“คลองประเวศฯ” เป็นเหตุ หลวงทวยหาญ เกือบวางมวยกับ เจ้าพระยามหินทรฯ

ภาพประกอบเนื้อหา - คลองประเวศบุรีรมย์ในปัจจุบัน (ภาพจาก https https://www.matichon.co.th)

คลองประเวศบุรีรมย์ เป็นคลองขุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ให้ขุดต่อจากคลองพระโขนงไปเชื่อมกับแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้งหนึ่งคลองประเวศบุรีรมย์แห่งนี้แคยไปชนวนเหตุให้นายทหารหนุ่มกับผู้บัญชาการเกือบวางมวยกัน เรื่องราวมีดังนี้

เจ้าหมื่นไวยวรนารถ [1] ผู้บังคับการกรมทหารหน้า กราบถวายบังคมทูลลาหยุด พักราชการ เพื่อพักรักษาตัวอยู่ที่นาคลองประเวศบุรีรมย์ ตําบลศรีษะจระเข้ จังหวัดพระประแดง [สมุทรปราการในปัจจุบัน]  ถึงแม้ว่าเป็นเวลาที่ป่วยเช่นนี้ เจ้าหมื่นไวยวรนารถก็หาหยุดนิ่งอยู่เปล่าไม่ ได้ตรวจดูลําคลองประเวศบุรีรมย์ ขณะนั้นตื้นมาก เรือแพจะเดินขึ้นล่องค้าขายไม่ค่อยสะดวก

เมื่อเห็นเหตุการณ์เช่นนี้แล้ว เจ้าหมื่นไวยวรนารถจึงได้จัดการชักชวนกํานันผู้ใหญ่บ้านและราษฎรที่อยู่ในเขตต์แขวงเหล่านั้น ให้ป่าวร้องกันว่า ถ้าแม้ใครมีควายยินดีก็ให้ระดมมาช่วยกันซ่อมคลองตามระยะที่ตื้นเขิน โดยใช้วิธีเอาควายลุยโคลนไม่ให้ออกแม่น้ำ ส่วนอาหารการกินนั้นเจ้าหมื่นไวยวรนารถจะจัดหาเลี้ยงดูเอง

พวกกํานันผู้ใหญ่บ้านและราษฎร ก็พร้อมกันมีความยินดีเห็นชอบด้วย ใครมีควายก็นํามาใช้ในการขุดคลองนี้ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ก็สั่งให้ทําอาหารลงเรือปิกนิกใหญ่สองลํา ล่องตามไปเลี้ยงดูผู้ที่ทํางานนั้นให้อิ่มหนําสําราญ ในชั่ว 3 วันคลองที่ตนเป็นอยู่นั้นก็สําเร็จลึกลงไปอีกได้หลายศอกด้วย

เมื่อการขุดคลองสําเร็จลงแล้ว เจ้าหมื่นไวยวรนารถจึงทํารายงานถวายพระราชกุศลส่งเข้ามาทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีลายพระราชหัตถเลขาตอบ มีความพอพระราชหฤทัยในการสาธารณประโยชน์ที่ได้เกิดกระทําขึ้นนั้นด้วย

ฝ่ายหลวงทวยหาญ (พระยาพหลพลพยุหเสนา กิ่ม) [2] ซึ่งดูแลราชการทหารแทนตัวเจ้าหมื่นไวยวรนารถขณะที่ป่วยอยู่นั้น ได้ไปฟังราชการของกรมทหารหน้าที่จวนเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงผู้กํากับการทหารหน้า ขณะนั้นเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธํารงได้พูดจาติเตียนทหารหน้าขึ้นว่า “อ้ายพวกทหารหน้าและมันเก่งมันโกงทั้งนั้น เปรียบเหมือนกันทํานบใหญ่เอาไว้ก็ยังมีช่องอยู่ น้ำมันยังไหลรั่วอยู่เสมอๆ”

เมื่อหลวงทวยหาญได้ยินคําที่เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงพูดดูถูกทหารหน้าต่อหน้าตนเช่นนั้น ก็บันดาลโทสะขึ้นมารีบพูดขัดออกไปว่า “ใต้เท้าเป็นผู้ใหญ่พูดอะไรเช่นนั้น ทหารหน้าทุกๆ คนเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ไม่เคยคดโกงใครเลยสักคนเดียว อ้ายคนที่มันโกงนั่นแหละ คืออ้ายพวกสัสดี”

