ชีวิตสาวชาววัง ใครว่าสบาย? อาหาร-เครื่องแต่งกายล้วนละเอียดซับซ้อน

ข้าราชสำนัก ฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ 4 กิน รับประทาน ชีวิตสาวชาววัง ราชสำนักฝ่ายใน สมัย รัชกาลที่ 4 อาหาร
ภาพตกแต่งเพิ่มเติมจากภาพลายเส้นข้าราชสำนักฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ 4 ภาพจากหนังสือ Travels in Siam, Cambodia and Laos 1858-1860 เขียนโดย Henri Mouhot

“ชีวิตสาวชาววัง” หรือผู้หญิงใน “ราชสำนักฝ่ายใน” ผู้คนที่อยู่นอกวังมักจะมองไปว่าช่างเป็นชีวิตที่มีความสุขสะดวกสบายน่าอิจฉาเสียนี่กระไร อยู่เฉย ๆ แต่งตัวสวย ๆ ไม่ต้องทำงานทำการก็มีที่อยู่ที่กินแสนสบาย

การมองเช่นนี้เป็นการมองของผู้ที่มีโอกาสได้รู้ได้เห็น ชีวิตสาวชาววัง อย่างฉาบฉวยผิวเผิน เพราะในความเป็นจริงแล้ว กล่าวได้ว่า “ราชสำนักฝ่ายใน” ทุกคนดำรงชีวิตอย่างมีระบบระเบียบแบบแผน เพราะได้ผ่านการกลั่นกรองประดิดประดอยคัดเลือกวิถีและสิ่งดีงามไว้ประพฤติปฏิบัติ ด้วยเหตุดังกล่าว สิ่งต่าง ๆ หรือแม้ชีวิตประจำวันที่คนในวังประพฤติปฏิบัติ จึงแตกต่างกับสตรีนอกวังโดยสิ้นเชิง นับแต่เรื่อง เครื่องแต่งกาย

หญิงชาวบ้านอาจซักผ้านุ่งผ้าแถบบิด ๆ แล้วก็ตากแห้ง เก็บจากราวมาก็อาจจะนุ่งเลย หรือพับเก็บ ถ้าพับดีหน่อยผ้าก็จะเรียบ ถ้าพับไม่ดีผ้าก็จะยับ แต่ผ้านุ่งห่มของชาววังนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือนอกจากจะเรียบ จีบเป็นจีบแล้ว ยังมีกลิ่นหอม หอมชนิดที่นั่งตรงไหนก็หอมอวลอยู่ตรงนั้นเป็นเวลานาน ทั้งนี้เพราะกรรมวิธีซักอบรีดของชาววังไม่เหมือนชาวบ้าน

ชาววังจะเริ่มทำผ้าให้หอมพร้อม ๆ กับการทำความสะอาด โดยใช้ต้นชะลูดหอมแห้ง ๆ ผสมลงไปในน้ำต้มผ้า เมื่อผ้าสะอาดก่อนที่จะนำขึ้นตากก็ยังใส่เม็ดลูกซัด ซึ่งจะคายยางออกมาเป็นเมือกเหนียว ๆ เหมือนแป้ง และยังมีกลิิ่นหอมอ่อน ๆ ทำให้ผ้านุ่มอยู่ตัวและเป็นมันวาวเวลารีด

เมื่อตากแห้งแล้วยังต้องมีกรรมวิธีอีกมาก คือ ที่เป็นจีบก็บรรจงจัดจีบให้เล็กใหญ่เท่า ๆ กันตามที่ต้องการ มัดหัวท้ายและตรงกลางให้จีบอยู่ตัว และนำเข้าเครื่องอัดจีบ ที่เป็นผ้าผืนก็แผ่เข้าไปในเครื่องหนีบ มีลูกบิดหมุนกลับไปกลับมาเหมือนเครื่องหมุนปลาหมึกบด จนผ้าเรียบแล้วจึงเอาเปลือกหอยเบี้ยหรือหินโมราขัดผ้าซ้ำแล้วซ้ำอีกจนผ้าทั้งผืนเรียบขึ้นมันเงาวับ

ต่อจากนั้นก็นำมาพับให้เรียบร้อย แล้วใส่หีบทำด้วยหนังแท้ข้างในบุหนังเรียบ ในหีบจะมีเครื่องหอม ฝาหีบอบก็ทากระแจะผสมน้ำปรุงหรือน้ำมันจันทน์จนหนา

