เหตุการณ์สังหาร “ซีซาร์” และสาธารณรัฐโรมันหลังสิ้นจอมเผด็จการ

จูเลียส ซีซาร์ โรมัน วุฒิสมาชิก สภาซีเนท ลอบสังหาร
The Death of Julius Caesar เหตุการณ์รุมสังหารซีซาร์, ผลงาน Vincenzo Camuccini ราวปี 1804-1805 (ภาพโดย Rlbberlin ใน Wikimedia Commons)

15 มีนาคม ปีที่ 44 ก่อนคริสตกาล จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) แม่ทัพ นักการเมือง รัฐบุรุษ และจอมเผด็จการผู้โด่งดังของ โรมัน ถูกรุมสังหารอย่างอุกอาจกลางวันแสก ๆ ใจกลางกรุงโรม

แม้จะถูกนิยามว่าเป็น “ผู้เผด็จการ” (Dictator) แห่ง โรมัน แต่การตายของซีซาร์ไม่ได้เกิดจากการกระทำของฝูงชนหรือการลุกฮือของชาวโรมันผู้ต่อต้านเขา กลับกัน ก่อนสิ้นชีพเขายังได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ประชาชน และเปรียบดังสัญลักษณ์แห่งความเกริกเกียรติเกรียงไกรของสาธารณรัฐโรมัน 

ชีวิตของ จูเลียส ซีซาร์ จบสิ้นลงโดยน้ำมือของ Senators หรือเหล่า “วุฒิสมาชิก”

อันที่จริง วุฒิสภา (Senate) คือองค์กรทางการเมืองที่ (ควร) มีอิทธิพลสูงสุดในการปกครองระบอบสาธารณรัฐ นั่นเป็นสาเหตุทำให้วุฒิสมาชิกไม่พอใจคะแนนนิยมของซีซาร์ รวมถึงอิทธิพลเหนือวุฒิสภา พื้นที่เดียวที่พวกเขาสามารถใช้อำนาจกำหนดนโยบายและทิศทางของสาธารณรัฐได้ นำไปสู่การลอบสังหารที่ถูกกล่าวขานถึงมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์

เกิดอะไรขึ้นบ้างในวันนั้น? วันที่นักการเมืองกลุ่มหนึ่งประสบความสำเร็จในการฉุดกระชากเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ไปพบยมทูต…

ก่อนเหตุการณ์ดังกล่าว ปีเดียวกันนั้น จูเลียส ซีซาร์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “Dictator for Life” หรือ ผู้เผด็จการตลอดชีพ ทำให้เขามีอิทธิพลสูงสุดในสาธารณรัฐโดยสมบูรณ์ ซีซาร์มาถึงจุดนี้ได้เพราะเขาสามารถเผด็จศึกในสงครามกับ ปอมเปย์ (Pompey) ศัตรูทางการเมืองคนสำคัญเมื่อ 4 ปีก่อน ปิดฉากสงครามกลางเมืองระหว่างเหล่าผู้นำทัพระดับสูงของ โรมัน ที่ช่วงชิงความเป็นหนึ่งกันมาอย่างยาวนาน

ความคิดเรื่องการกำจัดซีซาร์ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในมุมมืด วุฒิสมาชิกหวาดระแวงอิทธิพลของซีซาร์ที่นับวันจะเพิ่มพูนจนไร้เทียมทาน ยิ่งสิ้นปอมเปย์ อิทธิพลเดียวที่มีกำลังพอจะคานอำนาจกับซีซาร์ได้ก็พลันสลายไปด้วย พวกเขาจึงพูดคุยกันว่า หากไม่รีบกำจัดซีซาร์ บุรุษผู้นี้จะทำให้สาธารณรัฐกลายเป็นราชอาณาจักรที่ปกครองโดยคนคนเดียวในท้ายที่สุด ซึ่งเท่ากับทำลายระบบสภาจนสูญสิ้น แต่ประชาชนทั้งรักและเทิดทูนซีซาร์จากวีรกรรมของเขา ที่เคยนำทัพไปพิชิตดินแดนมากมายให้มาเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐ

