ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
เรื่องไสยศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน หนึ่งในนั้นคือ “มหาอุด” ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ แต่คำนี้หมายถึงอะไรกันแน่?
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ให้ความหมายคำว่า “อุด” ว่าหมายถึง จุกช่อง หรือ ปิดให้แน่น คำนี้อาจประกอบกับคำว่า “มหา” ซึ่งหมายถึง ใหญ่ ยิ่งใหญ่ คำว่า “มหาอุด” จึงแปลได้ว่า อุดอย่างยิ่งใหญ่
มหาอุดมีหลายความหมาย แต่ไม่ว่าจะแบบไหนก็มักเกี่ยวข้องกับเรื่องพิธีกรรม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการใช้หลักๆ อยู่ 3 อย่าง คือ โบสถ์ พระเครื่อง และวิชาหรืออาคม
หนึ่งคือ “โบสถ์มหาอุด” เป็นโบสถ์ที่มีลักษณะเฉพาะคือ ผนังก่อเป็นผนังทึบ ไม่มีหน้าต่าง (บ้างว่ามีหน้าต่างหรือเจาะช่องแสงได้) ที่สำคัญคือ โบสถ์ต้องมีประตูเข้าออกเพียงประตูเดียวที่ด้านหน้าเท่านั้น
โบสถ์มหาอุดนิยมสร้างในสมัยอยุธยา เช่น วัดนางสาว บ้านบางท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แม้โบสถ์เป็นงานก่อสร้างในยุคปัจจุบัน แต่ก็เป็น “โบสถ์มหาอุด” ที่ไม่มีหน้าต่าง ผนังทึบทุกด้าน มีเพียงประตูเพียง 1 บาน ที่ด้านหน้าโบสถ์เท่านั้น
ด้วยรูปแบบของ “โบสถ์มหาอุด” น่าจะลดเสียงรบกวนจากภายนอกได้มาก จึงเหมาะสำหรับพระสงฆ์ทำสังฆกรรมอย่างมีสมาธิ นอกจากนี้ โบสถ์มหาอุดยังขึ้นชื่อเรื่อง “ความขลัง” เหมาะสำหรับพิธีปลุกเสกพระเครื่อง, วัตถุมงคล หรือการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
หนึ่งคือ “พระมหาอุด” พระเครื่องที่ปิดทวารทั้ง 9 คือ ตา, หู, จมูก, ปาก และทวาร ที่ขึ้นชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ทางป้องกันอาวุธ และทางเมตตามหานิยม แต่ไม่ให้สตรีมีครรภ์ไหว้บูชาหรือพกติดตัว ฯลฯ ด้วยชื่อ “มหาอุด” ทำให้เกรงกันว่าจะคลอดยาก
หนึ่งคือ “วิชามหาอุด” วิชาไสยศาสตร์ไทยโบราณ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของวิชาคงกระพันชาตรี ที่นิยมใช้บริกรรมคาถาเพื่อป้องกันตัว และทำเครื่องราง นิยมใช้กับปืนโดยเฉพาะ
เชื่อว่า พุทธคุณของคาถาจะทำให้ปืนที่ยิงมีปัญหาใช้งานไม่ได้ เช่น ทำให้ลูกปืนเกิดขัดลำกล้อง หรือลูกด้าน, ทำให้ปากกระบอกปืนแตก ฯลฯ ส่วนลูกปืนที่ด้านนิยมนำมาทำเครื่องรางด้วย มีตำนานว่า คาถามหาอุด พระพุทธเจ้าทรงใช้ห้ามนายขมังธนูที่กำลังจะยิงพระองค์
อ่านเพิ่มเติม :
- นางกวัก คือใคร? ไฉนมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เรียกโชภลาภ-เงินทอง
- นะหน้าทอง มนต์มหาเสน่ห์ ใครอยากได้ต้องบวชเรียน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
“อุด-มหาอุด” ใน, บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2551.
ประคอง นิมมานเหมินทร์. “คงกระพันชาตรี” ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม 2, มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542.
เผยแพรในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2567