อเล็กซานเดอร์มหาราช คือ “กษัตริย์ที่ชอบแต่งหญิง” จริงหรือ?

ภาพโมเสก พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
ภาพโมเสกของอเล็กซานเดอร์มหาราช ที่ House of the Faun เมือง Pompeii

วันที่ 13 มิถุนายน เมื่อ 323 ปีก่อนคริสตกาลถูกบันทึกว่าเป็นสวรรคตของ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์แห่งมาซิโดเนีย ผู้พิชิตจักรวรรดิเปอร์เซีย ก่อนพากองทัพของพระองค์รุกรานดินแดนตะวันออกไปไกลถึงอินเดีย

เรื่องเกี่ยวกับพระองค์ในประเด็นเรื่อง “เพศสภาพ” เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจไม่น้อย เมื่อฮอลลีวูดได้หยิบยกเรื่องราวของพระองค์มาทำเป็นภาพยนตร์ รับบทโดย โคลิน ฟาร์เรลล์ พระเอกสุดเซ็กซี่ในยุคนั้น

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ในเวอร์ชันของฟาร์เรลล์ มักปรากฏกายด้วยกระโปรงสั้นสุดวาบหวิว และยังเป็นไบเซ็กชวล (bisexual) โดยมี เฮเฟสเตียน (Hephaestion) เป็นคู่รักเพศชายที่พระองค์เปรียบว่าเป็นดั่งเพโตรคลัส (Petroclus) สหายสุดสเน่หาของอคิลลิส (Achilles) เมื่อเฮฟาเอสเชียนยกย่องพระองค์ว่าเป็นดั่งวีรบุรุษในสงครามแห่งกรุงทรอยผู้นี้

หลายคนอาจจะมองว่า ในกรีกโบราณรักร่วมเพศเป็นเรื่องปกติไม่ใช่หรือ? ถ้าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์จะเป็นไบเซ็กชวลก็ไม่น่าจะแปลกซิ? จริงอยู่ แต่ความสัมพันธ์แบบชายรักชายอันเป็นที่ยอมรับของชาวกรีก ซึ่งเรียกว่า “Pederasty” อันหมายความว่า ความรักต่อเด็กผู้ชายนั้นมีเงื่อนไขทางอายุมาเกี่ยวข้องด้วย

ในความสัมพันธ์ลักษณะนี้ ชายที่สูงวัยกว่าจะเป็นผู้ที่แสดงบทบาทเชิงรุกในทางเพศต่อเด็กชายวัยรุ่น และเมื่อเด็กชายเหล่านี้ถึงวัยผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้แสดงบทบาทดังกล่าวกับเด็กชายวัยรุ่นยุคถัดไป การที่ผู้ชายที่บรรลุวัยวุฒิแล้วจะแสดงบทบาทในเชิงรับอย่างสตรีเพศ ย่อมไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป

ด้วยเงื่อนไขนี้ หากอเล็กซานเดอร์มหาราชจะเป็นไบเซ็กชวลก็เป็นเรื่องปกติตามยุคสมัย ถ้าพระองค์แสดงบทบาทความเป็นชายต่อคู่รักของพระองค์ แต่การที่พระองค์ “แต่งหญิง” หรือแสดงบทบาทเชิงรับในทางเพศย่อมไม่ใช่เรื่องที่เป็นปกติ

ข้อกล่าวหาว่าพระองค์แต่งหญิงนั้น ถ้าผู้เขียนจำไม่ผิดในเรื่องอเล็กซานเดอร์ที่ฟาร์เรลล์เล่นเป็นพระเอก แม้จะปรากฏว่าพระองค์มักสวมผ้าคล้ายประโปรงสั้นของผู้หญิงยุคใหม่ ก็ไม่มีคนตั้งข้อสงสัยว่าชุดดังกล่าวเป็นชุดแบบผู้หญิง แต่ข้อกล่าวหานี้เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในบันทึกของนักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกับพระองค์เองที่ชื่อว่า เอฟิพัส (Ephippus)

นักประวัติศาสตร์รายนี้อ้างว่า พระองค์ชอบแต่งกายเลียนแบบเทพีอาทิมีส (Artemis) นักธนูหญิงผู้เป็นเทพีแห่งการล่าสัตว์ของชาวกรีก บันทึกท่อนหนึ่งของเอฟิพัสอ้างว่า “เมื่อพระองค์ทรงรถม้า พระองค์จะทรงเครื่องแต่งกายด้วยผ้าแบบเปอร์เซีย เหนือไหล่ของพระองค์เป็นธนู และหอกล่าสัตว์”

โทนี สปอว์ฟอร์ธ (Tony Spawforth) จากเว็บไซต์ History Today อ้างว่า ชาวกรีกเชื้อชาตินิยมบางส่วนที่มีพฤติกรรมเหยียดชนชาติอื่นมักโจมตีเครื่องแต่งกายของชาวเปอร์เซียว่ามีลักษณะเหมือนพวกผู้หญิง เอฟิพัสเมื่อเห็นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์แต่งกายอย่างชาวเปอร์เซียออกไปล่าสัตว์ด้วยรถม้าและธนู จึงล้อเลียนว่า พระองค์แต่งกายเลียนแบบเทพีอาร์ทีมิส

สปอว์ฟอร์ธ กล่าวว่า นักประวัติศาสตร์รายนี้คงไม่ใช่แฟนของกษัตริย์ผู้พิชิต หลังพระบิดาของพระองค์ พระเจ้าฟิลิปทรงทำลายเมืองโอลินธัส (Olynthus) บ้านเกิดของเขาในปี 348 ก่อนคริสตกาล และชาวกรีกในยุคนั้นก็มิได้ชื่นชมราชวงศ์จากมาซิโดเนียเหมือนเช่นชาวกรีกในยุคปัจจุบัน สำนวนของเอฟิพัสที่กล่าวถึงพระเจ้าอเล็กซานเดอร์จึงเป็นไปในเชิงเสียดสีเช่นนั้น

ส่วนสาเหตุที่พระองค์แต่งกาย ทรงรถม้าออกล่าสัตว์อย่างชาวเปอร์เซีย สปอว์ฟอร์ธเชื่อว่า พระองค์ทำไปเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับผู้อยู่ใต้ปกครองของพระองค์ มากกว่าจะเป็นเรื่องรสนิยมในการแต่งกาย หรือรสนิยมทางเพศของพระองค์

ด้วยเหตุนี้ ข้อกล่าวหาที่ว่า พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช นิยม “แต่งหญิง” อย่างที่นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของพระองค์กล่าวหา จึงน่าจะเป็นเรื่องของการล้อเลียนส่อเสียดเสียมากกว่า ส่วนรสนิยมทางเพศของพระองค์จะเป็นเช่นใดนั้น ผู้เขียนคงไม่กล้าสรุป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Spawforth, Tony. “Alexander: Cross-Dressing Conqueror of the World”. History Today. Online. <http://www.historytoday.com/…/alexander-cross-dressing-conq…>


ปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2562 และปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2566