ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2552 |
---|---|
ผู้เขียน | ส.สีมา |
เผยแพร่ |
“โหราศาสตร์” บนฝ่ามืออย่าง “เนินจันทรา” (The mount of the Lunar) นั้น คือบริเวณใต้เนินอังคารสูงและอยู่เหนือเนินพลูโต หรืออยู่ระหว่างเส้นสมองกับเส้นโชคชะตาตรงขอบฝ่ามือด้านล่าง แบ่งเขตกับเนินศุกร์ด้วยเส้นชีวิต
เนินจันทรา มีคุณสมบัติคล้ายเนินอาทิตย์หรือเนินสุริยะ คือบ่งชี้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของบุคคล เป็นคลังของความจำต่างๆ บ่งชี้ความสามารถในการเขียน และร้อยเรียงอักษรแบบจินตกวี เป็นคนประเภทเกลียดก็เกลียดหนัก หากจะรักก็รักแรง มีเพื่อนมากและพอใจจะไปกันเป็นหมู่คณะ มักเป็นคนขี้วิตกกังวลและสร้างปัญหาให้ตนเองเดือดร้อนเนืองๆ
เนินจันทรา ก็คือเทวีแห่งจันทรา หรือลูนาร์ติก ก็อดเดส (Lunartic Goddess) มารู้จักเทวีองค์นี้กันหน่อย สั้นๆ ดังนี้
เทวีแห่งจันทรา เป็นคู่แฝดกับสุริยเทพ (อพอลโล) เกิดแต่นางเลโตนากับมหาเทพจูปิเตอร์
เทวีแห่งจันทราหรืออาร์เตมิส เป็นที่รู้จักกันอีกนามหนึ่งคือเทวีแห่งการล่าสัตว์ จึงเป็นที่เคารพนับถือของบรรดาพรานและนักล่าสัตว์ทั้งหลาย ด้วยเทวีจะทำหน้าที่เป็นแสงเดือนสว่างเกื้อกูลแก่นักล่ายามค่ำคืนโดยเฉพาะคืนเดือนหงาย บางทีก็ถูกเรียกว่าฟีบี หรือเซเลนี ซึ่งในภาษากรีกหมายถึงจันทรเทวี และโปรดกวางเป็นพิเศษ
เมื่อแรกเกิดนั้น เทวีเกิดยากมากเกือบทำให้มารดาถึงตาย จึงไม่ขอมีคู่ครองแม้จะมีเทพหลายองค์หมายปองก็ตาม แต่ขอบริวารจากพระบิดาเป็นนางเทพอัปสร 80 นาง ซึ่งพากันเพลิดเพลินกับการประพาสป่าพร้อมกับมีนางเทพอัปสรติดตามกันไปเป็นพรวน
อย่างไรก็ดี เทวีก็พบรักโดนใจเข้าจนได้ กล่าวคือคืนหนึ่งขณะจรไปในห้วงเวหาดารดาษด้วยดาวทอแสงงามส่งประกายระยิบระยับและมีกลิ่นบุปผชาติจรุงฟุ้งขจรขึ้นมาจากพื้นปฐพี เทวีมองลงไปพบหนุ่มน้อยคนหนึ่งเป็นคนเลี้ยงแกะผู้มีรูปงาม นอนหงายหลับตา ใบหน้าอาบแสงเดือนอันอ่อนละมุนอยู่ตามลำพัง นามหนุ่มผู้นี้เอ็นดิเมียน เมื่อเทวีได้พบก็เกิดอารมณ์พิสมัยไม่อาจอดใจรอไว้ได้ จึงลอยองค์ลงจุมพิตริมฝีปากเผยอน้อยๆ ของชายหนุ่มครั้งหนึ่งก่อนจะลอยเลื่อนคืนกลับลับไปในอากาศ
เอ็นดิเมียนฟื้นตื่นปรือตาคลับคล้ายคลับคลาเพียงเห็นดวงจันทร์กระจ่างลอยลิ่วลับไป ด้วยดวงใจดื่มด่ำเสียนี่กระไร เจ้าหนุ่มทอดกายนอนลงอีกครั้งหนึ่งหวังจะได้ภาพประทับใจ แต่ก็มิได้สมปรารถนา จึงซอกซอนค้นหาเทพธิดาในฝันไปทั่วขุนเขาและราวป่า ไม่เว้นแม้แต่ในท้องทะเลลึก
เสน่ห์อันอื้อฉาวของเทวีเป็นที่ฉงนงงงันแก่ปวงเทพทั้งหลายและล่วงรู้ไปถึงมหาเทพจูปิเตอร์ในไม่ช้า จึงบังคับให้เอ็นดิเมียนเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือตายหรือหลับโดยไม่มีเวลาตื่นในถ้ำแห่งหนึ่ง ณ ยอดเขาแลตมัส หนุ่มน้อยผู้โชคร้ายเลือกอย่างหลัง