ภาพเขียนผู้นำกลุ่มกอล ยอมจำนนต่อจูเลียส ซีซาร์ ในยุทธการอลีเซีย 52 ปีก่อนคริสตกาล วาดโดย
Lionel Royer, 1899 (ลักษณะของผู้นำกอลและรายละเอียดของยุทโธปกรณ์ ยังถูกตั้งคำถามว่าไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามยุคสมัย)

วุฒิสมาชิกจึงมองไม่เห็นหนทางใดในการขจัดอำนาจของซีซาร์ นอกจากทำให้เขาไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไป…

ลางสังห(า)รณ์

มาคุส จูนิอุส บรูตุส (Marcus Junius Brutus) หนึ่งในผู้สมรู้ร่วมคิดลังเลใจไม่น้อยกับแผนการนี้ บรูตุสเคยรับใช้ปอมเปย์ก่อน แต่ซีซาร์อภัยโทษให้เขาหลังสงครามยุติลง รวมถึงมอบสิทธิ์ในวุฒิสภาอันทรงเกียรติ บรูตุสจึงต่อสู้กับความคิดในหัวว่าจะทรยศบุรุษผู้ดึงเขาขึ้นจากบ่อแห่งการประหัตประหารได้จริงหรือ แม้นั่นหมายถึงการปกป้องสาธารณรัฐโรมันก็ตาม

กระนั้น บรูตุสเองตระหนักแล้วว่าสถานะอันปราศจากภัยคุกคาม ทำให้ซีซาร์เมินเฉยต่อการดำรงอยู่ของสภาเกินไปเสียหน่อย วุฒิสมาชิก (รวมถึงตัวเขา) สัมผัสได้อย่างจริงจังว่าถูกซีซาร์คุกคามอย่างเงียบ ๆ คล้ายถูกผลักไสให้ไร้ตัวตนในสาธารณรัฐ… ท้ายที่สุด บรูตุสตัดสินใจเป็นส่วนหนึ่งในผู้ร่วมก่อการ

สถานการณ์มาถึงจุดที่ผู้ก่อการต้องเร่งลงมือ แม้วุฒิมาชิกหรือคณะผู้ก่อการจะมั่นใจว่าแผนการยังไม่แพร่งพรายไปถึงหูซีซาร์ แต่เจตจำนงดังกล่าวมีคนรู้เห็นมากเกินไป และพวกเขาอาจถูกเปิดโปงเมื่อใดก็ได้ 

แรกทีเดียววุฒิสมาชิกตั้งใจจะสังหารซีซาร์ในวันเลือกตั้งประจำเขตมาทิอุส (Campus Martius) แต่ปรากฏว่าซีซาร์เรียกประชุมสภาเป็นวาระพิเศษในวัน Ides of March หรือวันที่ 15 มีนาคม ตามปฏิทินโรมัน ซึ่งจะมาบรรจบก่อนวันเลือกตั้ง ผู้ก่อการจึงเปลี่ยนวันปฏิบัติการมาเป็นวันนั้นแทน

นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกชื่อ พลูทาร์ค (Plutarch) ตั้งข้อสังเกตเชิงเหน็บแนมในเรื่องนี้ว่า ซีซาร์ทำพลาดอย่างมหันต์ตั้งแต่การเลือกสถานที่ประชุมแล้ว เพราะมันคือ คูเรีย (Curia) หรือ “Curia of Pompey” อาคารหลังเก่าที่ปอมเปย์เคยเป็นเจ้าของ ใกล้กันนั้นยังเป็นโรงละครขนาดใหญ่ที่สร้างภายใต้การอุปถัมภ์ของปอมเปย์อีกเช่นกัน จะอะไรดลใจไม่ทราบ แต่อยู่ ๆ ซีซาร์ก็เอาตัวเองไปอยู่ในถิ่นเก่าของอริคนสำคัญที่สุดในชีวิตเสียอย่างนั้น

