5 ผู้พิชิตโลกยุคโบราณ อายุเท่าไรตอนครองอำนาจสูงสุด จนถึงวัยสิ้นชีพ (ตอนที่ 2)

ประติมากรรม พระสันตะปาปาเลโอที่ 1 เจรจา กับ อัตติลา
ประติมากรรม พระสันตะปาปาเลโอที่ 1 เจรจากับอัตติลา เพื่อให้หยุดคุกคามคาบสมุทรอิตาลี, San Pietro, Metropolitan City of Rome, Italy (Photo by Francesco Alberti on Unsplash)

จากเรื่องราวของ 5 ผู้พิชิต ที่อยากครองโลกในอดีต ตอนที่ 1 (คลิกเพื่ออ่าน) ขอนำเสนอเส้นทางของอีก 5 คนที่อาจโด่งดังหรือเป็นที่รู้จักน้อยกว่า แต่ล้วนเป็นบุคคลสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า 5 คนแรก บุคคลเหล่านี้ยังคงเป็นทั้งนักรบ นักการทหาร ผู้พิชิต และมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต พวกเขาอายุเท่าไรกันบ้าง ณ ตอนที่อยู่บนจุดสูงสุดของอำนาจและตอนสิ้นชีพ และเส้นทางของคนเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง

ฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 (Thutmose III, ประมาณปีที่ 1486-1426 ก่อนคริสตกาล)

ทุตโมสที่ 3 ฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่ 18 ถูกยกย่องให้เป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอียิปต์โบราณ เชื่อกันว่าพระองค์ออกรบในสมรภูมิมากมายตลอดรัชสมัยโดยปราศจากความพ่ายแพ้ และทุก ๆ สงครามที่ฟาโรห์นำไปสู่ดินแดนต่าง ๆ พระองค์ปฏิบัติต่อผู้แพ้อย่างมีมนุษยธรรม

ราวปี 1479 ก่อนคริสตกาล ทุตโมสที่ 3 สืบบัลลังก์แห่งอียิปต์ต่อจากพระบิดาตั้งแต่วัยเพียง 7 ขวบ โดยสองทศวรรษแรกแห่งรัชสมัยทรงปกครองอียิปต์ร่วมกับพระนางแฮตเซปซุต (Hatshepsut) แม่เลี้ยงผู้สำเร็จราชการร่วม เมื่อนางเสียชีวิต กองทัพอียิปต์ภายใต้การนำของฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 ก็ทะยานออกจากดินแดนอียิปต์ไปพิชิตดินแดนปาเลสไตน์ ซีเรีย นูเบีย และเมโสโปเตเมีย ในปีที่ 33 ของการครองราชย์ ฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 ในวัย 40 ปี ประสบความสำเร็จในการพิชิตอาณาจักรมิทานนี (Kingdom of Mitanni) คู่แข่งทางอำนาจที่สำคัญทางตอนเหนือของเมโสโปเตเมีย อียิปต์กลายเป็นมหาอำนาจในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก

ฟาโรห์ทุตโมสที่ 3 ใช้เวลา 12 ปีสุดท้ายดื่มด่ำกับความมั่งคั่งที่หลั่งไหลมาสู่แดนไอยคุปต์และบรรณาการจากทั่วทุกสารทิศของดินแดนที่พระองค์พิชิตได้ ก่อนสิ้นชีพในปี 1486 ก่อนคริสตกาล ด้วยอายุประมาณ 60 ปี อาณาจักรต่าง ๆ ทั้งมิโนอัน ไซปรัส บาบิโลเนีย อัสซีเรีย และฮิตไทน์ ต่างส่งของกำนัลมาสักการะพระศพ สุสานของพระองค์ยังตกแต่งด้วยฉากการต้อนรับทูตจากดินแดนห่างไกลในทะเลอีเจียนและแผ่นดินใหญ่ของกรีกซึ่งมอบขอบขวัญล้ำค่าแทบเท้าฟาโรห์ เกียรติภูมิของอียิปต์โบราณไม่เคยยิ่งใหญ่ระดับนี้มาก่อน