เชื่อกันว่าเทวีแห่งจันทราผู้ซื่อสัตย์มักจะแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนเจ้าหนุ่มผู้หลับตลอดกาลทุกคืน และช่วยเฝ้าดูแลฝูงแกะของหนุ่มน้อยที่ทิ้งไว้ด้วยใจเป็นห่วงใยยิ่ง
เทวียังมีรักที่จบลงด้วยความเศร้าอีกบางเรื่อง ซึ่งจะไม่เล่าในที่นี้แต่จะบอกว่าภาพลักษณ์ของเทวีคือภาพของความสัตย์ซื่อผู้ไม่สมปรารถนาในความรักและมีความลึกลับในใจอันเป็นปริศนา
เนินจันทราที่พัฒนามากเกินไป บ่งชี้ว่าเป็นคนประเภทไม่พอใจกับชีวิตการเป็นอยู่เดิมๆ ซ้ำๆ หรืองานรูทีน ชอบท่องเที่ยวร่อนเร่ไปอย่างไร้การควบคุม อาจเป็นทางเรือหรือทางทะเลและโปรดการมีที่พักอาศัยใกล้น้ำ มักปลีกตัวหนีสังคมเพราะรู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากคนอื่น หรือเพราะคนอื่นไม่ค่อยจะเข้าใจ เป็นคนมีความวิตกกังวลเป็นเจ้าเรือน และเป็นจอมจินตนาการอย่างหาตัวจับยาก อุปนิสัยประเภทนี้เรียกว่า ลูนาเรียน (Lunarian)
โหราศาสตร์ บนฝ่ามืออย่าง “เนินจันทรา” สัมพันธ์กับนิ้วหัวแม่มือและนิ้วก้อย นิ้วหัวแม่มือที่แข็งแรงจะเสริมพลังเนินจันทราให้สูงเด่น ตรงกันข้ามถ้าหัวแม่มืออ่อนแอจะฉุดดึงพลังให้เหลือน้อย และตนเองตกเป็นเหยื่อของจินตนาการ
ถ้าหากว่าเส้นโค้งของเนินจันทราล้นออกมาทางฝ่ามือ บ่งชี้ว่าเป็นคนที่ชอบอาศัยอยู่ใกล้น้ำ ทะเลสาบ บึง หนอง คลองเล็กและแม่น้ำ จนถึงมหาสมุทร เราพบเสมอในมือของกัปตันและนาวิเกเตอร์ทั้งหลาย
เส้นที่พาดเนิน บ่งชี้ว่าเป็นคนรักการเดินทาง เนินจันทราที่แบนบาง มีความหมายว่าเป็นคนนิยมวัตถุธาตุ เป็นคนเลือดเย็นไม่ค่อยเห็นอกเห็นใจใคร อดทนต่อความคิดความอ่านของใครไม่ได้ และไม่ชอบคนแปลกหน้า
เนินจันทราที่มีรูปทรงสูงมาก บ่งชี้ว่าเป็นคนไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอย มักโลเลหลายใจเชื่อไม่ค่อยได้ เห็นแก่ตัว ผิวเผินและมีอารมณ์เศร้าซึม ไม่ขยันในการงาน เอาแต่ฝันเฟื่องหรือท่องเที่ยว ไม่ชอบอยู่เป็นที่เป็นทาง เป็นคู่รักหรือคู่สมรสที่ไม่ค่อยได้เรื่อง ชอบดนตรี กวีและศิลปะ ชอบอ่านนวนิยายเชิงท่องเที่ยวหรือเรื่องฝันโรแมนติก ไม่ค่อยชอบอะไรที่เป็นจริง เป็นคนเปลี่ยนแปลงง่าย เอาอะไรเป็นหลักไม่ได้
เนินจันทรากับสุขภาพ สุขภาพของคนแบบเนินจันทรา มีลักษณะสำคัญก็คือ ไม่อดทนต่อการต่อสู้ ยืนต่อสู้กับใครก็ไม่ได้นาน ไม่อาจทำงานหนักต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมงได้ มักมีโรคภัยประเภทขี้กลัว หวาดหวั่นง่าย มักมีปัญหาในการเจ็บป่วยทางกายเรื่องระบบทางเดินอาหารหรือโรคเกี่ยวกับข้อและปัญหาเกี่ยวกับไต