เช้าวันที่ 15 มีนาคม บรูตุสร่ำลาภรรยาของตนก่อนไปเข้าร่วมการประชุมตามกำหนด เขาซ่อนมีดสั้นไว้ใต้เสื้อคลุม ส่วนภรรยาได้แต่หวาดวิตกว่าอาจเกิดเรื่องเลวร้ายตามมา และขอร้องให้บรูตุสล้มเลิกการเข้าร่วมประชุม ถึงอย่างนั้น สุดท้ายทั้งบรูตุสและผู้สมรู้ร่วมคิดก็มารวมตัวกันที่คูเรียและเฝ้ารอการมาถึงของผู้เผด็จการของสาธารณรัฐ…

ในวันนั้น จูเลียส ซีซาร์ มาสาย อันที่จริงเขาอยู่ที่บ้านตลอดทั้งเช้า เพราะรู้สึกเป็นกังวลและไม่สบายตัว เขาฝันแปลก ๆ คล้ายมีลางบอกเหตุบางอย่างตลอด 2-3 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะคืนก่อนนั้น ขณะนอนเคียงข้างคาลเปอร์เนีย (Calpurnia) ภรรยาของเขา จู่ ๆ หน้าต่างและประตูทุกบานของห้องก็เปิดออก ซีซาร์สะดุ้งตื่นและตะลึงพรึงเพริดด้วยความสับสน มีเสียงจากภายนอกและแสงจากดวงจันทร์ที่ส่องมายังตัวเขา จากนั้นพบว่าภรรยายังอยู่ในอาการหลับลึกพร้อมละเมอเป็นเสียงครวญคราง ซีซาร์ทราบในภายหลังว่าคาลเปอร์เนียฝันถึงเขาขณะถูกสังหารจนสิ้นลมในอ้อมแขนของเธอเอง เป็นสาเหตุของการครวญคราง เพราะเธอกำลังร่ำไห้ถึงเขา

ซีซาร์หวาดผวาไม่น้อยกับลางบอกเหตุนี้ คาลเปอร์เนียเองไม่สบายใจและรบเร้าให้เขายกเลิกการประชุมนี้เสีย เขาจึงมอบหมายให้ มาร์ค แอนโทนี (Mark Antony) คนสนิทและพันธมิตรคนสำคัญ ไปแจ้งเลื่อนการประชุม แต่ เดซิมุส อัลบินุส (Decimus Albinus) หนึ่งในพันธมิตรที่ซีซาร์ไว้วางใจที่สุดกลับมีส่วนในแผนการนี้ เขาอยู่ที่บ้านของซีซาร์ด้วยและเตือนว่า หากเรียกประชุมวาระพิเศษไม่ควรเลื่อนการประชุมกะทันหันเช่นนี้ ทั้งกระซิบกระซาบว่าวุฒิสภาเล็งประกาศให้ซีซาร์เป็นกษัตริย์ในการประชุมนี้ เขาจึงควรไปปรากฏตัว หาไม่ย่อมเท่ากับดูถูกเจตนารมณ์ของวุฒิสมาชิก การเลื่อนประชุมด้วยเหตุเพราะลางไม่ดียังก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่อ่อนแอด้วย

