เพื่อนเล่นไม่เล่นเพื่อน “เฮเฟสเตียน” เพื่อนรักของอเล็กซานเดอร์มหาราช

เฮเฟสเตียน อเล็กซานเดอร์มหาราช เฮเฟสเตียน เพื่อนรักของอเล็กซานเดอร์มหาราช
อเล็กซานเดอร์ถอดแหวนไปแตะริมฝีปากเฮฟีสเทียนขณะอ่านจดหมายจากพระมารดา (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เฮเฟสเตียน เพื่อนรักของอเล็กซานเดอร์มหาราช เพื่อนเล่นไม่เล่นเพื่อน

อเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์ผู้พิชิตแห่งมาซิโดเนีย ที่เมื่อถึงบั้นปลายชีวิต เขาสามารถปกครองดินแดนทั่วตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียน อียิปต์ ตะวันออกกลาง และบางส่วนของเอเชีย กระนั้น อเล็กซานเดอร์ก็ไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องการศึกสงครามอย่างเดียว แต่ในศึกรักเขาเองก็คร่ำหวอดไม่แพ้กัน และชายหนุ่มที่คนในยุคปัจจุบันให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือ “เฮเฟสเตียน” นั่นเอง

เฮเฟสเตียน (Hephaestion) ผู้เป็นเพื่อนรัก องครักษ์ และหนึ่งในนายพลคนสำคัญของอเล็กซานเดอร์ คู่จิ้นคนสำคัญที่นักประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันให้ความสนใจ ดูจะได้รับการบันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์ในแบบที่ต่างไปจากความสัมพันธ์อื่นๆ ของอเล็กซานเดอร์ การกล่าวถึงในบันทึกต่างๆ สะท้อนถึงความพิเศษบางอย่างที่มหาราชามีต่อนักรบหนุ่มผู้นี้ 

Advertisement
อเล็กซานเดอร์มหาราช และเฮเฟสเตียน เพื่อนรักของอเล็กซานเดอร์มหาราช (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เฮเฟสเตียน เป็นลูกของชนชั้นสูงในมาซิโดเนีย เกิดในเมืองเพลล่า (Pella) คาดว่าในปี 356 ก่อนคริสตศักราช ได้เข้าศึกษากับนักปรัชญาที่โด่งดังอย่าง อริสโตเติล และเป็นศิษย์ร่วมกับอเล็กซานเดอร์ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองใกล้ชิดสนิทสนมกัน

ฟิลิปที่ 2 บิดาของอเล็กซานเดอร์มองว่า เฮเฟสเตียนเป็นเพื่อนที่ดีต่ออเล็กซานเดอร์ ความฉลาดเฉลียวของเฮเฟสเตียนเองก็ขึ้นชื่อไปจนถึงวงการวิชาการในเอเธนส์ เมื่อเติบโตขึ้นก็ติดตามอเล็กซานเดอร์เข้าร่วมรบในศึกต่างๆ และยังคงติดตามไปจนถึงการรุกรานเอเชีย อเล็กซานเดอร์ไว้เนื้อเชื่อใจเฮเฟสเตียนมากถึงกับยกให้เป็นนายพลที่มีอำนาจสั่งการรองจากตน แม้นักรบร่วมยุคจะมองว่า เฮเฟสเตียนไม่ชำนาญการรบ แต่เขาก็ได้รับความไว้วางใจให้จัดการด้านการคมนาคมขนส่ง รวมไปถึงการบริหารจัดการเสบียงและที่พักพิงขณะเดินทัพ

ก่อนจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างอเล็กซานเดอร์กับเฮเฟสเตียน เราจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า การรักร่วมเพศระหว่างชาย-ชาย ในวัฒนธรรมกรีกโบราณนั้นเป็นเรื่องธรรมดา โดยมีเรื่องของความเป็นชายมาเกี่ยวข้องด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กที่หนุ่มกว่า ในบางครั้งก็เป็นการมีเพศสัมพันธ์กันภายในหมู่กองทหารเดียวกัน ตัวอย่างในกรณีอื่น เช่น บิดาของอเล็กซานเดอร์ ก็เคยขัดแย้งกับราชาแห่งอาร์คีอาร์ด เพราะไปรักใคร่กับชายหนุ่มคนเดียวกัน ดังนั้น การที่เฮเฟสเตียนและอเล็กซานเดอร์จะมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งก็มิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

ในงานเขียนของ ดิโอโดรัส ซิคูลัส นักประวัติศาสตร์กรีก ในสมัยโรมัน ยุคสาธารณรัฐ (หลังอเล็กซานเดอร์เสียชีวิตราว 100 ปี) ก็มีส่วนที่กล่าวถึงเฮเฟสเตียนกับอเล็กซานเดอร์ เห็นชัดในฉากงานศพของเฮเฟสเตียนที่บรรยายถึงพิธีศพที่ยิ่งใหญ่ และบรรยายถึงความสัมพันธ์ของพวกเขาไว้ว่า…

“…ในหมู่สหายทั้งหมดของเขา (อเล็กซานเดอร์) รักเฮเฟสเตียนมากที่สุด เมื่อเฮเฟสเตียนสิ้นชีพก็ยังให้ความสำคัญและความเคารพมากกว่าผู้ใด อเล็กซานเดอร์เคยประกาศไว้ว่า คราเตรุส (หนึ่งในนายพลคนสำคัญอีกคนของอเล็กซานเดอร์) เป็นความรักที่มอบให้ในฐานะกษัตริย์ ในขณะที่เฮเฟสเตียนเป็นความรักที่อเล็กซานเดอร์มอบให้เอง และเมื่อครั้งที่แม่ของดาริอุสเข้าพบอเล็กซานเดอร์ครั้งแรก นางเผลอแสดงความเคารพต่อเฮเฟสเตียนเพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นองค์มหาราช แต่อเล็กซานเดอร์ก็กล่าวว่า เขา (เฮเฟสเตียน) เองก็คืออเล็กซานเดอร์เช่นกัน…” 