ประติมากรรมรูปฟาโรห์ทุตโมสที่ 3, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเวียนนา (Picture by Hay Kranen / Wikimedia Commons)

ไซรัสมหาราช (Cyrus the Great, ปีที่ 580-529 ก่อนคริสตกาล)

ไซรัสมหาราชหรือไซรัสที่ 2 จักรพรรดิองค์แรกของจักรวรรดิเปอร์เซีย ต้นราชวงศ์อาเคเมเนียน (Achaemenian dynasty) ผู้หลอมรวมเผ่ามีเดียและเปอร์เซียเข้าด้วยกัน และผู้สร้างกฎบัตรสิทธิมนุษยชนฉบับแรกเมื่อครั้งพิชิตนครบาบิโลน ก่อนจะปลดปล่อยเชลยชาวยิวในเมืองให้เป็นอิสระ รัชสมัยของไซรัสมหาราชเต็มไปด้วยสงครามและการพิชิตดินแดน อันเป็นการสร้างจักรวรรดิขนาดมหึมาที่สุดของยุคนั้น

ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าแท้จริงแล้วปีเกิดของไซรัสมหาราชคือปีใด ข้อสันนิษฐานระบุคร่าว ๆ ว่าอยู่ระหว่าง 590-580 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งเปอร์เซียต่อจากบิดา ไซรัสมหาราชประสบความสำเร็จในการพิชิตอาณาจักรมีเดียของกษัตริย์อัสธีอาเกส (Astyages) ผู้เป็นพระอัยกา (ตา) ของพระองค์เองในปีที่ 550 ก่อนคริสตกาล ขณะอายุระหว่าง 30-40 ปี เป็นผลให้เกิดเอกภาพในที่ราบสูงอิหร่านหรือดินแดนเปอร์เซีย

จากนั้น กองทัพเปอร์เซียเริ่มพิชิตดินแดนต่าง ๆ ที่อยู่รายล้อม เริ่มจากอนาโตเลีย (ตุรกี) นครรัฐกรีกไอโอเนียน และบาบิโลเนีย กระทั่งปี 539 ก่อนคริสตกาล ไซรัสมหาราชในวัยสี่สิบกว่าถึงห้าสิบต้น ๆ ก็ได้ครอบครองนครบาบิโลน เมืองใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาของยุคโบราณ ส่งผลให้จักรวรรดิเปอร์เซียครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำอินดัส (สินธุ) ในอินเดีย ไปสุดเอเชียไมเนอร์และดินแดนกรีก

จุดจบของไซรัสมหาราชถูกกล่าวถึงอย่างหลากหลาย มีทั้งสิ้นชีพระหว่างสงครามกับชนเผ่าเร่ร่อนทางเหนือ บ้างว่าสิ้นพระชนม์ระหว่างออกว่าราชการในพื้นที่ทางตะวันออกของจักรวรรดิ ซึ่งตรงกับปี 529-530 ก่อนคริสตกาล หรือสิบปีหลังการพิชิตนครบาบิโลน

ภาพนูนต่ำของ ไซรัสที่ 2 หรือไซรัสมหาราช กษัตริย์ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิอคีเมนียะห์ (ภาพจากอุทยานโอลิมปิก นครซิดนีย์ โดย Siamax, via Wikimedia Commons)

อัตติลา (Attila, ค.ศ. 406-453)

อัตติลาแห่งฮัน (Attila the Hun) จอมพลคนเถื่อน ผู้สร้างความพรั่นพรึงทั่วยุโรปจนได้รับฉายา “ภัยพิบัติจากพระเป็นเจ้า” (The Scourge of God) การรุกรานของเขาสั่นสะเทือนจักรวรรดิโรมันอย่างหนักเพราะมีส่วนในการผลักดันเหล่าชนเยอรมัน (Germanic peoples) ให้อพยพหนีสงครามจากกองทัพฮันแล้วหลั่งไหลเข้าไปในพื้นที่เขตปกครองของโรมัน โดยเฉพาะจักรวรรดิโรมันตะวันตก