ได้ผล… ซีซาร์ตัดสินใจไปร่วมประชุม

มีบันทึกที่เกี่ยวเนื่องเหตุการณ์นี้ว่า ซีซาร์เคยถูกนักพยากรณ์ผู้หนึ่งเตือนว่า “จงระวัง Ides of March!” เขาพบนักพยากรณ์คนนั้นอีกครั้งระหว่างเดินทางไปยังคูเรีย ซีซาร์ทักทายกึ่งล้อเลียนว่า “Ides มาแล้ว” ปรากฏว่านักพยากรณ์ตอบกลับมาว่า “พวกเขามาแล้ว แต่ยังไม่ไป…” ไม่รู้ว่าผู้ที่เพิ่งพบเหตุการณ์ประหลาด ๆ มาอย่างซีซาร์จะรู้สึกอย่างไรกับการโต้ตอบแบบนี้

ขณะเดียวกัน ณ อาคารคูเรีย บรูตุสเฝ้ารอการมาถึงของผู้มีพระคุณ (ที่เขาจะร่วมในแผนสังหาร) ได้รับข้อความด่วนแจ้งมาว่าภรรยาของตนเสียชีวิตแล้ว เธอไม่มีโอกาสได้รู้ว่าสามีก่อการสำเร็จหรือไม่ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรื่องราวทั้งหมดจะจบลงอย่างไร แต่สามีของเธอยังยึดมั่นในแผนการทั้งหมดอยู่

เมื่อซีซาร์มาถึงคูเรีย เขาตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่อนุมัติโครงการใด ๆ ที่ถูกเสนอในที่ประชุม เพราะยังกังกลเรื่องลางไม่ดีอยู่ โพปิลลิอุส ไลนัส (Popillius Laenas) วุฒิสมาชิกคนหนึ่งออกมาต้อนรับเขาตอนลงจากรถม้า เขาไม่ได้ร่วมก่อการ แต่ทราบเรื่องราวทั้งหมด และเพิ่งอวยพรบรูตุสให้บรรลุแผนที่วางไว้ก่อนออกมายืนสนทนากับซีซาร์ด้านหน้าคูเรีย

กลุ่มผู้ก่อการไม่รู้ว่าไลนัสพูดคุยอะไรและซีซาร์ คลาสซิอุส (Cassius) หนึ่งในผู้นำการก่อการและผู้สมรู้ร่วมคิดทั้งหมดจดจ่ออยู่กับเหตุการณ์นี้อย่างยิ่ง มันอาจเป็นการ “แฉ” แผนการทั้งหมดของพวกเขา วุฒิสมาชิกเหล่านี้ถือมีดสั้นซ่อนไว้ใต้เสื้อคลุมเรียบร้อยแล้ว บรูตุสมองเห็นว่าไลนัสกำลังร้องบางสิ่งอย่างกระตือรือร้นจากซีซาร์ แต่เขายังคงเยือกเย็นกับเรื่องราวตรงหน้า ผู้ก่อการทั้งหมดจึงยังคงคอยท่าทีต่อไป ไลนัสปรึกษาเรื่องส่วนตัวกับซีซาร์เท่านั้น เขาบอกว่ามีธุระเร่งด่วนจึงไม่สามารถร่วมประชุมได้ก่อนร่ำลาแล้วจากไป

ซีซาร์เดินมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวอาคาร มาร์ค แอนโทนี ถือเป็นนายทหารผู้แข็งแกร่งที่สามารถปกป้องซีซาร์ได้ดีที่สุด แต่เขาถูกกันให้อยู่ข้างนอก เป็นเดซิมุส อัลบินุส ที่รั้งเขาไว้ ซีซาร์จึงเดินเข้าสู่ “ลานสังหาร” ซึ่งบัดนี้เนืองแน่นไปด้วยเหล่าวุฒิสมาชิกผู้ปองร้ายเขา

จูเลียส ซีซาร์ โรมัน วุฒิสมาชิก สภาซีเนท ลอบสังหาร
The Murder of Caesar, ผลงาน Karl von Piloty ปี 1865 (ภาพจาก Lower Saxony State Museum / Wikimedia Commons)

