ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ทุกวันนี้การถือฤกษ์ ถือยาม การวางฤกษ์ ศิลาฤกษ์ ยังปรากฏแน่นแฟ้นในสังคมทั่วอุษาคเนย์ หากย้อนไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 การวางฤกษ์นับว่ามีความสำคัญสูงยิ่ง ศิลาฤกษ์โบราณที่น่าสนใจมากชิ้นหนึ่ง คือ “ศิลาฤกษ์เต่า” พบที่ สระโบสถ์ เมืองพิมาย
ศิลาฤกษ์เต่าถูกค้นพบเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2563 พบที่เกาะกลางน้ำของ “สระโบสถ์” หรือโบราณสถานสระโบสถ์ เมืองพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นสระน้ำโบราณ หรือที่เรียกกันว่าบารายในวัฒนธรรมเขมรนั่นเอง
ศิลาฤกษ์เต่ามีลักษณะเป็นหินสลักรูปเต่า กว้าง 32 ซม. ยาว 46 ซม. สูง 5 ซม. บริเวณหลังเต่าตรงกลางเจาะเป็นช่องสามเหลี่ยม บริเวณล้อมรอบจะเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมอีก 7 ช่อง ภายในช่องสามเหลี่ยมตรงกลาง และช่องสี่เหลี่ยมด้านใต้ ยังพบแผ่นทองขนาดเล็ก สันนิษฐานว่า ศิลาฤกษ์เต่าชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งในพิธีการวางฤกษ์ของสระน้ำในสมัยโบราณ
การวางฤกษ์เป็นคติความเชื่อมาจากศาสนาฮินดู ก่อนที่ศาสนาพุทธนิกายมหายานจะนำมาปรับใช้ในภายหลัง มีวัตถุประสงค์ทำขึ้นเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่สถานที่นั้นๆ (เช่น ปราสาท, เทวาลัย) หรือสิ่งของนั้นๆ (เช่น รูปเคารพ, ประติมากรรมศักดิ์สิทธิ์)
ศิลาฤกษ์เต่าส่วนใหญ่พบในโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น สระน้ำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณปราสาทบายน, คูน้ำ บริเวณประตูเมืองพระนครทิศเหนือ เป็นต้น โดยวัสดุที่นำมาสร้างศิลาฤกษ์ก็มีทั้ง หิน หินทราย และตะกั่ว เป็นต้น
การใช้เต่ามาเป็นส่วนหนึ่งในพิธีการวางฤกษ์พบหลักฐานในคัมภีร์หลายเล่ม เนื่องจากนับถือเต่าเป็นสัตว์มงคลแห่งสายน้ำ เป็นสัตว์ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ และอาจมีความเกี่ยวข้องกับ “กูรมาวตาร” อวตารร่างหนึ่งของพระนารายณ์ในตอนกวนเกษียรสมุทร
สำหรับเรื่องของ “กูรมาวตาร” นั้น เกิดขึ้นขณะตอนที่กำลังกวนเกษียรสมุทร ในตอนที่ยกเขามันทระปักลงกลางเกษียรสมุทร หรือทะเลน้ำนม แล้วเอาพญานาควาสุกรีมาพันรอบเขา แบ่งอสูรและเทวดาคนละข้างกัน ช่วยชักดึงไปมาเพื่อเปลี่ยนทะเลน้ำนมให้กลายเป็นน้ำอมฤต เมื่อนานเข้าเขามันทระทรุดลงจะทะลุปฐพี พระนารายณ์จึงอวตารเป็นเต่า เอากระดองรองเขามันทระเอาไว้ นี่จึงเป็นที่มาของ “กูรมาวตาร”
ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า ศิลาฤกษ์เต่าชิ้นนี้อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อเรื่องข้างต้นด้วย ศิลาฤกษ์เต่าอาจหมายถึงร่างอวตารของพระนารายณ์ และการเจาะช่องสามเหลี่ยมตรงกลางอาจหมายถึงเขามันทระในเหตุการณ์กวนเกษียรสมุทร
เต่าที่เป็นสัญญะของน้ำ และหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ยังอาจแฝงนัยของผู้ค้ำจุนอย่างกูรมาวตาร
อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์อีกว่า การเจาะช่องสี่เหลี่ยม 7 ช่อง ล้อมรอบช่องสามเหลี่ยมตรงกลาง อาจหมายถึงเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้ง 7 ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล นั่นหมายความว่าช่องสามเหลี่ยมตรงกลางคือเขาพระสุเมรุนั่นเอง
ไม่ว่าช่องสามเหลี่ยมตรงกลางจะสื่อถึงเขามันทระหรือเขาพระสุเมรุ แต่ศิลาฤกษ์เต่าชิ้นนี้ก็สะท้อนถึงคติความเชื่อจากดินแดนชมพูทวีปที่ส่งมายังอุษาคเนย์
เรื่องราวของ “ศิลาฤกษ์เต่า” แห่งสระโบสถ์ เมืองพิมาย ยังคงต้องศึกษาและวิเคราะห์กันต่อไป
อ่านเพิ่มเติม :
- “กระดานโหร” อุปกรณ์คู่ใจโหร ช่วยทำนายสารพัดฤกษ์
- รู้จักโหร-หมอดู ผู้กำหนดฤกษ์สำคัญให้ผู้นำ ใครคำนวณฤกษ์รัฐประหาร 2490
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นัยนา มั่นปาน. “ประติมากรรมศิลาฤกษ์รูปเต่าค้นพบใหม่ จากโบราณสถานสระโบสถ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา”, ใน ศิลปากร. 63 : 5. กันยายน – ตุลาคม 2563
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2567