สีของเนินจันทราบอกสุขภาพได้อย่างดี เนินจันทราที่มีสีด่างดำ เป็นจ้ำ ช้ำและมีริ้วรอย หรือมีสีแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด บ่งชี้ความบกพร่องของอวัยวะเพศ และความผิดปกติของกระดูกเชิงกราน เป็นต้น
เครื่องหมายและมาร์กต่างๆ บนเนินจันทรา
- รูปดาวดวงหนึ่ง บ่งชี้ความสามารถเชิงจินตนาการในระดับยอดเยี่ยม
- จุดเล็กๆ ล้อมกันเป็นวงกลม บ่งชี้ว่าจะต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุจากการท่องเที่ยวทางน้ำ
- กากบาท บ่งชี้ว่าเป็นคนง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตอง ตื่นเต้นกับงานและมีลูกเล่นเยอะ
- รอยสี่เหลี่ยมบนเนินจันทรา บ่งชี้ความมีพลังคุ้มกันอันตรายต่างๆ ได้ดียิ่ง
- รอยตะแกรง ถือว่าไม่ดี เป็นสัญญาณบอกเหตุของการเจ็บป่วย ความวิตกกังวล และมีจินตนาการในสิ่งที่น่ากลัวและน่าหวาดหวั่น
- รูปสามเหลี่ยมบนเนินจันทราถือว่าดี บ่งชี้ว่ามีความคิดสร้างสรรค์สูงและจะประสบความสำเร็จในชีวิตโดยเฉพาะนักเขียนหรืออาร์ติสต์
- รูปก้นหอย บ่งชี้ความเป็นผู้ช่วยชีวิตคนอื่น มักปรากฏรูปรอยนี้ในมือของผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์
บุคคลที่มีเนินจันทราเด่นสมบูรณ์ มีความหมายว่าเป็นคนมั่งคั่งในจินตนาการและร่ำรวยอารมณ์ฝัน เป็นบุคคลประเภทรักธรรมชาติ สายลม แสงแดดและเดย์ดรีม โปรดเสียงนกร้องและใบไม้ล้อลม บุคลิกภาพแบบจันทรา มักเป็นนักเขียน เป็นกวี ศิลปิน หรืออาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นคนรักการเดินทางท่องเที่ยว ชอบเปลี่ยนแปลงบรรยากาศหลีกหนีความซ้ำซากจำเจของงานประจำ เป็นคนเจ้าอารมณ์และหลายใจอยู่บ้าง โปรดอาหารหวานคาวต่างๆ คือ คิดไปด้วยกินไปด้วย เรื่องจินตนาการหรือสร้างภาพฝันรับรองว่ายอดเยี่ยมกว่าคนอื่น
โปรดตอบคำถามต่อไปนี้
- ท่านชอบงานภาคสนามเป็นชีวิตจิตใจหรือไม่
- ท่านมักบอกตนเองเสมอๆ ว่า การท่องเที่ยวนั้นดีอยู่ แต่การติดตามอ่านบทกวีนั้นดีกว่า จริงๆ แล้วท่านชอบทั้ง 2 อย่างนั่นแหละ
- ท่านชอบฝันกลางวัน เพราะมันผ่อนคลายดี
- เรื่องอาหารการครัว ท่านไม่แพ้ใครแน่ๆ
- มีชีวิตแบบเดี่ยวๆ แมน อะโลน ก็ดีเหมือนกัน
ถ้าท่านตอบว่าใช่ทุกข้อ แปลว่าท่านมีชีวิตจิตใจหรือนิสัยแบบเทวีจันทรา
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “โหราศาสตร์” ถึงมีบทบาทในสังคมไทยยุคดิจิทัล?
- โหราศาสตร์ กับข้อห้าม แต่งงานวันพุธ-เผาผีวันศุกร์-ขึ้นบ้านใหม่วันเสาร์
- ศัพท์โหราศาสตร์
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เนินจันทรา” เขียนโดย ส.สีมา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2552
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกมื่อ 19 สิงหาคม 2561