อันซีนสำเพ็ง “มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก” มัสยิดหนึ่งเดียวในชุมชนจีน

มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก
อาคาร มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก ที่ก่อสร้างแบบยุโรป (ภาพถ่ายโดย ธัชชัย ยอดพิชัย)

เรามักเข้าใจว่า สำเพ็ง เป็นแหล่งที่อยู่ของชาวจีนเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว สำเพ็งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม หนึ่งในนั้นคือการเป็นที่ตั้ง มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก มัสยิดหนึ่งเดียวของชาวมุสลิม ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางบ้านเรือนและแหล่งค้าขายของชาวจีน

มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก ตั้งอยู่เลขที่ 979 ถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ได้ชื่อตามผู้ก่อตั้งมัสยิดคือ หลวงโกชาอิศหาก (เกิด บินอับดุลลาห์) โดยก่อตั้งมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และยืนหยัดผ่านยุคสมัยมาถึงปัจจุบัน

หลวงโกชาอิศหาก เกิด บินอับดุลลาห์
หลวงโกชาอิศหาก (ภาพถ่ายโดย ธัชชัย ยอดพิชัย)

หลวงโกชาอิศหาก (พ.ศ. 2350-2440) ชื่อเดิม เกิด บินอับดุลลาห์ เป็นบุตรของหวันมูซา กับนางจุ้ย ชาวเมืองไทรบุรี (ขณะนั้นเป็นจังหวัดหนึ่งของสยาม)

หลวงโกชาอิศหากเข้ารับราชการตำแหน่งล่ามมลายู กรมท่าขวา ทำหน้าที่ติดต่อกับชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำการค้าขายกับกรุงสยาม หรือบรรดาประเทศราชแหลมมลายูที่มาถวายเครื่องราชบรรณาการเป็นประจำทุกปี

จอห์น ครอว์เฟิร์ด ทูตจากอังกฤษ ที่เข้ามาสยามในรัชกาลที่ 2 เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและเจรจาการค้า กล่าวถึงหลวงโกชาอิศหากไว้ในบันทึกของเขาตอนหนึ่งว่า สยามได้จัดส่งเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่ดูแลและคอยเป็นล่ามให้ราชทูต บุคคลผู้นี้มีตำแหน่งเป็นหลวงโกชาอิศหาก มีชื่อว่า นักโกด่าอาลี ซึ่งเป็นขุนนางมุสลิมเชื้อสายมลายู ตำแหน่งล่ามแขกฝรั่งในกรมท่าขวา เดิมเป็นนายเรือและพ่อค้าชื่อเกิด

หลวงโกชาอิศหากรู้จักและคุ้นเคยกับบรรดาชาวต่างชาติทั้งหลายเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่มาติดต่อค้าขายทางเรือกับประเทศไทย ขณะนั้นท่าจอดเรือในกรุงเทพฯ จะอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่บางรักไปถึงท่าราชวงศ์ ชาวต่างประเทศที่นับถืออิสลามจึงขอร้องให้ท่านจัดหาที่สำหรับละหมาด จะได้ไม่ต้องเดินทางไปละหมาดที่มัสยิดไกลๆ เนื่องจากการคมนาคมลำบากมาก

กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการก่อสร้าง “มัสยิดหลวงโกช าอิศหาก”

หลวงโกชาอิศหากซื้อที่ดินได้แปลงหนึ่งเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ อยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา และใกล้ท่าเรือที่ชาวต่างชาติจอดเรือขนถ่ายสินค้า และสร้างเรือนไม้เล็กๆ เรียกว่า “บ้านแล” พอเป็นที่ละหมาดเท่านั้น โดยยังไม่มีความสะดวกสบาย ต้องเดินบนสะพานเล็กๆ ข้ามร่องสวนเจ้าไป (เวลานั้นยังไม่มีถนนทรงวาด) ต่อมาบ้านแลเริ่มทรุดโทรมลงเรื่อยๆ

ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 หลวงโกชาอิศหากตั้งใจจะสร้างมัสยิดให้มั่นคงถาวรสืบไป จึงทำการเรี่ยไรทรัพย์สินเงินทองจากลูกหลานที่มีฐานะมั่นคง รวมกับเงินทองส่วนตัวของท่านที่ได้สะสมไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ พื้นที่ด้านหน้าสร้างเป็นอาคารทรงยุโรปตามสมัยนิยมขณะนั้นสำหรับประกอบศาสนพิธี ส่วนพื้นที่ด้านหลังจัดเป็นกุโบร์สำหรับฝังศพประมาณ 1 ไร่

หลวงโกชาอิศหากถึงแก่กรรมในปี 2440 พระโกชาอิศหาก (หมัด บินอับดุลลาห์) บุตรคนโตของท่านเป็นผู้ดูแลคนต่อมา ปัจจุบันการบริหารงานของ มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก ดำเนินการโดยบุคคลในสกุล “มันตรัฐ” ซึ่งเป็นเชื้อสายของหลวงโกชาอิศหาก โดยมีวันละหมาดใหญ่คือทุกวันศุกร์ เวลาประมาณเที่ยง ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณสำเพ็ง และเยาวราชจะเข้ามาร่วมกันทำละหมาด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

วิษณุ ทรัพย์สมบัติ. “มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก” ใน, สำเพ็งประวัติศาสตร์ชุมชนในกรุงเทพฯ,  สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกณณ์มหวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2563