ชะตากรรมจักรวรรดิกรีก หลังสิ้น “อเล็กซานเดอร์มหาราช”

อเล็กซานเดอร์มหาราช
ภาพเขียนขบวนพระศพ และ ภาพโมเสกของ อเล็กซานเดอร์มหาราช (ภาพจาก Wikimedia Commons)

การสิ้นพระชนม์ของ อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) ด้วยวัยเพียง 33 ปี ที่เมืองบาบิโลน เมื่อปี 323 ก่อนคริสตกาล ส่งผลให้ จักรวรรดิกรีกมาเซโดเนีย ที่พระองค์สถาปนาขึ้นจากการพิชิตดินแดนมากมายสั่นคลอนทันที อาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลตั้งแต่กรีก เอเชียไมเนอร์ (เอเชียน้อย/ตุรกี) อียิปต์ ซีเรีย เมโสโปเตเมีย เปอร์เซีย เอเชียกลาง และตอนเหนือของอินเดีย เหล่านี้แทบอยู่ในภาวะสุญญากาศทางอำนาจทันที เพราะกษัตริย์หนุ่มแห่งมาซิดอนไม่มีทายาทและไม่เคยแต่งตั้งใครเป็นผู้สืบทอดของพระองค์อย่างเป็นทางการ

พระศพของอเล็กซานเดอร์มหาราช

ด้วยเหตุนี้ เหล่านายพลหรือขุนศึกของ อเล็กซานเดอร์มหาราช จึงลงมือ “แยก” จักรวรรดิของพระองค์ออกเป็นอาณาจักรของตนเองและทำสงครามขับเคี่ยวกันเองหลายครั้ง ขุนศึกกรีกในฐานะผู้ปกครองและชาวกรีกที่โยกย้ายเข้ามาอยู่ในดินแดนแห่งใหม่ที่พวกเขาพิชิตยังผสมผสานอารยธรรมกรีกเข้ากับอารยธรรมระดับสูงของดินแดนใต้ปกครอง โดยเฉพาะอารยธรรมอียิปต์และเมโสโปเตเมีย-เปอร์เซีย เกิดเป็นอารยธรรมลูกผสมขึ้นทั่วพื้นที่ (อดีต) จักรวรรดิกรีกมาเซโดเนีย นักประวัติศาสตร์เรียกช่วงเวลานี้ว่า สมัยเฮลเลนิสติก (Hellenistic period) มีกษัตริย์องค์สำคัญ คือ ปโทเลมีที่ 1 (Ptolemy I) แห่งอียิปต์ และเซลิวคุสที่ 1 (Seleucus I) แห่งซีเรียและเปอร์เซีย โดยอาณาจักรใหม่ที่เกิดขึ้น ได้แก่

อาณาจักรมาเซโดเนีย ของราชวงศ์แอนติโกนิด สถาปนาเมื่อราวปี 275 ก่อนคริสกาลโดย แอนติโกนุส โกนาตัส (Antigonus Gonatas) ขุนศึกชาวมาซิดอน ครอบคลุมพื้นที่ราชอาณาจักรมาเซโดเนียและนครรัฐบริวารบริเวณทะเลเอเจียนของกรีก

อาณาจักรอียิปต์ ของราชวงศ์ปโทเลมี สถาปนาโดย ปโทเลมี หรือฟาโรห์ปโทเลมีที่ 1 อดีตนายพลคนสำคัญของอเล็กซานเดอร์มหาราช อาณาจักรอียิปต์-กรีกนี้สืบทอดระบอบการปกครองซึ่งถอดแบบมาจากอียิปต์โบราณที่ปกครองแบบรวมศูนย์ มีอำนาจเหนือดินแดนอียิปต์ทั้งมวลบริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์

จักรวรรดิเซลิวซิด ของราชวงศ์เซลิวซิด สถาปนาโดย เซลิวคุส หรือกษัตริย์เซลิวคุสที่ 1 มีสถานะเป็น “จักรวรรดิ” เพราะครอบครองพื้นที่ของชาติพันธุ์จำนวนมากในดินแดนตั้งแต่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ตอนใต้ของเอเชียไมเนอร์ ซีเรีย เมโสโปเตเมีย เปอร์เซีย ไปจรดลุ่มแม่น้ำสินธุในอินเดีย ระเบียบการปกครองของเซลิวซิดยืดหยุ่นกว่าอียิปต์ เพราะอำนาจการควบคุมดินแดนส่วนใหญ่กระจายไปอยู่กับผู้ว่าการมณฑลและประเทศราช (Satrapies) ตามแบบฉบับจักรวรรดิเปอร์เซียเดิม