อัตติลาสืบทอดมรดกจากพี่ชายเป็นดินแดนบริเวณประเทศฮังการีเมื่อ ค.ศ. 434 ขณะอายุ 28 ปี ครั้งหนึ่งเขาเคยเสนอให้ตนเองสมรสกับขนิษฐาของจักรพรรดิแห่งโรมันโดยแลกกับสินสอด (ของฝ่ายเจ้าสาว) เป็นดินแดนครึ่งหนึ่งของพระเชษฐา แน่นอนว่าข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธจากฝั่งโรมัน นำไปสู่การรุกรานโดยนักรบฮันภายใต้การนำของเขา เมืองของโรมันทั้งถูกยึดครอง ปล้นชิง และเผาทำลาย ดินแดนมากมายถูกกวาดล้างหรือทำให้กลายเป็นพื้นที่รกร้าง อัตติลาปกครองดินแดนแห่งความสยอดสยองนี้ในนามจักรวรรดิฮัน (Hunnic Empire) ที่ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ตอนกลางทวีปยุโรปในฝรั่งเศส-เยอรมนี ไปถึงทะเลสาบแคสเปียนทางตะวันออกในเอเชียกลาง

เดือนมีนาคม ค.ศ. 453 หลังครองอำนาจกว่า 20 ปี อัตติลาในวัย 48 ปี ดื่มเฉลิมฉลองอย่างหนักในคืนพิธีสมรสของเขาจนกระทั่งสลบไป ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเขาสำลักเลือดตนเองจนสิ้นชีพได้อย่างไร อาจเป็นเลือดกำเดาหรือเลือดจากแผลตอนฟุบหลับ แต่นั่นเป็นผลให้จักรวรรดิฮันเผชิญภาวะเสี่ยงต่อการล่มสลายทันที บุตรชายผู้สืบทอดไม่สามารถรักษาดินแดนกว้างใหญ่ที่เสื่อมโทรมนี้ได้ นำไปสู่การแยกตัวเป็นอิสระของดินแดนต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์เมื่อราว ค.ศ. 469 หรือเพียง 16 ปีหลังสิ้นสมัยของอัตติลา

ชาร์เลอมาญมหาราช (Charlemagne the Great, ค.ศ. 742-814)

ชาร์เลอมาญ หรือชาร์ล (Charles) กษัตริย์ชาวแฟรงก์ผู้ปกครองจักรวรรดิคาโรแลงเจียนที่ครอบคลุมบริเวณประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และบางส่วนของอิตาลี มีฉายาว่า “บิดาแห่งยุโรป” (Father of Europe) เพราะเป็นผู้ทำให้แดนยุโรปตะวันตกมีความเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง นับตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมันในยุคก่อน

หลังจากครองราชย์ต่อจากบิดาเมื่อ ค.ศ. 768 ด้วยวัย 26 ปี จุดเริ่มต้นของการแผ่อำนาจจากกษัตริย์ของชาวแฟรงก์ไปสู่จักรพรรดิแห่งโรมันเริ่มขึ้นหนึ่งปีหลังการครองราชย์ เมื่อพระสันตะปาปาขอความช่วยเหลือมายังราชสำนักแฟรงก์ให้ช่วยขับไล่ชาวลอมบาร์ดที่กำลังคุกคาบคาบสมุทรอิตาลี ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของคริสตจักรโรมันคาทอลิก ชาร์เลอมาญมหาราชสามารถกำราบพวกลอมบาร์ดได้อย่างราบคาบ พร้อมครอบครองมงกุฎแห่งลอมบาร์ดี

