เกร็ดความรู้เรื่อง “สี” จากหุ่นดินเผาสุสานจิ๋นซี ทำไมสีหลุดลอก-Chinese Purple มาจากไหน?

หุ่นดินเผา สุสานจิ๋นซี
นิทรรศการกองทัพดินเผาจากสุสานจิ๋นซี จัดแสดงที่ที่ศูนย์วัฒนธรรมในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ภาพที่ถ่ายเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013 (Photo by PIERRE-PHILIPPE MARCOU / AFP)

หุ่นดินเผา ณ สุสานจิ๋นซี เมืองซีอาน มณฑลส่านซี ประเทศจีน มีเรื่องราวในทางวิทยาศาสตร์-โบราณคดีที่น่าสนใจหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของ “สี”

สีของ “หุ่นดินเผา”

หากได้เข้าชมกองทัพทหารดินเผาทั้งที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศจีน หรือที่เคยนำมาจัดแสดงในประเทศไทย จะพบว่าหุ่นดินเผามีสีเทาเหมือนกันทั้งหมด แต่แท้จริงแล้ว หุ่นดินเผาทุกตัวมีการลงสีด้วย ว่ากันว่าเมื่อหุ่นดินเผาเหล่านี้ถูกขุดขึ้นมาจากใต้ดิน สีที่ทาไว้ก็หลุดลอกไปจนหมด

ในการขุดค้นหลุมขุดค้นที่ 2 ยังพบสีที่หลงเหลืออยู่บนตัวของหุ่นพลธนูย่อเข่า และด้วยความร่วมมือระหว่างทางพิพิธภัณฑ์ของจีนและทีมนักวิทยาศาสตร์จากเยอรมนี ทำให้สามารถสร้างแบบจำลองหุ่นนายพลที่มีสีสันสดใสออกมาได้ โดยหุ่นดินเผานี้จะมีผิวสีชมพูอ่อน ๆ สวมชุดยาวสีม่วง เกราะริมแดง เชือกถักสีเขียว กางเกงสีฟ้า เรียกว่ามีสีที่ฉูดฉาดมากทีเดียว

สีสันบนหุ่นดินเผา สุสานจิ๋นซี (ภาพจาก หนังสือ พลิกสุสาน อ่านจิ๋นซี)

ทำไมสีจึงลอกออกหมด?

ในขั้นตอนการผลิตหุ่นดินเผานั้น เมื่อนำหุ่นดินเผาออกมาจากเตาเผาแล้วจะมีการเคลือบผิวด้วยแลคเกอร์ ซึ่งได้มาจากต้นแลคเกอร์ Toxicodendron vernicifluum ยางของพืชชนิดนี้ใช้เคลือบพื้นผิววัสดุได้ดี (ต้องใช้ต้นแลคเกอร์ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป) โดยต้นแลคเกอร์ 1 ต้นให้น้ำยางราว 10 กรัม ในหนังสือ The Terracotta Army คำนวณว่า หุ่นดินเผา 1 ตัว น่าจะใช้ยางจากต้นแลคเกอร์ราว 25 ต้น กองทัพทหารดินเผากว่า 8,000 นาย ต้องใช้น้ำยางจากต้นแลคเกอร์ราว 150,000-200,000 ต้น

เมื่อเคลือบแลคเกอร์เรียบร้อยดีแล้วจึงจะถึงขั้นตอนลงสี และในขั้นตอนนี้เองสีจึงเกาะอยู่เพียงชั้นของแลคเกอร์ ไม่ได้ซึมเข้าสู่ผิวของหุ่นดินเผา ดังนั้น เมื่อแลคเกอร์หลุดลอกสีจึงหลุดล่อนออกไปด้วย

ปริศนาสีม่วงจีน Chinese Purple

จากร่องรอยของสีที่หลงเหลือบนหุ่นดินเผา นอกจากจะทำให้ทราบว่าหุ่นดินเผามีการลงสีอย่างสวยงามแล้ว ยังทำให้ค้นพบ “สีม่วงจีน” หรือ “Chinese Purple” อีกด้วย

ในอดีตการใช้สีส่วนใหญ่ได้มาจากวัสดุธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ หรือรากไม้ แต่สีม่วงที่พบบนตัวหุ่นดินเผานั้นกลับเป็นสีที่ผลิตขึ้นจากกระบวนการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือก็คือสีสังเคราะห์นั่นเอง ทำให้นักวิชาการเชื่อมโยงองค์ความรู้เรื่องนี้ไปถึงสีน้ำเงินของอียิปต์ เพราะเกิดขึ้นจากการสังเคราะห์ทางเคมีด้วยวิทยาการและความรู้ของมนุษย์ยุคโบราณที่มีอายุล่วงผ่านปัจจุบันไปนานนับพันปีเช่นเดียวกัน

นักวิชาการบางคนถึงกับสร้างทฤษฎีว่าน่าจะมีการถ่ายทอดส่งผ่านวิทยาการจากอียิปต์มาถึงแผ่นดินจีนตั้งแต่โบราณกาลก่อนเส้นทางสายไหม แต่เรื่องนี้มีความน่าเชื่อถือน้อย และมีหลายคนคัดค้าน เพราะสีน้ำเงินของอียิปต์ถูกใช้แพร่หลายไปไกลสุดแค่ดินแดนเปอร์เซีย

สีม่วงจีน หรือ Chinese Purple ที่ปรากฏบนหุ่นดินเผา สุสานจิ๋นซี (ภาพจาก หนังสือ พลิกสุสาน อ่านจิ๋นซี)

ดังนั้น ในปี 2007 ทีมนักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ศึกษา วิจัย และตีพิมพ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ลงในวารสาร Journal of Archaeological Science โดยสรุปว่าเมื่อนำตัวอย่างสีม่วงจีนจากหุ่นดินเผา คือหุ่นพลธนูย่อเข่าที่ค้นพบในหลุมขุดค้นที่ 2 ไปตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์อย่างละเอียดแล้ว พบว่าเป็นสีสังเคราะห์ที่มีแบเรียม (Barium) เป็นองค์ประกอบหลัก แตกต่างจากสีน้ำเงินของอียิปต์ที่มีแคลเซียม (Calcium) เป็นองค์ประกอบหลัก

หากจีนรับวิทยาการนี้มาจากอียิปต์ก็ยังหาเหตุผลไม่ได้ว่าเหตุใดจีนจึงไม่ใช้แคลเซียมเป็นพื้นเหมือนสีน้ำเงินของอียิปต์ ดังนั้น การใช้สีม่วงจีนน่าจะมาจากการคิดค้นและเป็นวิทยาการของจีนเอง โดยจากการศึกษาโบราณวัตถุในยุคใกล้เคียงกัน พบว่าเป็นผลพลอยได้จากการเล่นแร่แปรธาตุของนักพรตลัทธิเต๋าที่พยายามคิดค้นการผลิตหยกแก้วที่เชื่อว่าจะช่วยให้เป็นอมตะ

ถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นราว ค.ศ. 220 ก็กลับไม่พบสีม่วงจีนอีกเลย สันนิษฐานว่าถึงตอนนั้นสำนักคิดหรูเจียของขงจื่อก้าวขึ้นมามีอิทธิพลทางความคิดต่อราชสำนักและชาวจีน จนทำให้ลัทธิเต๋าและการเล่นแร่แปรธาตุเสื่อมความนิยมไป

เหล่านี้คือ เกร็ดความรู้เรื่อง “สี” จาก หุ่นดินเผา ณ สุสานจิ๋นซี 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สมชาย จิว. (2563). พลิกสุสาน อ่านจิ๋นซี. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2565