มรณกรรมแห่ง จูเลียส ซีซาร์

เมื่อซีซาร์ประทับเหนือบัลลังก์ เก้าอี้ประธานของของห้องประชุม ผู้สมรู้ร่วมคิดเริ่มกรูกันมารุมล้อมคล้ายจะทำความเคารพ ทิลเลอุส ซิมเบอร์ (Tillius Cimber) คือผู้นำในปฏิบัติการครั้งนี้ เขาขยับเข้าใกล้ซีซาร์มากที่สุด ทำท่าทางคล้ายจะพูดคุยกระซิบกระซาบบางอย่าง แต่ซีซาร์ส่งสัญญาณให้เขาถอยออกไป ทันใดนั้น ซิมเบอร์คว้าเข้าที่ไหล่ของซีซาร์ ซีซาร์จึงสวนกลับทันทีว่า “อะไรกัน นี่มันความรุนแรงชัด ๆ !”

จังหวะนั้น คาสคัส (Cascas) โผล่เข้ามาเป็น “ตัวเปิด” จากด้านหลัง เขาแทงซีซาร์ที่บริเวณใต้คอด้วยมีดสั้น ซีซาร์ทำได้เพียงคว้าแขนของคาสคัสไว้ แล้วใช้ Stylus (ปากกาโรมัน) แทงสวนกลับไป เมื่อตระหนักแล้วว่ากำลังถูกรุมล้อมด้วยกลุ่มคนที่ติดอาวุธ (วุฒิสภาโรมันห้ามพกอาวุธในที่ประชุม) เขาจึงพยายามกระเสือกกระสนเอาตนเองออกจากวงล้อมตรงนั้น แต่ก็สายไปเสียแล้ว ในวินาทีวิกฤต จูเลียส ซีซาร์ ถูกหยุดด้วยการจ้วงแทงอีกครั้ง และอีกครั้ง แผลแล้วแผลเล่าติด ๆ กัน วุฒิสมาชิกผลัดกันเข้ามาฝากคมมีดทะลวงลงบนร่างของเขา หลายคนเคยทำงานให้ซีซาร์และรู้จักหน้าค่าตากันเป็นอย่างดี

ซีซาร์ถกเสื้อคลุมขึ้นมากันศีรษะของตนก่อนล้มลงไปนอนกองที่พื้น เชื่อว่าเขาถูกกระหน่ำแทงไปราว 20-30 แผล และไม่มีโอกาสได้เอ่ยคำพูดใด ๆ มีเพียงเสียงร้องคร่ำครวญในจังหวะแรก ๆ แต่บางบันทึกระบุว่า ตอนที่ชุลมุนกันอยู่นั้น ซีซาร์เห็นบรูตุสพุ่งเข้ามาร่วมวงสังหาร เขาเอ่ยคำพูดเป็นภาษากรีกว่า “ลูกเอ๋ย เจ้าด้วยหรือ?” ซึ่งกลายเป็นวลีอันโด่งดังประจำเหตุการณ์ที่ถูกนำเสนอบ่อยครั้งที่สุด

หลังเหตุการณ์ “รุมทึ้ง” หรือการ “กระหน่ำจ้วง” อันน่าสยดสยอง วุฒิสมาชิกผู้ก่อการทั้งหมดทยอยเดินออกจากลานประหาร ทิ้งให้บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งพิชิตดินแดนมากมายมาเป็นของสาธารณรัฐโรมันนอนสิ้นชีพจมกองเลือดอยู่อย่างนั้นอย่างน่าอเนจอนาถ เมื่อมาร์ค แอนโทนี ตระหนักได้ว่าเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นภายในโถงห้องประชุม ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของซีซาร์ล่วงผ่านไปนานแล้ว