ครั้นเจ้าพระยามหินทรศักดิธํารงได้ยินคําที่หลวงทวยหาญรักษา กล่าวปรามาสขึ้นเช่นนั้น ก็มีความโกรธเคืองยิ่งนัก ลุกขึ้นกําหมัด แทบจะต่อยและร้องว่า “มึงจองหองมาดูถูกกูจนถึงบ้านที่เดียวหรือ มึงเป็นอ้ายบ้า กูก็เป็นอ้ายแบ้เหมือนกันล่ะวะ”

หลวงทวยหาญรักษาก็ผุดลุกขึ้นเตรียมตัวจะสู้ เมื่อเจ้าพระยามหินทรศักดิธํารงเห็นท่าทางหลวงหาญรักษาจะต่อสู้เอาจริงเอาจัง ก็ระงับโทสะลงแล้วพูดขึ้นว่า “กูเป็นผู้ใหญ่ กูไม่สู้กับมึงให้เสียเกียรติยศละ มึงกลับไปก่อนเถิด”

ครั้นหลวงทวยหาญรักษากลับไปแล้ว เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธํารงก็ทําเรื่องราวที่หลวงทวยหาญรักษาหมิ่นประมาทล้างอํานาจจนถึงจวนของท่านนั้น นําขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรือเร็วนำลายพระราชหัตถเลขาออกไปหาตัวเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ซึ่งขณะนั้นออกไปพักรักษาตัวอยู่ที่นาคลองประเวศบุรีรมย์ ตําบลศีรษะจระเข้ ให้เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในลายพระราชหัตถเลขานั้นมีว่า

“ให้พระนายไวยมาชําระอ้ายกิ่มของเจ้า อ้ายกิ่มมันไปทําบ้าทะเลาะ กับเจ้าพระยามหินทรเข้าแล้ว ให้เจ้าเข้ามาเป็นธุระจัดการระงับการวิวาทราบนี้ให้สงบลง”

ครั้นเจ้าหมื่นไวยวรนารถได้รับลายพระราชหัตถ์แล้วก็กลับเข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อเรียกตัวหลวงทวยหาญมาไล่เลี่ยง หลวงทวยหาญก็เล่าความที่เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงพูดจากดูหมิ่นทหารหน้าจึงเกิดเรื่องขึ้น  ให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถฟัง เจ้าหมื่นไวยวรนาถก็ทำเรื่อราวที่เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงกล่าวคำดูถูกทหารหน้าก่อน

หลวงทวยหาญจึงได้กล้าดูถูกท่านขึ้นเพราะถือเกียรติของทหารหน้า ทั้งนี้เป็นความผิดของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงเอง และเจ้าหมื่นไวยวรนาถจะจัดการห้ามหลวงทวยหาญมิให้เอะอะก่อการวิวาทต่อไป ความที่วิวาทกันนั้นก็สงบระงับๆ สมดังพระราชประสงค์ เจ้าหมื่นไวยวรนารถก็กลับคงรับราชการเป็นผู้บังคับการกรมทหารหน้าตามหน้าที่สืบไป

เชิงอรรถ

[1] เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม  แสงชูโต)

[2] หลวงทวยหาญรักษา (กิ่ม) ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระพหลพลพยุหเสนา (พ.ศ. 2428) และยศทหารเลื่อนเป็นว่าที่นายพันโท ต่อมาได้เป็นนายพันเอก และได้เลื่อนเป็น พระยาพหลพลพยุหเสนา (พ.ศ. 2438) นอกจากนี้ในสกุลนี้ ยังได้พระราชทินนาม “พระยาพหล” ถึง 3 คน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม) และบุตรชายอีก 2 คนของท่านคือ พระยาพหลโยธินรามินทรภักดี (นพ พหลโยธิน) และ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 2 ของประเทศ

ข้อมูลจาก

ประวัติของจอมพลและมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มาตรี (เจิม แสง-ชูโต), โรงพิมพ์ศรีหงส์ 28 มีนาคม 2504


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2562