ศัพท์โหราศาสตร์

ภาพประกอบเนื้อหา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2547)

ในภาษาไทยเรามีศัพท์หมวดอยู่แล้วหลายหมวดเช่น ราชาศัพท์, สมณโวหาริกศัพท์ หากจะเพิ่มศัพท์โหราศาสตร์ขึ้นอีกสักหมวด ก็คงจะไม่ไร้ประโยชน์นัก

ที่ว่าเช่นนี้มิใช่จะจงใจมาชวนคุณๆ ให้เรียนโหราศาสตร์หรอกนะครับ แต่ว่าศัพท์ของโหราศาสตร์ นั้นมีแทรกอยู่ทั่วไปในเอกสารเก่าๆ ของไทย เป็นต้น :-

ตำราพิชัยสงคราม :

“ยาตรา วัน 1 ครุฑนาม, ประดับ อาภรณ์แดง, ถือธนู, เอาน้ำใส่ศีรษะ, เอาเสียงและเสียงไก่ขันเป็นสกุณสังหร, เร่งเบิกพลเอาชัย”

“ยาตรา วัน 2 พยัคฆนาม, ประดับอาภรณ์ขาว, ถือดาบและเขน, นอนเสียก่อน, เอาเสียงดุริยดนตรี เป็นสกุณสังหร, เร่งเบิกพลเอาชัย”

กฎหมายตราสามดวง :

“ศุภมัสดุ พุทธศักราช 1895 ศัสษะ สังวัจฉรนักษัตรเบ็ญจศก อาสาทมาศ ศุขปักษยะ จตุถะดฤษถี โสรวาร สุภมหริดี” -อาชญาหลวง

“ศุภมัสดุ พุทธศักราช 1148 ศกนักสัตว อัษะ สังวัจฉระ อาสุช มาเสกาลปักเข ทัศมีคิดยัง โสรวาระ บริเฉทกาลกำหนด”

“ศุภมัสดุ ศักราช 1150 ศก นักสัตมักฏะสังวัจฉระ อาสาณหมาศะ ศุกกปักษยทัศมีดิดถียัง จันทรวาระ ปริเฉทกาลกำหนด” -พระราชบัญญัติ

“ศุภมัสดุ 1263 อัชฉะ สังวัจฉระ เชษฐมาศศุขปักษยะปันจะมีดิดถี ชีวะวาร—” -อายการเบ็ดเสร็จ

พงศาวดาร :

“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว 2438 พรรษา, ปัจจุบันกาล จันทรคตินิยม เอฬกะ สังวัจฉระ ภัทรบทมาศ ชุษณปักษทสมีดิถีครุวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก 114 สิงหาคมมาศ เอกูนติงสติมมา ศาหะคุณประเภทปริเฉทกาลกำหนด”.

ตำนาน (พื้นเมืองเชียงใหม่) :

“ในวันเดือนเพ็ญ, เม็งวัน 3, ยามก่อนงายจักใกล้สู่แสง, ชาวใต้ยอหมู่เข้าปล้น, เข้าปล้นเมืองนครได้ที่ประตูท่านางก่อน”

“พระเจ้าเชียงรายมาสร้างเมืองเชียงใหม่ปีระวายสัน เดือน 7 เพ็ญ, เม็งวัน 5, ฤกษ์ 8, ยามแถลรุ่ง, ลัคนา ราศีตุล ศักราชได้ 658 ตัว.”

วรรณคดี :

“อันในชันษาพระจักริศ เทวา สถิตอยู่เมษสิ้น ลัคน์ จันทร์นั้นจรมาอยู่มิน ราหูอสุรินทร์เล็ง ลัคน์” -รามเกียรติ ร.1.

คำต่างๆ (ที่พิมพ์ตัวต่าง) เหล่านี้หากท่านไม่รู้ความหมายเสียเลยแล้ว ท่านจะทราบเรื่องนั้นๆ ได้อย่างไร

“ทราบ” คำนี้ต่างกับ “รู้” ยกตัวอย่างเช่น น้ำตาล, ถ้ารู้ว่ามันมีรสหวานก็เพียงแค่ “รู้” แต่ถ้ารู้ว่ามันทำมาจากน้ำอ้อยนั่นก็คือ ทราบ และยิ่งถ้ารู้ว่าแต่เดิมเขาทำมาจากน้ำของต้นตาล (โตนด) จึงได้ชื่อว่าน้ำตาลด้วยก็ถึงขั้น ทราบซึ้ง หรือ เข้าใจ และก็เพื่อความทราบซึ้ง หรือเข้าใจในภาษานี้เองจึงได้เกิดวิชานิรุตติศาสตร์ขึ้น