วุฒิสมาชิกดำเนินการขั้นต่อไปทันที นั่นคือการจัดการกับมวลชน อย่างที่ทราบ จูเลียส ซีซาร์ เป็นที่นิยมอย่างล้นหลาม ข่าวการตายของเขาต้องดำเนินไปควบคู่กับปลอบประโลม คลายความวิตกกังวล และสลายความโกรธแค้น เพื่อชูประเด็นเรื่อง “การปลดปล่อย” สาธารรัฐโรมันจากผู้เผด็จการอย่างซีซาร์ นี่คือวิธีเดียวที่จะชำระล้างมลทินพวกเขาจากนักฆ่าเลือดเย็นให้เป็นนักกอบกู้ผู้ยิ่งใหญ่

แต่กรุงโรมนิ่งเงียบกับข่าวใหญ่นี้… ไม่ใช่เพราะผู้คนไม่สนใจ แต่เงียบงันด้วยความตื่นตะลึง

เป็นความเงียบงันอันชวนขนลุกอยู่ไม่น้อยสำหรับกลุ่มผู้ก่อการ เหล่าวุฒิสมาชิกจึงแยกย้ายกันไป “กักตัว” ที่บ้านของตน… วันต่อมา บรูตุส ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนเพื่อปราศรัย ป่าวประกาศถึงความจำเป็นในการกำจัดซีซาร์ มีคนจำนวนไม่น้อยเริ่มคล้อยตามเขา และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น กระทั่ง มาร์ค แอนโทนี นำร่างไร้วิญญาณของซีซาร์ไปแสดงต่อสาธารณชนพร้อมอ่านพินัยกรรมของเขา ซึ่งระบุว่า ซีซาร์ได้ทิ้งมรดกไว้ให้ประชาชนทุกคน…

คดีพลิกทันที “เผด็จการที่ไหนทำเช่นนี้?” “เขาสมควรตายจริงหรือ?” คำถามและเสียงก่นด่ากลุ่มผู้ก่อการอื้ออึงไปทั่ว การจลาจลเริ่มต้นและลุกลามไปทั่วกรุงโรม มวลชนผู้คั่งแค้นลงมือเผาอาคารคูเรียจุดเกิดเหตุจนมอดไหม้

ความตาย จูเลียส ซีซาร์ มาร์ค แอนโทนี
มาร์ค แอนโทนี ประกาศพินัยกรรม จูเลียส ซีซาร์ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

แผนการของ มาร์ค แอนโทนี ได้ผล ผู้สมรู้ร่วมคิดซึ่งเฝ้าติดตามกระแสตอบรับเริ่มนั่งไม่ติด นอนหลับยังไม่สนิท พวกเขาประเมินกระแสต่อต้านของประชาชนต่ำเกินไป จึงยอมถอยแผนการปฏิรูปเพื่อนำสาธารณรัฐกลับสู่แนวทางเดิมก่อนยุคของซีซาร์ แล้วหันมาเรียกร้องสันติภาพ ร้องขอการประนีประนอมกับกลุ่มของซีซาร์และมวลชนแทน เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกลงโทษ 

กฎหมายและการปฏิรูปทั้งหมดของซีซาร์ยังคงใช้ได้ แต่นั่นไม่เพียงพอ ซีซาร์ตายไปแล้ว ภาวะสุญญากาศทางการเมืองนี้อันตรายอย่างยิ่ง ในที่สุดจึงเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอีกครั้ง ในเวลา 2 ปี หลังเหตุการณ์นั้น ผู้สมรู้ร่วมคิดพ่ายแพ้ราบคาบ ถูกกลุ่มของซีซาร์ไล่ล่าพร้อมส่งให้ตามไปพบจอมเผด็จการในปรโลก ผู้นำคนสำคัญที่มีบทบาทสูงสุดคือมาร์ค แอนโทนี และออคตาเวียน (Octavian) ทายาทของซีซาร์เอง

