5 ผู้พิชิตโลกยุคโบราณ อายุเท่าไรตอนครองอำนาจสูงสุด จนถึงวัยสิ้นชีพ

ภาพเขียนผู้นำกลุ่มกอล ยอมจำนนต่อจูเลียส ซีซาร์ ในยุทธการอลีเซีย 52 ปีก่อนคริสตกาล วาดโดย Lionel Royer, 1899 (ลักษณะของผู้นำกอลและรายละเอียดของยุทโธปกรณ์ ยังถูกตั้งคำถามว่าไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามยุคสมัย)

เส้นทางของ 5 ผู้ที่อยากครองโลกในอดีต บุคคลเหล่านี้เป็นทั้งนักรบ นักการทหาร ผู้พิชิต และมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ พวกเขาอายุเท่าไรกันบ้าง ณ ตอนที่อยู่บนจุดสูงสุดของอำนาจและตอนสิ้นชีพ บางคนพร้อมด้วยอำนาจและสรรพกำลังตั้งแต่อายุยังน้อย แต่บางคนผ่านเรื่องราวอันทรหดก่อนไปถึงอำนาจสูงสุดของพวกเขา ไปดูวิถีแห่งอำนาจของ ผู้พิชิต 5 คนที่โด่งดังเหล่านี้กัน

อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great, ปีที่ 356-326 ก่อนคริสตกาล)

กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่แห่งมาซิโดเนีย จอมทัพอัจฉริยะด้านการทหารแห่งยุค ปีที่ 336 ก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์ฯ สืบทอดตำแหน่งราชาแห่งมาซิโดเนียต่อจากบิดาด้วยวัย 20 ปี พร้อมรับมรดกในฐานะผู้ปกครองดินแดนกรีกทั้งมวล 2 ปีต่อมาก็ทรงเปิดฉากสงครามกับจักรวรรดิเปอร์เซียของจักรพรรดิดาริอุสที่ 3 (Darius III)

ปีที่ 330 ก่อนคริสตกาล หลังทำศึกขับเคี่ยวกับจักรวรรดิเปอร์เซีย กองทัพกรีกของพระองค์รุกคืบจากตะวันตกมาถึงใจกลางจักรวรรดิเปอร์เซียทางตะวันออก อเล็กซานเดอร์มหาราชกษัตริย์หนุ่มชาวกรีกอายุ 26 ปี ทรงพิชิตและสั่งทำลายนครหลวง “เพอร์ซโปลิส” เป็นผลให้จักรวรรดิเปอร์เซียอันยิ่งใหญ่ล่มสลายลงอย่างสมบูรณ์

อเล็กซานเดอร์มหาราชสวรรคตในเดือนมิถุนายน 326 ปีก่อนคริสตกาลด้วยวัยเพียง 33 ปี นำมาซึ่งข้อสันนิษฐานมากมายเกี่ยวกับสาเหตุการสิ้นพระชนม์ ทั้งถูกลอบวางยาพิษ บ้างว่าเพราะตรากตรำศึกหนักอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทรงดื่มจัด พระวรกายทรุดโทรม จึงอาจสิ้นพระชนม์ด้วยโรคภัยแทรกซ้อน

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้พิชิต
ภาพโมเสกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ในศึกแห่งอิสซัส (Battle of Issus) ภาพโดย Berthold Werner, via Wikimedia Commons

จิ๋นซีฮ่องเต้ (Qin Shi Huang, ปีที่ 259-210 ก่อนคริสตกาล)

ปฐมจักรพรรดิและผู้สถาปนาราชวงศ์แรกของจีนที่รวมอำนาจการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างสมบูรณ์ ต้นกำเนิดตำแหน่ง “หวง” หรือหวงตี้ (ฮ่องเต้) อันหมายถึง จักรพรรดิ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ยิ่งใหญ่กว่าอ๋อง (กษัตริย์) ที่ชาวจีนเคยใช้ในอดีต ก่อน “ฮ่องเต้” จะกลายเป็นตำแหน่งที่พระเจ้าแผ่นดินจีนใช้สืบต่อกันมาอีกกว่า 2,000 ปี

ราวปีที่ 246-247 ก่อนคริสตกาล “อิ๋งเจิ้ง” สืบทอดตำแหน่งอ๋องต่อจาก “ฉินจวงเซียงอ๋อง” เป็นอ๋องแห่งแคว้นฉินด้วยวัยเพียง 12-13 ปี ระหว่างปีที่ 230-221 ก่อนคริสตกาล ฉินอ๋อง ทำสงครามเอาชนะรัฐใหญ่อื่น ๆ ในจีนจนสำเร็จ ยุติยุค “รณรัฐ” อย่างสมบูรณ์ ทุกแคว้นอยู่ภายในการปกครองโดยมีศูนย์กลางคือ รัฐฉิน