นอกจากอาณาจักรขนาดใหญ่เหล่านี้ ยังมี อาณาจักรเพอร์กามีน (Pergamene) ของ ยูเมเนส (Eumenes) เจ้านครเพอร์กามุม (Pergamum) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของคาบสมุทรอนาโตเลียหรือเอเชียไมเนอร์ และ อาณาจักรแบคเตรีย (Bactria) รัฐราชาธิปไตยของชาวกรีก บริเวณเติร์กเมนิสถานและอัฟกานิสถานในปัจจุบัน รวมถึงนครรัฐกับอาณาจักรกรีกขนาดเล็กอีกหลายแห่งบริเวณภาคเหนือของอินเดีย

ส่วนบริเวณคาบสมุทรกรีก บรรดานครรัฐหรือเมืองต่าง ๆ ล้วนปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ สันนิบาตอาเคียน (Achaean League) เมืองสำคัญ ได้แก่ ธีบส์, คอรินท์ และอากอส กับสันนิบาตเอโทเลียน (Aetolian League) บริเวณคาบสมุทรเพโลพอนีส ได้แก่ สปาร์ตากับเอเธนส์ นครรัฐเหล่านี้ปกครองด้วยระบอบคณาธิปไตยและทำสงครามกันทั้งระหว่างกลุ่ม ภายในกลุ่ม และร่วมมือกันเพื่อต่อต้านอาณาจักรกรีกเฮลเลนิสติกอื่น ๆ ด้วย

การพิชิตดินแดนในยุคแห่งการรณรงค์สงครามของ อเล็กซานเดอร์มหาราช มีส่วนสำคัญอย่างมากที่นำพาอารยธรรมกรีกไปยังดินแดนไกลโพ้นที่ชาวกรีกก่อนสมัยของพระองค์แทบไม่สามารถจินตนาการได้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกระแสการอพยพของชาวกรีกจำนวนมากไปยังอาณาจักรเฮลเลนิสติกทางตะวันออก เมื่อจักรวรรดิเมเซโดเนียสลายตัว พระราชวงศ์ของอเล็กซานเดอร์มหาราชถูกกวาดล้าง และสงครามชิงอำนาจของเหล่าขุนศึกดำเนินไปอย่างต่อเนื่องกว่า 70 ปี อีกความเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ อิทธิพลของนครรัฐต่าง ๆ บนคาบสมุทรกรีกลดลงอย่างมาก แม้แต่กรุงเอเธนส์ ศูนย์กลางอารยธรรมและบ่อเกิดภูมิปัญญากรีกยุคคลาสสิกยังเสื่อมบทบาทลง

ความเสื่อมของนครรัฐกรีกบน “แผ่นดินแม่” มีที่มาส่วนหนึ่งจากศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ของชาวกรีก หรืออารยธรรมกรีกเฮลเลนิสติกย้ายไปอยู่ในอาณาจักรทางตะวันออก โดยเฉพาะเมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) ในอียิปต์ ศูนย์กลางการปกครองของราชวงศ์ปโทเลมี และแอนติออค (Antioch) ของจักรวรรดิเซลิวซิด ศูนย์กลางอำนาจของของราชวงศ์เซลิวซิด รวมถึง เซลิวเซีย (Seleucia) นครหลวงแห่งใหม่ในภูมิภาคเมโสโปเตเมียที่กษัตริย์เซลิวคุสที่ 1 สถาปนาขึ้นแทนกรุงบาบิโลน

ก่อนหน้านั้น ยุคของอเล็กซานเดอร์มหาราชยังมีการสถาปนานครขนาดใหญ่และนิคมทหารของชาวกรีกกว่า 200 แห่งทั่วจักรวรรดิมาเซโดเนีย และสืบเนื่องถึงยุคเฮลเลนิสติก ราชวงศ์ปโทเลมีและเซลิวซิดยังมีนโยบายเน้นความแข็งแกร่งของกองทัพ พวกเขาจัดตั้งนิคมทหารขนาดใหญ่ทั่วพื้นที่ของตน นิคมเหล่านี้จึงพัฒนาไปสู่นครรัฐแบบกรีก มีทั้งตลาด วิหาร โรงละคร/มหรสพ โรงอาบน้ำสาธารณะ สนามกีฬา และโรงเรียน (Gymnasion) นครรัฐเหล่านี้ยังมีขนาดมหึมากว่านครรัฐกรีกแบบดั้งเดิมมาก ทั้งเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรมกรีกเฮลเลนิสติกในดินแดนตะวันออก

