ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
คลองสาน หนึ่งในย่านเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ที่ตั้ง “ศาลกวนอู” ที่ผู้คนนิยมกราบไหว้ขอพร รวมทั้งเป็นที่ตั้ง “คลองสาน พลาซ่า” แหล่งช้อปปิ้งในตำนานของฝั่งธนบุรี ชื่อนี้มีที่มาจากไหน?
คลองสานเป็นคลองขุดแต่โบราณ เริ่มตั้งแต่บริเวณปากคลอง แยกจากบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เลี้ยวขนานกับถนนสมเด็จเจ้าพระยา ไปเชื่อมกับคลองบ้านสมเด็จ ที่บริเวณหน้าวัดพิชยญาติการามวรวิหาร เชื่อมกับคลองบางไส้ไก่ และคลองบางกอกใหญ่ แล้วออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ อาจสันนิษฐานได้ว่า “คลองสาน” มาจาก “ประสาน” หมายถึงคลองหลายสายที่ไหลเชื่อมกัน และยังเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย
แต่ก็เป็นไปได้ว่า ย่านนี้มีที่มาจากคำว่า “ศาล” เพราะมีเรื่องเล่าสืบต่อกันว่า ในอดีตเคยมีศาลเจ้าเล็กๆ ตั้งอยู่ที่ปากคลอง
อีกเรื่องเกี่ยวกับคลองสานที่หลายคนอาจยังไม่ทราบหรือลืมเลือนไปแล้วก็คือ คลองสานมีชื่อเดิมว่า อำเภอบางลำพูล่าง ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่หน้าวัดทองธรรมชาติ เป็นเขตการปกครองของจังหวัดธนบุรี ก่อนจะเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น “บุปผาราม”
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอคลองสาน เพราะย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งอยู่ที่หน้าวัดทองนพคุณ ซึ่งอยู่ในเขตตำบลคลองสาน
พ.ศ. 2481 อำเภอคลองสานถูกลดฐานะลงเป็นกิ่งอำเภอคลองสาน ขึ้นกับอำเภอบางยี่เรือ ต่อมากิ่งอำเภอคลองสานมีประชากรเพิ่มขึ้น จึงตั้งขึ้นเป็นอำเภอคลองสานอีกครั้ง
เมื่อมีการรวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเข้าเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ใน พ.ศ. 2514 และเปลี่ยนเป็นกรุงเทพมหานครใน พ.ศ. 2515 อำเภอคลองสานจึงเปลี่ยนฐานะเป็น “เขตคลองสาน” อย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- “ถนนสมเด็จเจ้าพระยา” ย่านคลองสาน มีสมเด็จเจ้าพระยาท่านไหนบ้าง?
- “วงเวียนใหญ่” คือที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตาก แล้ว “วงเวียนเล็ก” อยู่ที่ไหน?
- “บางพลัด” ชื่อย่านในกรุงเทพฯ มาจากภาษามลายู แหล่งต้นกะพ้อ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. บางกอก บอกเล่า (เรื่อง). นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.), 2554.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2567