ศัพท์ “พระพันวัสสา” ในพระนาม “สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” มีความหมายว่าอย่างไร?

พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระพันวัสสา พระภรรยาเจ้า รัชกาลที่ 5
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

หนึ่งใน “พระภรรยาเจ้า” ผู้เป็นที่รักยิ่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หรือ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระมารดาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คำศัพท์ “อัยยิกา” ในพระนาม หลายคนคงทราบว่าหมายถึงย่าหรือยาย แล้วคำว่า “พันวัสสา” ใน “พระพันวัสสา” มีความหมายว่าอย่างไร?

รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เฉลยว่า ศัพท์ “พระพันวัสสา” และ “พระพันปี” มีความหมายตรงกันว่า อายุพันปี

คำว่า พระพันวัสสา ปรากฏเป็นนามของราชาในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน ส่วน คำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเอกสารบันทึกเรื่องราวของชาวอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปยังกรุงอังวะ ที่ราชสำนักราชวงศ์คองบองจดบันทึก ก็ปรากฏ “กษัตริย์” อยุธยาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า “พระพันวรรษา”

ถึงอย่างนั้นก็ไม่อาจสรุปได้ว่า “พระพันวรรษา” ในคำให้การชาวกรุงเก่า จะเป็นพระนามที่ปรากฏในพระสุพรรณบัฎ และพระนามกษัตริย์หลายพระนามในเอกสารดังกล่าวก็ไม่ตรงกับในพระราชพงศาวดารและศิลาจารึก

พอมาถึงหลักฐานสมัยต้นรัตนโกสินทร์ คำว่า “พระพันวรรษา” ไม่ได้ใช้กับกษัตริย์เสียแล้ว แต่มีความหมายถึงตำแหน่ง “พระอัครมเหสี” แทน 

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งชำระขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศว่า “โปรดให้พระพันวรรษาใหญ่ เป็นกรมหลวงอภัยนุชิต โปรดให้พระพันวรรษาน้อยเป็นกรมหลวงพิพิธมนตรี”

ในพระราชพงศาวดารบอกด้วยว่า “พระพันวรรษาพระองค์ใหญ่” เป็นพระมารดาในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ส่วน “พระพันวรรษาองค์น้อย” เป็นพระราชมารดาในพระเจ้าเอกทัศน์ ดังนั้นตำแหน่งที่พระพันวรรษาในพระราชพงศาวดาร ก็น่าจะหมายความถึงที่ตำแหน่งอัครมเหสี

อ่านเพิ่มเติม : ความ “ห้าว” ของเจ้าฟ้ากุ้ง ผู้ไม่กลัวกฎหมาย? เล่นชู้พระสนม-ลอบฟันเจ้าฟ้านเรนทร?

หรือใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เมื่อกล่าวถึงครั้งสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อคราวสวรรคต ก็ระบุว่า “ครั้นมาถึง ณ วันอังคารเดือน 11 ขึ้น 8 ค่ำเวลาเช้า 4 โมง สมเด็จพระพันวัสสาประชวรพระโรคชราเสด็จสวรรคตในวันนั้น”

มาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว โปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ขึ้นเป็น “สมเด็จพระพันวัสสา” มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งเป็นพระราชนัดดาในพระองค์ ได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

รศ. ดร. รุ่งโรจน์ บอกว่า ในสมัยรัชกาลที่ 7 นี้เองที่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีการนำคำว่า ‘พระพันวัสสา’ มาประกอบพระนาม” 

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2567