ปีที่ 221 นั่นเอง ฉินอ๋องในวัย 38 ปี อ้างสิทธิ์ “อาณัติแห่งสวรรค์” เพื่อปกครองแผ่นดินจีนทั้งปวง เฉลิมพระนาม “จิ๋นซีฮ่องเต้” หรือ “ฉินสื่อหวง” เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกของจีน แม้จะทรงพยายามอย่างหนักเพื่อเสาะหา “น้ำอมฤต” ตลอดพระชนม์ชีพหลังจากนั้นเพื่อมีชีวิตเป็นอมตะ แต่สุดท้ายจิ๋นซีฮ่องเต้ก็สวรรคตในปี 210 ก่อนคริสตกาล ด้วยพระชนม์มายุ 49 ปี

จิ๋นซีฮ่องเต้ ผู้พิชิต
จิ๋นซีฮ่องเต้ วีรบุรุษที่เกิดจากสถานการณ์ช่วงเสื่อมของราชวงศ์โจวตะวันตก รวบรวมเมืองต่างๆ ขึ้นเป็นจักรวรรดิเอกภาพ

จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar, ปีที่ 100-44 ก่อนคริสตกาล)

แม่ทัพ นักปกครอง รัฐบุรุษ และเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่ของโรมัน จูเลียส ซีซาร์ ในวัย 40 ปี เข้าสู่ถนนการเมืองด้วยการสร้างพันธมิตรกับปอมเปย์ (Pompey) และคลาสซุส (Crassus) ปีที่ 51 ก่อนคริสกาล ขณะอายุ 49 ปี เขาประสบความสำเร็จในสงครามกอล (Gallic War) นำกองทัพจากคาบสมุทรอิตาลีพิชิตดินแดนฝรั่งเศสในปัจจุบัน เป็นผลให้อาณาเขตของโรมันขยายไปถึงช่องแคบอังกฤษและแม่น้ำไรน์ นำไปสู่การยึดครองบางส่วนของบริเตน (เกาะอังกฤษ)

อำนาจของจูเลียส ซีซาร์สร้างความไม่พอใจแก่วุฒิสภาที่กรุงโรม เกิดเป็นสงครามกลางเมืองในสาธารณรัฐโรมันขึ้น และเป็นฝ่ายซีซาร์ที่สามารถกำราบฝ่ายตรงข้ามพร้อมกุมอำนาจเหนือวุฒิสมาชิกได้ อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคม ปีที่ 44 ก่อนคริสตกาล หลังการครองอำนาจเบ็ดเสร็จในสาธารณรัฐและประกาศตนเป็นเผด็จการตลอดชีพ (Dictator perpetuo) จูเลียส ซีซาร์ ในวัย 55 ปี (ยังไม่ 56 ปีบริบูรณ์ เนื่องจากเกิดเดือนกรกฏาคม) ถูกรุมสังหารโดยเหล่าวุฒิสมาชิกและคนใกล้ตัวอย่างอุกอาจระหว่างการประชุมสภาซีเนท

กระนั้น ด้วยบารมีที่จูเลียส ซีซาร์สั่งสมมาตลอดชีวิตเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่สาธารณรัฐ เป็นปัจจัยหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบ “สาธารณรัฐ” สู่ “จักรวรรดิ” ในท้ายที่สุด เพราะทายาทของเขา คือ ออคเตเวียน หรือจักรพรรดิออกุสตุส (Augustus) จักรพรรดิองค์แรกของจักรวรรดิโรมันนั่นเอง

พระเจ้าอโศกมหาราช (Ashoka the Great, ปีที่ 304-232 ก่อนคริสตกาล)

จักรพรรดินักรบแห่งราชวงศ์เมาริยะ มีชื่อเสียงด้านความโปรดปรานสงครามและการพิชิตอาณาจักร รวมถึงความโหดร้ายและความบาดหมางกับเหล่าคณาญาติและพี่-น้อง ขณะเดียวกันพระองค์เป็นที่รู้จักด้วยบทบาทผู้มีส่วนสำคัญในเผยแผ่พุทธศาสนาไปยังดินแดนต่าง ๆ นอกชมพูทวีปหรืออินเดีย

