“บางพลัด” ชื่อย่านในกรุงเทพฯ มาจากภาษามลายู แหล่งต้นกะพ้อ?

สี่แยก บางพลัด
สภาพการจราจรบริเวณ แยกบางพลัด (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 23 กันยายน 2563)

“บางพลัด” เป็นหนึ่งในเขตของกรุงเทพมหานคร กินพื้นที่ฝั่งธนบุรี ที่มาของชื่อมีหลายข้อสันนิษฐาน บ้างก็ว่าอาจเพี้ยนมาจาก “Palas” (ปาลัส) ซึ่งเป็นภาษามลายู หมายถึงต้นกะพ้อ ชอบขึ้นในที่ลุ่ม ใบใช้ห่อขนมที่เรียกว่าข้าวต้มลูกโยน

บ้างก็ว่า มีที่มาจากตำนานเรื่องหนึ่งที่เล่าว่า ในสมัยอยุธยา ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้อพยพหนีภัยสงครามล่องเรือมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านคุ้งน้ำนี้ส่วนใหญ่เป็นที่สวน มีการขุดคลองและลำประโดงมากมายเพื่อชักน้ำเข้าสวน

ผู้ที่ล่องเรือเข้ามาในละแวกนี้ จึงมักพลัดหลง หาทางเข้าออกไม่ถูกอยู่บ่อยครั้ง ชาวบ้านจึงเรียกย่านนี้ว่า “บางพลัด” ซึ่งหมายถึงการพลัดหลง

หรือบ้างก็ว่า บางพลัดอาจหมายถึงการพลัดถิ่นของข้าราชการและไพร่พลจากกรุงศรีอยุธยา ที่อพยพหนีภัยสงครามคราวเสียกรุง ล่องลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา และมาตั้งถิ่นฐานใหม่บริเวณนี้ เนื่องจากไกลจากที่ตั้งทัพของทหารพม่า

บางพลัดปรากฏใน “นิราศภูเขาทอง” ของสุนทรภู่ ที่แต่งไว้เมื่อราว พ.ศ. 2371 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวสุนทรภู่เดินทางไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทองที่อยุธยา ผ่านทางแม่น้ำเจ้าพระยาว่า

ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง   มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน

เพราะรักใครใจจืดไม่ยืดยืน   จึงต้องขืนใจพรากมาจากเมือง

ถึงบางพลูคิดถึงคู่เมื่ออยู่ครอง   เคยใส่ซองส่งให้ล้วนใบเหลือง

ถึงบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง   ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน

แต่ไม่ว่าจะเป็นแหล่งต้นกะพ้อ พลัดหลง หรือพลัดถิ่น ก็ยังไม่พบเอกสารระบุที่มาของชื่อบางพลัดอย่างแน่ชัด

ทว่าเรื่องหนึ่งที่รู้แน่ๆ ก็คือ บางพลัดปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้นจึงถือเป็นย่านเก่าแก่ย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. บางกอก บอกเล่า (เรื่อง). นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสท.), 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2567