นอกจากเรื่องการแต่งตัว เรื่องการกิน ก็ยิ่งมีความแตกต่างกันมากมาย แม้จะกินข้าวกินปลากินผักเหมือนกัน แต่กรรมวิธีในการประดิดประดอยให้เป็นอาหารและการจัดแต่งพร้อมรับประทานนั้นผิดกันไกล

ชาวบ้านกินปลาทอดก็ทำความสะอาดปลา เอาลงไปทอดในน้ำมันน้อยมากแล้วแต่ฐานะ สุกแล้วก็ใส่จาน เวลารับประทานต่างคนต่างแกะแยกเนื้อแยกก้างกันเอง หรืออย่างเอื้อเฟื้อก็แกะเนื้อให้กัน แต่ปลาทอดของชาววังนั้นมีกรรมวิธีและขั้นตอนที่ถี่ถ้วน เพื่อให้ได้ปลาทอดที่ทั้งสวยงามและสะดวกสบายต่อการรับประทาน

หรือหากจะรับประทานขนมหวานประเภท ลูกกวาด ชาวบ้านจะเอากะทิผสมน้ำตาลปึกลงกวนจนเหนียวก็จะได้ลูกกวาดอร่อยหวานมัน แต่ลูกกวาดของชาววังไม่ได้เป็นอย่างนั้น กรรมวิธีขั้นตอนซับซ้อนพิสดารกว่า

เริ่มจากต้องทำไส้ลูกกวาด มีเม็ดแตงโม เม็ดบัว ถั่วลิสง หรือถั่วเหลือง แกะเอาแต่เนื้อ คั่วให้สุกด้วยไฟอ่อน ๆ แล้วเอาน้ำตาลเชื่อมข้น ๆ ใส่สีอ่อน ๆ ให้สวย ๆ พรมให้ทั่วเมล็ดผลไม้เหล่านั้น เอานิ้วมือทั้งห้าลงคนกลับไปกลับมาในกระทะที่ร้อน จนกว่าน้ำตาลจะแห้งจับเม็ดผลไม้เป็นหนามแหลม

ถ้าเป็นพวกผัก ผลไม้ ชาววังก็จะมีวิธีรับประทานอย่างพิถีพิถัน ประณีตบรรจง เช่น เงาะ ลำไยก็จะคว้านเม็ดออกเหลือเนื้อใส ๆ สวย ๆ น้อยหน่าก็แกะเปลือก แงะเม็ดออกแต่ยังคงรูปร่างเป็นน้อยหน่า สับปะรดก็นำเนื้อมาเจียนจนเป็นรูปลูดสับปะรดเล็ก ๆ เอาแกนมาทำก้าน แล้วจึงเอากลับใส่ลงไปในลูกสับปะรดที่ยังคงรูปเป็นลูก ๆ อยู่

แม้แต่ การกินหมาก วิธีกินหมากของชาววังจะแตกต่างจากชาวบ้าน เริ่มแต่การจัดหมากเป็นคำ ชาวบ้านก็จะป้ายปูนที่พลูม้วน ๆ ใส่ปากกัดกร้วมตามด้วยหมากและเครื่องเคราต่าง ๆ แต่ชาววังต้องจัดต้องเจียนอย่างประณีตบรรจง ส่วนประกอบการกินหมากอย่างอื่น ๆ ก็ต้องพิถีพิถัน ท่าทางการกินหมากก็บอกได้เหมือนกัน ใครเป็นชาววัง ใครเป็นชาวบ้าน เพราะชาววังจะไม่บ้วนน้ำหมากพรวดพราด จะต้องค่อย ๆ บ้วนลงกระโถนทีละน้อย

ความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน “ชีวิตสาวชาววัง” นั้น เป็นเหตุให้ชาววังทุกคนไม่ได้มีชีวิตอย่างไร้สาระหรือปราศจากความหมาย เพราะเวลาที่ผ่านไปทุกนาที ชาววังทุกคนได้สั่งสมประสบการณ์ความรู้ เพื่อความเจริญแห่งปัญญา ซึ่งจะนำไปสู่ความงอกงามของศิลปะแขนงต่าง ๆ ทำให้เกิดความคิดการสร้างสรรค์ดัดแปลงจนลงตัว และหลายสิ่งหลายอย่างได้กลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากบทความ “ผู้หญิงชาววัง” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2539)


แก้ไขปรับปรุงในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุด เมื่อ 12 พฤษภาคม 2562