ปีที่ 268 ก่อนคริสตกาล ขณะอายุ 36 ปี พระเจ้าอโศกฯ ได้เป็นจักรพรรดิแห่งเมาริยะ ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณาจักรทรงอิทธิพลที่สุดในอินเดียจากการวางรากฐานของพระอัยกา คือพระเจ้าจันทรคุปต์ (Chandragupta) ก่อนเถลิงราชสมบัติพระเจ้าอโศกฯ ได้กวาดล้างบรรดาพี่-น้องทั้งหมดเพื่อกำจัดเสี้ยนหนามทางอำนาจของพระองค์ จากนั้นทรงขยายอำนาจอาณาจักรออกไปกว้างไกลกว่าเดิม ทำให้จักรวรรดิเมาริยะในสมัยพระองค์มีอาณาเขตตะวันตกถึงดินแดนอัฟกานิสถาน และตะวันออกถึงอ่าวเบงกอลในบังกลาเทศ

ปีที่ 260 ก่อนคริสตกาล พระเจ้าอโศกมหาราชในวัย 44 ปี สามารถพิชิตอาณาจักรกลิงคะ (Kalinga) ในสมรภูมิริมแม่น้ำดายา แต่เกิดสำนึกบาปเมื่อแลเห็นคนนับแสนสิ้นชีพในศึกนั้น จึงปวารณาตนขอเลิกล้มการทำสงครามและล้างผลาญชีวิต ก่อนจะสิ้นพระชนม์หลังอายุล่วง 72 ปี

พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้พิชิต
ภาพสลักบุคคลสำคัญ สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นพระเจ้าอโศกมหาราช ศิลปะอมราวดี ประเทศอินเดีย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๓ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

เจงกิสข่าน (Genghis Khan, ค.ศ. 1162-1227)

ข่านผู้ยิ่งใหญ่แห่งมองโกล ปฐมกษัตริย์ และบิดาแห่งการรวมชาติมองโกเลีย หนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงในเรื่องการทำสงครามและพิชิตดินแดนที่ถูกล่าวถึงมากที่สุด เจงกิสข่าน หรือ “เตมูจิน” ผ่านเรื่องราวสุดทรหดในวัยเด็กและวัยหนุ่ม ทั้งถูกจับเป็นทาส พรากคู่ครอง พ่ายแพ้สงคราม และหลบหนีไปพึ่งผู้มีอำนาจมากกว่า ก่อนจะสร้างตัวและสามารถรวบรวมบรรดาชนเผ่าเร่ร่อนที่กระจัดกระจายเป็นกลุ่มทั่วมองโกเลีย ตอนเหนือของจีน และบางส่วนของเอเชียกลางจนเป็นหนึ่งเดียวก่อนสถาปนาอาณาจักรมองโกลได้สำเร็จในปี 1206 ขณะอายุ 44 ปี

ไม่เพียงเท่านั้น ข่านนักรบองค์นี้ยังแผ่ขยายจักรวรรดิมองโกลออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลกว่าค่อนโลก สามารถพิชิตราชวงศ์จินของพวกเจอร์เชน (Jurchen) ที่ครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือและภาคกลางอันอุดมสมบูรณ์ของจีน ปราบราชวงศ์เหลียวตะวันตกแห่งอาณาจักรคาราคิไต (Qara Khitai) บริเวณตะวันตกของจีน ก่อนจะกำราบจักรวรรดิควาเรซม์ (Khwarazmian) แห่งเปอร์เซียในปี 1224 ในวัย 62 ปี

เจงกิสข่านประสบความสำเร็จในระดับที่ไม่เคยมีผู้นำชนเผ่าเร่ร่อนเผ่าใดจากดินแดนยูเรเซียสามารถพิชิตอาณาจักร-อารยธรรมระดับสูงและมั่งคั่งขนาดนี้มาก่อน ข่านแห่งมองโกลสิ้นพระชนม์ในอีก 3 ปีต่อมาหลังการพิชิตควาเรซม์ด้วยสาเหตุอันคลุมเครือระหว่างการปราบกบฏภายในจักรวรรดิ

เจงกิสข่าน ผู้พิชิต
เจงกิสข่าน ปฐมกษัตริย์แห่งจักรวรรดิมองโกล จากสมุดภาพรวมภาพจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หยวน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงไทเป

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Amulya Chandra Sen, Encyclopaedia Britannica : Ashoka, emperor of India. (Online)

Arnold Joseph Toynbee, Encyclopaedia Britannica : Julius Caesar, Roman ruler. (Online)

CONN IGGULDEN, the Daily Mail : Ten of the greatest: Historical conquerors. (Online)

Charles R. Bawden, Encyclopaedia Britannica : Genghis Khan, Mongol ruler. (Online)

Claudius Cornelius Müller, Encyclopaedia Britannica : Qin Shi Huang, emperor of Qin dynasty. (Online)

The Editors of Encyclopaedia Britannica, Encyclopaedia Britannica : Alexander the Great Timeline. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2565