อาณาจักรเฮลเลนิสติกสลายตัว

อย่างไรก็ตาม ปลายศตวรรษที่ 3 และหลังล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล เค้าลางการสิ้นสุดของราชอาณาจักรเฮลเลนิสติกก็มาถึง เมื่อราชวงศ์แอนติโกนิดเกิดความขัดแย้งกับ สาธารณรัฐโรมัน (Roman Republic) และพ่ายแพ้ในสงครามกับโรมันอย่างต่อเนื่อง ส่วนราชวงศ์ปโทเลมีกับราชวงศ์เซลิวซิดก็ทำสงครามกันมาอย่างยาวนานเพื่อแย่งชิงพื้นที่บริเวณซีเรียและปาเลสไตน์ เมเซโดเนียกับอียิปต์เองยังขัดแย้งกันเรื่องการควบคุมทะเลอีเจียนด้วย

ขณะเดียวกัน จักรวรรดิเซลิวซิดก็ประสบปัญหาการควบคุมหัวเมืองและรัฐประเทศราช เกิดความแตกแยกจากภายใน เกิดภาวะจลาจลและการลุกฮือของเมืองขึ้นที่พยายามปลดแอกตนเอง พวกเขาสูญเสียมณฑลทางตะวันออกให้พวกสักกะ (Shakas) จากอินเดีย สูญเสียพื้นที่เมโสโปเตเมียให้พวกพาร์เทียน (Parthians) นักรบบนหลังม้าจากเอเชียกลาง จนเหลือพื้นที่ควบคุมเพียงบริเวณซีเรียถึงแม่น้ำยูเฟรตีสในเมโสโปเตเมียเท่านั้น

ปัญหาทับซ้อนเหล่านี้ทำให้อาณาจักรกรีกเฮลเลนิสติกทั้งหลายอยู่ในภาวะระส่ำระสายและไร้เสถียรภาพอย่างหนัก เมื่อมาเซโดเนียถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของโรมันเมื่อปี 149 ก่อนคริสตกาล สันนิบาตกรีกทั้งสองจึงทำการต่อต้านโรมันอยู่ระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายพ่ายแพ้จนหมดสภาพ สาธารณรัฐโรมันจึงสามารถผนวกนครรัฐกรีกเหล่านั้นได้ในปี 146 ก่อนคริสตกาล สมัยเฮลเลนิสติกซึ่งกินระยะเวลาตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของ อเล็กซานเดอร์มหาราช ในปี 323 ก่อนคริสตกาล จึงสิ้นสุดในปี 146 ก่อนคริสตกาล ที่โรมันประสบความสำเร็จในการควบรวมดินแดนกรีกอย่างสมบูรณ์

รัฐชาวกรีกบริเวณตอนเหนือของอินเดียและเอชียกลางก็ค่อย ๆ สลายตัวไป ส่วนสองอาณาจักรขนาดใหญ่ในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกเองถูกโรมันยึดครองได้สำเร็จในช่วง 1 ศตวรรษก่อนคริสตกาลเช่นกัน นั่นคือ จักรวรรดิเซลิวซิด (ที่ไม่เหลือสภาพจักรวรรดิแล้ว) ถูกโรมันยึดครองในปี 64 ก่อนคริสตกาล ส่วนอาณาจักรอียิปต์กลายเป็นรัฐอารักขาของโรมันและขึ้นตรงต่อกรุงโรมอย่างเป็นทางการในปี 30 ก่อนคริสตกาล หลังการสิ้นพระชนม์ของพระนางคลีโอพัตราที่ 7 (Cleopatra VII) ราชินีผู้โด่งดังแห่งอียิปต์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศาสตราจารย์จันทร์ฉาย ภัคอธิคม. (2548). ประวัติศาสตร์อารยธรรมกรีกและโรมัน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

Digital Maps of the Ancient World (Retrieved Feb 28, 2023) : Hellenistic Greece (323-146 BC). (https://digitalmapsoftheancientworld.com/ancient-history/the-history-of-ancient-greece/hellenistic-greece-323-146-bc/)

Antoine Simonin, The World History Encyclopedia (April 28, 2011) : Hellenistic Period. (https://www.worldhistory.org/Hellenistic_Period/)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2566