เช่นนั้นหากท่านจะทราบความหมายของคำเหล่านี้ไว้บ้างก็คงไม่เสียหลาย

ดวงชาตานั้นเปรียบเสมือนแผนที่ของดวงดาว ดวงดาวใดในจักรวาลโคจรไปอยู่ตรงไหน ท่านก็จดลงไว้ในแผนที่คือดวงชาตา แต่เนื่องจากดวงชาตามันเล็ก หากจุดลงเป็นตัวหนังสือเนื้อที่ก็ไม่พอ ท่านจึงเปลี่ยนดวงดาวและราศีให้เป็นตัวเลข แต่เลขดาวและราศีไม่ค่อยปรากฏในหนังสือจึงจะไม่กล่าว จักกล่าวแต่ที่ปรากฏ นั่นคือ วาร เราเรียกกันเป็นสามัญว่า

วัน

อาทิตย์ เท่ากับเลข 1, จันทร์ เท่ากับเลข 2, อังคาร เท่ากับเลข 3, พุธ เท่ากับเลข 4, พฤหัสบดี เท่ากับ 5, ศุกร เท่ากับเลข 6, เสาร์ เท่ากับเลข 7

อย่างเช่นในตำราพิชัยสงครามข้างต้นนั้น ที่กล่าวว่า “ยาตราวัน 1-วัน 2” นั้นก็ไม่ใช่อะไร ยาตราวันอาทิตย์ และวันจันทร์ นั่นเอง

หรือที่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ก็เช่นกัน “เม็งวัน 3-วัน 5” นั้นก็คือวันของมอญ วันอังคาร และวันพฤหัสบดีนั่นเอง วันแบบนี้มอญเขาใช้มาก่อน และเชียงใหม่ได้มาจากมอญ จึงเรียกว่าวันเม็ง ตำราโหราศาสตร์ของไทยเราก็ได้มาจากมอญเช่นกัน

ข้อสำคัญเมื่อท่านพบตัวเลขเช่น “วัน 1 วัน 2” ท่านต้องอ่านให้เป็นตัวหนังสือ “วันอาทิตย์-วันจันทร์” ทันที อย่าไปอ่านเป็น “วันหนึ่ง-วันสอง” เป็นอันขาด

วารทั้ง 7 นี้ มีที่ท่านผูกเป็นศัพท์ไว้อีกดังนี้

อาทิตย์ อาทิตย รวิ, จันทร์ จันทร, อังคาร ภุมม, พุธ วุธ พุทธ พุฒ, พฤหัสบดี ชีวะ คุรุ ครุ, ศุกร์ ศุกร สุกร สุข, เสาร์ โสร

ดิถี ขึ้น-แรม ที่ท่านผูกศัพท์ไว้นั้น ดังนี้

ปาฏิบท 1 ค่ำ, ทุติย 2 ค่ำ, ตติย 3 ค่ำ, จตุตถ 4 ค่ำ, ปัญจมี 5 ค่ำ, ฉัฏฐี 6 ค่ำ, สัตตมี 7 ค่ำ, อัฏฐมี 8 ค่ำ, นวมี 9 ค่ำ, ทัศมี 10 ค่ำ, เอกทัศมี 11 ค่ำ, ทวาทศมี 12 ค่ำ, เตรสมี 13 ค่ำ, จาตุทสี 14 ค่ำ, ปัณณรสี 15 ค่ำ

ปักษ์

ศุก, ศุกก, ศุกล, ชุณห์, ชุษณ ข้างขึ้น

กาล, กาฬ, กัณห ข้างแรม

เดือน

เดือนไทยเรานี้ท่านนับและเขียนเป็นตัวเลขอยู่แล้วเว้นเสียแต่ 1, 2 ท่านนับเป็น อ้าย, ยี่ เพราะ ฉะนั้นถ้าพบว่าท่านเขียน “เดือน 1, เดือน 2” อย่าได้อ่านเป็น “เดือนหนึ่ง, เดือนสอง” เป็นอันขาด พึงอ่านว่า “เดือนอ้าย, เดือนยี่” ให้ต้องตามระบอบเทอญ

(ภาพที่ 1)

อนึ่งที่ท่านเขียน วัน, เดือน, ขึ้น-แรม, ใส่ไม้เปยยาลน้อยไว้ (ภาพที่ 1) แบบนี้ก็มีเป็นอันมาก เลขตัวหน้านั้นคือวาร ตัวที่ 2 ที่ไม้เปยยาลนั้นเป็น ขึ้น-แรม ถ้าอยู่ ข้างบนเป็นข้างขึ้น, อยู่ข้างล่างเป็นข้างแรม ตัวหลังสุดคือเดือน ในตัวอย่างนี้ก็อ่านได้ว่า “วันอาทิตย์ ขึ้น 1 ค่ำเดือนยี่”