ชาร์เลอมาญมหาราชยังนำทัพในการรบอีกกว่า 50 สมรภูมิทั่วยุโรป และมีส่วนในการสกัดกั้นการแผ่อำนาจเข้ามายังยุโรปตอนในของนักรบมุสลิมจากไอบีเรียและชาวแซกซอนนอกรีต ทำให้ได้รับการสวมมงกุฎในฐานะจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมัน (ต่อมาได้พัฒนาเป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) จากพระสันตะปาปาใน ค.ศ. 800 ขณะอายุ 58 ปี ชาเลอมาญมหาราชสิ้นพระชนม์ในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 814 ขณะมีอายุ 72 ปี ส่งผลให้จักรวรรดิคาโรแลงเจียนแตกเป็นอาณาจักรขนาดย่อมโดยบรรดาทายาทของพระองค์

ภาพประกอบ – จักรพรรดิชาร์เลอมาญ แห่งจักรวรรดิแฟรงก์คาโรแลงเจียน (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ติมูร์ (Timur, ค.ศ. 1336-1405)

ทาเมอร์เลน (Tamaerlane) หรือติมูร์ขากะเผลก (Timur the Lame) ขุนศึกเชื้อสายมองโกล-เติร์ก ผู้พิชิตดินแดนบริเวณเอเชียกลางและเอเชียตะวันตกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 จักรวรรดิของเขาเรืองอำนาจขึ้นเหนือดินแดนของข่านชากาไต บุตรชายคนรองของเจงกิสข่าน หลังการสมรสระหว่างติมูร์กับราชนิกูลมองโกล เขาอ้างว่าตนคือเชื้อสายข่านผู้ยิ่งใหญ่แห่งมองโกล พร้อมขยายอำนาจและควบคุมพื้นเอเชียกลางและตะวันตกของจีนแทนลูกหลานของเจงกิสข่าน ก่อนเริ่มสงครามอันดุเดือดและนองเลือดทั่วภูมิภาคดังกล่าว

ใน ค.ศ. 1370 ติมูร์ในวัย 34 ปีสามารถสถาปนาราชวงศ์ของเขา (Timurid Dynasty) ปกครองพื้นที่เอเชียกลางทั้งหมดไปจนถึงเปอร์เซีย (อิหร่าน) อัฟกานิสถาน ปากีสถาน บางส่วนของอินเดียและเมโสโปเตเมีย รวมถึงภูมิภาคคอเคซัสบริเวณรัสเซีย ตุรกี และอาร์เมเนีย แม้ติมูร์เคยตั้งปณิธานว่าจะฟื้นฟูจักรวรรดิมองโกล แต่สงครามเพื่อแผ่อำนาจจักรวรรดิของเขามีส่วนสำคัญในการทำลายอาณาจักรของชาวมองโกลในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะอาณาจักรกระโจมทองคำ (Golden Horde) ในรัสเซียของผู้ปกครองที่เป็นทายาทโจชิ บุตรชายคนโตของเจงกิสข่าน

ติมูร์สิ้นชีพขณะอายุ 68 ปี ในวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1405 ระหว่างทำสงครามกับจักรวรรดิหมิงของชาวจีนฮั่นผู้โค่นล้มราชวงศ์หยวน (ราชวงศ์มองโกลที่สถาปนาโดยกุบไลข่าน หลานของเจงกิสข่าน) ต่อมา บาบูร์ (Babur) เจ้าชายแห่งนครเฟอร์กานา ผู้สืบเชื้อสายติมูร์ ได้กลายเป็นผู้ก่อตั้งจักรวรรดิโมกุลปกครองอินเดียในคริสต์ศตวรรษที่ 16

อนุสาวรีย์ติมูร์, อุซเบกิสถาน (ภาพจาก Pixabay)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

CONN IGGULDEN, the Daily Mail : Ten of the greatest: Historical conquerors. (Online)

Encyclopaedia Britannica : Timur, Turkic conqueror. (Online)

Joshua J. Mark, World History Encyclopedia : Attila the Hun. (Online)

Peter F. Dorman, Encyclopaedia Britannica : Thutmose III, king of Egypt. (Online)

Richard E. Sullivan, Encyclopaedia Britannica : Charlemagne, Holy Roman emperor. (Online)

Richard N. Frye, Encyclopaedia Britannica : Cyrus the Great, king of Persia. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2565