด็จมาที่หลางหยา ทรงพบสวีฝูอีกครั้ง พระองค์ไม่เพียงไม่ลงโทษ กลับทรงหลงคำหว่านล้อมของสวีฝู จนคล้อยตาม ประทับราชพาหนะทรงเรือต้นลงทะเลมหาสมุทรตกปลาตัวใหญ่ ดำเนินการขจัดอุปสรรคที่กีดขวางทางไปพบเซียนเทพผู้ปรุงยาอายุวัฒนะด้วยพระองค์เอง

ขณะที่ชื่อผู้ถูกฝังในกรณี “ฝังปราชญ์หยู” ล้วนเป็นบุคคลรายเล็กรายน้อย ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงมาก่อน ซึ่งอาจไม่ได้ทำให้คนเชื่อเรื่องฝังปราชญ์หยู แต่กลับทำให้สงสัยมากกว่าว่า แท้จริงแล้ว จิ๋นซีฮ่องเต้เคยทรงฝังปราชญ์หยู จริงหรือ ซึ่งหลี่ไคหยวน ตั้งข้อสังเกตการเรียกกรณีนี้ว่า “ฝังปราชญ์หยู” อาจเป็นการจงใจปั้นเรื่องขึ้นมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หลี่ไคหยวน. ความลับของจิ๋นซีฮ่องเต้. แปลโดย สุนทร ลีวงศ์เจริญ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555.

หลี่เฉวียน. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. แปลโดย เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2563