รู้จัก “สะพานชุดเจริญ” ที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างตามรอยรัชกาลที่ 5

สะพานเจริญรัช 31 สะพานชุดเจริญ รัชกาลที่ 6 สร้าง ตามรอย รัชกาลที่ 5 สร้าง สะพานชุดเฉลิม
สะพานเจริญรัช ๓๑ แถวปากคลองตลาด (ภาพ : BerryJ via Wikimedia Commons)

ถ้าใครไปแถวปากคลองตลาด ใกล้กับโรงเรียนราชินี อาจเคยสังเกตเห็น “สะพานเจริญรัช ๓๑” กันบ้าง สะพานดังกล่าวเป็นหนึ่งใน “สะพานชุดเจริญ” ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างตามพระราชนิยมในสมเด็จพระบรมชนกนาถ ที่โปรดให้สร้าง “สะพานชุดเฉลิม” เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ตั้งแต่ทรงเจริญพระชนมายุ 42 พรรษา กระทั่งสวรรคตเมื่อทรงมีพระชนมายุ 58 พรรษา

สะพานชุดเจริญ ของรัชกาลที่ 6 มีรูปแบบเดียวกับ “สะพานชุดเฉลิม” ของรัชกาลที่ 5 คือ ขึ้นต้นด้วยคำ และต่อด้วยตัวเลขบอกพระชนมายุ ซึ่งสะพานชุดเจริญขึ้นต้นด้วยคำว่า “เจริญ” และลงท้ายด้วยพระชนมายุในรัชกาลที่ 6 คือ ตั้งแต่ 31-36 พรรษา

Advertisement

สะพานชุดเจริญ มีด้วยกัน 6 สะพาน ได้แก่

สะพานเจริญรัช ๓๑ เป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม ที่ตำบลปากคลองตลาด
สะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ เป็นสะพานข้ามคลองมหานาค ที่ตำบาลมหานาค
สะพานเจริญพาศน์ ๓๓ เป็นสะพานข้ามคลองบางกอกใหญ่ ที่ถนนอิสรภาพ
สะพานเจริญศรี ๓๔ เป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม บริเวณวัดบุรณศิริมาตยาราม
สะพานเจริญทัศน์ ๓๕ เป็นสะพานข้ามคลองวัดสุทัศนเทพวราราม ถนนบำรุงเมือง
สะพานเจริญสวัสดิ์ ๓๖ เป็นสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง สร้างขึ้นแทนสะพานโค้งเดิม ชื่อสะพานสุประดิษฐ

สะพานชุดเจริญ สะพานเจริญพาศน์ ๓๓ นัชกาลที่ 6 ทรง สร้าง ตาม รัชกาลที่ 5 สะพานชุดเฉลิม
รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสะพานเจริญพาศน์ ๓๓ เมื่อ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2456 (ภาพ : เฟซบุ๊ก หอจดหมายเหตุมุสลิมสยาม – Muslim Siam Forum & Archives,Thailand./ SUKRE SAREM https://www.facebook.com/100057820833018/posts/4078132432226318/)

สะพานทั้ง 6 แห่ง มีพระปรมาภิไธยย่อ ว.ป.ร. และตัวเลขระบุพระชนมพรรษากำกับไว้ทุกสะพาน รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสะพานด้วยพระองค์เองทุกปีก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา คือราววันที่ 29 หรือ 30 ธันวาคม

หลังจากสร้างสะพานเจริญสวัสดิ์ ๓๖ เมื่อ พ.ศ. 2459 พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า สะพานในกรุงเทพมหานครมีจำนวนมากเพียงพอต่อการใช้สอยของมหาชนแล้ว ควรสร้างสาธารณประโยชน์ที่จำเป็นแก่บ้านเมืองประเภทอื่นบ้าง

ด้วยเหตุนี้ จึงทรงยุติการสร้าง “สะพานชุดเจริญ” ตั้งแต่ พ.ศ. 2459 เป็นต้นมา

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน. 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2567