อเล็กซานเดอร์มหาราช และเฮเฟสเตียน (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ในบางเอกสารก็มีการกล่าวถึงเฮเฟสเตียนว่าเป็นคนสนิทที่สุดของอเล็กซานเดอร์ และเมื่ออเล็กซานเดอร์มีความลับอะไรก็จะเปิดเผยให้เขาทราบ ถึงขนาดให้อ่านจดหมายลับที่ไม่ให้ผู้ใดอ่าน อริสโตเติล อาจารย์ของทั้งคู่เองก็อธิบายถึงมิตรภาพของพวกเขาว่าราวกับเป็น “หนึ่งจิตในสองกาย” 

แม้กระทั่งงานเขียนของอาเรียน นักประวัติศาสตร์กรีก ในยุคจักรวรรดิโรมัน (หลังอเล็กซานเดอร์เสียชีวิตราว 300 ปี) ผู้สนใจเรื่องการสงครามเป็นพิเศษก็ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของอเล็กซานเดอร์และเฮเฟสเตียน และยังพรรณนาว่า หลังการเสียชีวิตของเฮเฟสเตียน อเล็กซานเดอร์ไม่เป็นอันกินอันนอน คร่ำครวญถึงความสูญเสียเป็นเวลากว่า 2 วัน

รวมถึงนักวิชาการยุคปัจจุบันอย่าง โรบิน เลน ฟ็อกซ์ (Robin Lane Fox) จากงาน Alexander the Great ที่เชื่อว่าอเล็กซานเดอร์เปรียบตัวเองเข้ากับ “อคิลิส” นักรบในตำนานกรีก จนถึงขนาดเชื่อว่า อคิลิสเป็นบรรพบุรุษฝั่งแม่ของตน และอเล็กซานเดอร์ได้ทำการวางพวงมาลาไว้บนหลุมฝังศพของอคิลิส ในขณะที่เฮเฟสเตียนวางพวงมาลาไว้ที่หลุมฝังศพของพาโทรคลุส ซึ่งเป็นเหมือนเพื่อนชายที่สนิทราวกับมีความสัมพันธ์เชิงชู้รักกับอคิลิส ทำให้ถูกตีความได้ว่าเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ ว่าทั้งอเล็กซานเดอร์และเฮเฟสเตียนมีความสัมพันธ์ที่พิเศษต่อกันเหมือนอคิลิสกับพาโทรคลุส

แม้จะดูน่าจิ้นขนาดไหน แต่กลับไม่มีเอกสารใดที่กล่าวอย่างชี้ชัดว่าทั้งสองฝ่ายเป็นคู่รักกันอย่างชัดเจน ในหลายครั้งมีการพูดถึงความสัมพันธ์อันเร่าร้อนของอเล็กซานเดอร์กับผู้อื่นโดยมิได้ปิดบัง และในวัฒนธรรมกรีกโบราณก็ไม่ได้มองว่ารักร่วมเพศเป็นสิ่งผิดปกติ ในเมื่อมีการพรรณนาที่ไม่ว่าคิดไปแบบไหนก็เข้าใจว่าเฮเฟสเตียนเป็นมากกว่าเพื่อน แต่กลับไม่มีหลักฐานใดชี้ชัดว่าทั้งคู่มีความสัมพันธ์เชิงชู้รักจริงๆ 

เป็นเรื่องน่าสงสัยและน่าสนใจว่า เหตุใดจึงไม่มีเอกสารใดที่กล่าวถึงเรื่องนี้ให้เป็นชัดเจนเลย ทั้งๆ ที่หลักฐานมากมายนำเสนอราวกับว่าทั้งอเล็กซานเดอร์และเฮเฟสเตียนมีความสัมพันธ์เกินเพื่อน ในท้ายที่สุดก็คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ในยุคปัจจุบันให้ตีความกันต่อไปว่าทั้งคู่มีอะไรในก่อไผ่หรือไม่ ให้เป็นที่ติดตามตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Ancient Heroes. “Were Alexander the Great and Hephaestion Lovers?”, 1 มีนาคม 2016. http://ancientheroes.net/blog/alexander-hephaestion-lovers.

“Arrian | Greek Historian | Britannica”. สืบค้น 6 มิถุนายน 2023. https://www.britannica.com/biography/Arrian.

Clark. “Alexander and Hephaestion: The Ancient Controversial Relationship”, 15 กันยายน 2022. https://ancient-literature.com/alexander-and-hephaestion/.

“Diodorus Siculus | Greek Historian | Britannica”. สืบค้น 6 มิถุนายน 2023. https://www.britannica.com/biography/Diodorus-Siculus.

Wasson, Donald L. “Hephaestion”. World History Encyclopedia. สืบค้น 2 มิถุนายน 2023. https://www.worldhistory.org/Hephaestion/.

Paul McKechnie. “Diodorus Siculus and Hephaestion’s Pyre”. Cambridge University Press on behalf of The Classical Association, The Classical Quarterly, 45 (1995): 418–32.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤษภาคม 2566