ผู้เขียน | กัญญารัตน์ อรน้อม |
---|---|
เผยแพร่ |
โหราศาสตร์ เป็นหนึ่งในวิชาที่ว่าด้วยการทำนายโชคชะตา และทำนายเหตุการณ์ในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นกับบุคคล หรือสังคม โดยใช้ดวงดาวมาเป็นปัจจัยหลักในการทำนาย ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้อธิบายว่า “โหราศาสตร์ คือ วิชาว่าด้วยการพยากรณ์โดยอาศัยการโคจรของดวงดาวเป็นหลัก”
โหรแต่ละคนจะมีอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่ใช้ในการทำนายเรียกว่า กระดานดำโหร หรือเรียกอีกอย่างว่า กระดานโหร ซึ่งจะใช้ประกอบในการทำนายไม่ว่าจะเป็นการถือฤกษ์ถือยาม ในเรื่องพระราชพิธี ฤกษ์ยามเฉลิมฉลอง การทำภารกิจใหญ่โตสำคัญ เช่น การยกทัพจับศึก ในยุคปัจจุบันก็นำมาประยุกต์ใช้เช่นกัน เช่น การวางศิลาฤกษ์ เปิดกิจการ ถือว่าต้องมีฤกษ์งามยามดี เป็นมงคล หรือการพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้น

จากในภาพ “พิเภก ตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์” ได้ถือกระดานดำโหร ซึ่งภายในกระดานโหรจะจารึกลวดลายที่เรียกว่า ตารางราศีจักร เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้สนใจโหราศาสตร์ไทย มีชื่อเรียกหลากหลาย อาทิ ตารางลัคนา ตารางพิเภก หรือตารางดวงฤกษ์ ซึ่งลักษณะเป็นรูปวงกลมมีเส้นขนานสองคู่ที่มีระยะห่างเท่ากัน ตัดกันเป็นมุมฉาก และมีเส้นแบ่งครึ่งมุมฉากสี่เส้นลากจากจุดตัดของเส้นขนานแต่ละจุดไปจรดเส้นรอบวง

กระดานโหรทำมาจากอะไร?
กระดานโหรมักจะทำด้วยไม้มะละกอต้นที่แก่ โดยตัดต้นให้ได้ขนาดนำมาแผ่เป็นแผ่น ใช้ซี่ไม้ไผ่แทงสอดขวางเนื้อไม้ เพื่อไม่ให้ไม้มะละกองอกกลับขึ้นหลังจากที่ผึ่งจนแห้ง ไม้มะละกอที่ผึ่งแห้งแล้วนำมาทำให้มีผิวที่ราบและเรียบทั้งสองด้าน จากนั้นตกแต่งริมทั้งสี่ด้านให้ได้แผ่นกระดานตามขนาดที่ต้องการ โดยปกติขนาดของกระดานโหรมีขนาดกว้าง 12 นิ้ว ยาว 18 นิ้ว ต่อมาทำการลงสมุกผสมกับรักน้ำเกลี้ยง (สมุก คือ ถ่านทำจากใบตองแห้งหรือใบหญ้าคาป่นให้เป็นผงประสมกับรักนํ้าเกลี้ยง สำหรับทารองพื้นบนสิ่งต่างๆ) ลงบนกระดานทั้งสองด้าน
พอสมุกแห้งดีแล้ว ขัดแต่งผิวสมุกให้เรียบด้วยหิน ฟองน้ำ แล้วทาด้วยรักน้ำเกลี้ยงทับผิวหน้าของกระดานขึ้นเป็นสีดำพอสมควร นำมาใส่กรอบเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงสำหรับการใช้ต่อ โดยกรอบกระดานโหรมี 2 ส่วนประกอบด้วยกันคือ กรอบด้านสกัดหัวกระดานหรือด้านกว้างของกระดาน เป็นท่อนกลม ขนาดยาวเสมอหน้ากว้างของกระดาษ โคนไม้กลึงจะทำเป็นหัวเม็ดลูกแก้ว ปลายไม้กลึงเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ จะประกบติดกับหัวกระดานดำทั้งสองข้าง ส่วนอีกกรอบจะทำด้วยไม้จริงเช่นกัน เหลาไม้เป็นเส้นอย่างผ่าหวาย ประกบติดริมกระดานดำทางด้านยาวทั้งสองข้าง

ประวัติการใช้กระดานโหร
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โหรหลวงได้นำกระดานโหรเข้ามาใช้ในวังหลวงเพื่อทำนายฤกษ์และพิธีต่างๆ ภายในพระราชวัง ซึ่งสมัยนั้นจะมีหน่วยงานที่เรียกว่า กรมโหรหลวง มีพระยาโหราธิบดีเป็นอธิบดีกรม ทำหน้าที่ทำนายดวงชะตาของบ้านเมือง ของกษัตริย์ หรือเชื้อพระวงศ์ เพื่อหาฤกษ์ยามในการพระราชพิธีและพิธีมงคล กรมโหรหลวงถูกยกเลิกไปหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้นำเข้ากระดานชนวนมาจากต่างประเทศ ถือเป็นกระดานชนวนแรกที่นำมาใช้ในเมืองไทยและมีภายหลังจากกระดานดำและกระดานโหร กระดานชนวนทำขึ้นจากหินชนวนที่มีลักษณะเป็นแผ่นแบน หน้าเรียบ ตัดเป็นแผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เข้ากรอบไม้กันขอบแผ่นหินปริแตก กระดานชนวนไม่เพียงนำมาใช้ในการทำนายแต่ยังนำมาใช้ในการฝึกเด็กให้เขียนอักษรและตัวเลข

ต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระดานชนวนและกระดานโหรเริ่มไม่มีคนใช้และไม่มีผู้สั่งกระดานชนวนเข้ามาใช้อีก เนื่องจากผู้คนหันมานิยมใช้สมุดกระดาษที่ทำขึ้นในประเทศเป็นอุปกรณ์การเขียนแทน จึงทำให้กระดานชนวนและกระดานโหรเริ่มหายไป
ปัจจุบันเทคโนโลยีได้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชื่อว่า iPad หรือTablet สำหรับใช้เขียนแทนกระดานชนวนหรือกระดานโหรเพื่อลดทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เห็นถึงการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของแต่ละยุคสมัย ถึงแม้ว่าผู้คนจะเริ่มหันไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่ยังคงทำหน้าที่อนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาให้รุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อไป
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย, “กระดานชนวน,” สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่มที่ 1, (2542), หน้า 67.
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย, “กระดานดำ,” สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่มที่ 1, (2542), หน้า 67-68.
อรรถวุฒิ วงศ์ประดิษฐ์ และ ประถมจิต ขจรเจริญกุล. (2565). การสร้างตารางราศีจักรในกระดานโหร. วารสารคณิตศาสตร์ โดยสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ, 65 (706), 2-3. doi: DOI: 10.14456/mj-math.2022.1
สรชัย ศรีนิศานต์สกุล. (2563). อิทธิพลของโหราศาสตร์ในสังคมและการเมืองไทย (รายงานผลการวิจัย). ชลบุรี: มหาวิทยาลัยบูรพา.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2566