ภาพที่ 2

อีกหนึ่ง เดือนไทยเรานี้มักมี เดือน 8 สองหน คือ 3 ปีก็มีเสียทีหนึ่ง ในกรณีเช่นนี้ถ้าเป็น 8 แรกก็ ไม่เป็นไร เพราะท่านก็ใส่เลข 8 ลงไปตามธรรมดา แต่ถ้าเป็น 8 หลัง ท่านจะใส่ลงไป (ภาพที่ 2) แบบนี้หมายถึง 8 ที่ 2 คือเดือน 8 เดือนหลังนั่นเอง ต้องอ่านว่า “เดือนแปดหลัง” อย่าไปอ่าน “แปดสอง” หรือ “สองแปด” หรือ “แปดแปด” เป็นอันขาด

เดือนไทยของเราตรงกับศัพท์โหราศาสตร์ ดังนี้

จิตร 5, วิสาข 6, เชฏฐ 7, อาสาฬห อาสาณห อาษาฒ อาสาท 8, สาวนะ 9, ภัทรบท 10, อาสุข อาสยุช อาศวยุช 11, กัตติก กฤตติก มิคศิร มฤคศิร 1 (อ้าย), บุษย 2 (ยี่), มาฆ 3, ผคุณ 4

ในกรณีเดือน 8 สองเดือนนั้น เดือนแรกท่านจะใช้ บูรพาษาฒ หรือ ปฐมาสาฒ, เดือน 8 หลังท่านจะใช้ ทุติยาษาฒ หรือ อุตตราษาฒ

ปี

ท่านมักผูกศัพท์ไว้ดังนี้

ชวด มุสิก, ฉลู อุสุภ, ขาล พยัคฆ, เถาะ ศศ สัตะ สักษะ, มะโรง นาคะ, มะเส็ง สัปป สัป, มะเมีย อัสส อัษะ, มะแม อัชช อัชฉ เอฬก, วอก มักกฎ วานร, ระกา กุกกุฎ, จอ โสณ สุนัข สุนักข, กุน ศุกร สุกร

คำ “เทวา” ในรามเกียรติ์ ฉบับ ร. 1 ที่ความว่า “เทวาสถิตอยู่เมษสิ้น” นั้นจะเป็นเทวดาที่เป็นรูปกายดังที่เรารู้จักกันหามิได้ คือดาวเคราะห์นั่นเอง, เป็นโวหารของโหรโบราณซึ่งท่านสมมุติดาวเคราะห์ทั้งหลายเป็นเทวดา ดังมีคำพยากรณ์ว่า “เทวดาร้ายๆ จรมาต้องลัคนาในราศีนระกลายเป็นองค์เกณฑ์ สงบความร้ายสิ้น”

ท้าวทศรถเมื่อตอนที่จะอภิเษกพระรามให้ครองเมืองอยุธยานั้นก็สั่งให้โหรหาฤกษ์ โหรก็เอาดวงชาตาพระรามมาดู ก็ปรากฏว่าดวงพระรามนั้นมีดาวเคราะห์ 6 ดวง คือ 1 (อาทิตย์) 3 (อังคาร) 4 (พุธ) 5 (พฤหัส) 6 (ศุกร) 7 (เสาร์) อยู่ในราศีเมษ มี 2 ดวงเท่านั้นที่กระเด็นอยู่นอก คือ 2 (จันทร์) อยู่ราศีมีนกุมลัคนาและ 8 (ราหู) อยู่ราศีกันย์ เล็งลัคนา, กลอนจึงได้ว่า “เทวาสถิตอยู่เมษสิ้น”

นี่ก็เป็นหลักฐานอันหนึ่งทางโหราศาสตร์ ว่าเมื่อสมัย ร. 1 นั้น ยังมีดาวเคราะห์แค่ 8 ดวง ผมได้พบตำราโหราศาสตร์เล่มหนึ่งว่าด้วยดาวเคราะห์กระทบกัน จ่าหัวว่า “ทศเคราะห์โคจร” แต่อ่านไปในคำพยากรณ์แล้วก็มีแค่ราหูเท่านั้น แสดงว่าคนรุ่นหลังนี่เองมาใส่ชื่อให้โดยลืมพิจารณาเนื้อหาข้างใน คงเป็นตำรารุ่นก่อนนั้น