ขณะที่ มาร์ค แอนโทนี เป็นนักรบผู้ห้าวหาญและทะเยอทะยาน ออคตาเวียนมีความเป็นนักการเมืองและนักปกครองสูงมาก ทั้งคู่ไม่มีใครรู้สึกว่าตนเองควรอยู่ภายใต้อำนาจของอีกคน ท้ายที่สุดสงครามระหว่างพวกเขาระเบิดขึ้น โดยชัยชนะเป็นของออคตาเวียนในปีที่ 27 ก่อนคริสตกาล เขากลายเป็นจักรพรรดิองค์แรกของโรมันในนาม ออกุสตุส (Augustus) เริ่มยุคสมัยแห่งความสงบสุขตั้งแต่นั้น

ในขณะที่ จูเลียส ซีซาร์ ถูกยกย่องในฐานะผู้ยิ่งใหญ่ และออกุสตุส ทายาทของเขาได้รับการยอมรับอย่างมากมายเช่นกัน แต่ชื่อเสียงของเหล่ามือสังหารแห่ง “Ides of March” กลับมีแง่มุมที่หลากหลาย ชาวโรมันจำนวนหนึ่งอาจมองว่าบรูตุสคือสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ แต่อีกจำนวนไม่น้อยมองว่าเขาคือคนทรยศผู้น่ารังเกียจ และมีชื่อเสียงด้านนี้ควบคู่กับจูดาส (ผู้ทรยศพระเยซู) ความบังเอิญอย่างน่าประหลาดคือ กรุงโรมในอดีตเคยถูกปกครองโดยกษัตริย์มาก่อน และเป็น “บรูตุส” อีกคน (Lucius Junius Brutus) ก่อการโค่นล่มกษัตริย์โรมันยุคเริ่มแรก ส่งผลโรมปกครองโดยระบอบสาธารณรัฐ 500 ปีต่อมา ลูกหลานของเขาพยายามรักษามันไว้

แต่ไม่ว่าบรูตุสจะคู่ควรกับสถานะใด แผนการของเขาและผู้สมรู้ร่วมคิดล้มเหลวโดยสมบูรณ์ สาธารณรัฐโรมันสิ้นสุดลง กรุงโรมกลายเป็นศูนย์กลางจักรวรรดิใหม่ที่มีจักรพรรดิรวบอำนาจสูงสุดอย่างเบ็ดเสร็จ ขณะที่วุฒิสภาถูกลดบทบาทลงจนมีสภาพเป็นเพียงสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

กระนั้น เราไม่มีทางทราบได้ว่า หากวุฒิสมาชิกไม่ลงมือสังหารซีซาร์ในวันนั้น ทิศทางของสาธารณรัฐโรมันจะดำเนินต่อไปอย่างไร ซีซาร์ผู้อยู่จุดสูงสุดของอำนาจจะสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิหรือไม่ หรือจากโลกนี้ไปอย่างสงบในฐานะผู้เผด็จการตลอดชีพ แล้วปล่อยให้วิถีประวัติศาสตร์กับการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองภายในดินแดนแห่งนี้ดำเนินต่อไปในทิศทางของมันเอง…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศาสตราจารย์จันทร์ฉาย ภัคอธิคม. (2548). ประวัติศาสตร์อารยธรรมกรีกและโรมัน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

Christopher Klein, HISTORY (SEP 1, 2021) : “Mar 15, 44 BC: Julius Caesar Assassinated”. <https://www.history.com/news/julius-caesar-assassination-fall-roman-republic>

History Today (Mar 3, 2023) : “What was the Impact of Julius Caesar’s Murder?”. <https://www.historytoday.com/archive/head-head/what-was-impact-julius-caesars-murder>

National Geographic (Retrieved Mar 29, 2023) : “Mar 15, 44 BC: Julius Caesar Assassinated”. <https://education.nationalgeographic.org/resource/julius-caesar-assassinated/>

The Cultural Tutor, Areopagus. (2023) : On this day 2,067 years ago Julius Caesar was assassinated in broad daylight in the middle of Rome”. <https://twitter.com/culturaltutor/status/1636189073718104064>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2566