รูปที่ 3

ลัคน์ หรือ ลัคนา ก็คือเวลาเกิด ซึ่งโหรจะคำนวณแล้ววางไว้ตามราศีที่คำนวณได้ เป็นเครื่องมือพยากรณ์เจ้าชาตา จะดูดีดูร้ายก็อาศัยลัคนานี้แหละเป็นเครื่องพยากรณ์ มักปรากฏในดวงเป็นอักษร ส แต่ที่จริงนั้นคือตัว ล แต่เป็น ล ขอม โหรโบราณท่านเป็นขอม, ท่านก็เขียน ล ขอมหวัดลงไป (รูปที่ 3) ดังนี้. โหรสมัยหลังนี้ไม่เป็นขอม เห็นอาจารย์เขียน ล ขอมหวัดคิดว่าเป็นตัว ส ของไทย ก็เลยเขียน ส ลงไปชัดๆ

ขอเชิญลงทะเบียนเข้าร่วมฟัง สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ชะตาเมือง – เรื่องดวงดาว” (ผู้ลงทะเบียนล่วงหน้า มีสิทธิ์ลุ้น รับคำทำนายดวงชะตาส่วนตัว “ฟรี” ในวันเสวนา) วิทยากร : บุศรินทร์ ปัทมาคม และ วสุวัส คำหอมกุล, เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ดำเนินการเสวนา วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2566 เวลา 13.30-15.00 น. ณ ห้องโถงอาคารมติชนอคาเดมี โปรดสำรองที่นั่งล่วงหน้า ตามลิงค์นี้ https://docs.google.com/…/1WQ6xE0DeELNZriIk…/viewform… หรือ inbox เฟซบุ๊กเพจ Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม หรือโทร. 0 2580 0021-40 ต่อ 1206, 1220

ปีเหนือ

เนื่องจากตัวอย่างที่ผมยกมาอ้างคือ ตำนานเมืองเชียงใหม่อันเป็นภาษาพื้นเมืองมีชื่อปีเมืองของเขาด้วยคือ “ปีระวายสัน” เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นก็จะได้แปลเทียบปีเหนือกับปีใต้ไว้ให้ด้วย.

ส่วนเรื่องฤกษ์และยามนั้น รู้สึกว่าจะก้าวล่วงเข้าไปในวงโหราศาสตร์ลึกมากไปก็ของด แต่หากมีผู้ใคร่ทราบใคร่รู้-ขอมา ก็จะอธิบายให้ในคราวหลัง การอธิบายเรื่องฤกษ์ และยามนั้นไม่อยากหรอก แต่ที่มาของคำที่เรียกว่า “แถล (แตร) รุ่ง-แถลคำ” และ “ตูดเช้า-ตูดชาย” นั้นมันไม่ง่ายนัก และถ้าหากไม่อธิบายถึงส่วนนี้แล้วคอลัมน์นี้ก็ไม่รู้ว่าจะเรียก “นิรุตติศาสตร์” ไปทำไม

ปีไทยเหนือเทียบกับปีไทยใต้ดังนี้

ชวด ไจ้, ฉลู เป๊า, ขาล ยี่, เถาะ เม้า, มะโรง สี, มะเส็ง ไส้, มะเมีย ซง้า, มะแม เม็ด, วอก สัน, ระกา เล้า, จอ เส็ด, กุน ไก๊

ศกเหนือ

เอก กาบ, โท ดับ, ตรี ระวาย, จัตวา เมิง, เบ็ญจ เบิก, กัด, สัปต กด, อัฏฐ ลวง, นพ เต่า, สัมฤทธิ์ กา

“ระวายสัน” ที่กล่าวในตํานาน ก็คือ วอกตรีศก นั่นเอง แต่วิธี ของเหนือเอาศกไว้หน้า, ถ้าอ่านตรงก็ ตรีศก-วอก แต่เลขศกของเขาไม่ตรงกับเรา คือของเขาแก่กว่าเราไป 5 หลัก เช่น เริ่มจุลศักราช 1 นั้นของเรา กุนเอกศก, แต่ของเขาเดินไป ฉศก-กุน (กัดไก้) แล้ว

ส่วนที่ว่าทำไมตัวเลขศกของทางเหนือจึงเดินหน้าเกินทางใต้เราไป 5 หลักเช่นนี้นั้น เป็นเรื่องยืดยาวครับ, พูดไปก็จะไม่มีใครรับฟัง เพราะเป็นการตอกย้ำว่าไทยเรามาจากจีน จึงของด

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ศัพท์โหราศาสตร์” เขียนโดย ภาษิต จิตรภาษา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน  2532


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2566