ทำไม “โหราศาสตร์” ถึงมีบทบาทในสังคมไทยยุคดิจิทัล?

โหราศาสตร์และดวงดาว (public domain : freepik.com)

เป็นเวลาหลายศตวรรษไม่เพียงแต่ในประเทศตะวันตกเท่านั้น แต่อย่างประเทศอินเดีย จีน หรือไทยเอง โหราศาสตร์ก็เป็นศาสตร์ที่ยังคงได้รับความนิยม ถึงแม้ปัจจุบันนี้จะเป็นยุคแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้า หรือในช่วงหลายศตวรรษที่เปลี่ยนผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แต่ ‘โหราศาสตร์’ ก็เป็นศาสตร์ที่คงอยู่ในโลกนี้มาได้อย่างยาวนาน และก็ไม่มีทีท่าว่าจะหายไป

สัญญาณการกลับมาได้รับความนิยมของโหราศาสตร์นั้น เราจะเห็นได้จากการทำนายดวง จักรราศี การดูไพ่ หรือศาสตร์อื่น ๆ จากหลากหลายช่องทางในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นท้ายนิตยสาร คอลัมน์ หนังสือพิมพ์ ยูทูบ ข่าว รายการทีวี แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ อาทิ ไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เป็นต้น หรือไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์เฉพาะสำหรับการดูดวงโดยตรง ในยุคนี้ก็มีให้เห็นอยู่มากมาย

เห็นได้ว่าในยุคดิจิตอลนี้การดูดวงที่เมื่อก่อนจะสามารถทำได้เฉพาะออฟไลน์ (ดูดวงตัวต่อตัวกับหมอดู) หรืออย่างมากก็เป็นแค่การสื่อสารกันทางโทรศัพท์ แต่ยิ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ช่องทางในการเข้าถึง ‘ศาสตร์’ พวกนี้ก็ดูจะมีให้คนเข้าถึงได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน

ที่มา ‘โหรไทย-หมอดู’ ผู้พยากรณ์ดวงในสมัยอดีต-ปัจจุบัน

หากเท้าความไปถึงสมัยก่อน ‘โหร’ เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติทางราชการ มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ทั้งในทางกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี และฤกษ์ยามทางโหรเอง ต่อมาใน พ.ศ. 2521 สมัยรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออกกฎหมายให้บรรดาโหรทั้งหลายไปจดทะเบียนการค้าต่อกรมสรรพากร โหรจึงกลายเป็นอาชีพทางการค้าอย่างหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำนายเหตุการณ์ในปัจจุบันและอนาคตโดยใช้วิธีการพยากรณ์ตามหลักโหราศาสตร์ คือการใช้ดวงดาวบนท้องฟ้ามาเป็นเครื่องสำหรับการคำนวณลงไปในดวงชะตาของแต่ละคน

แต่การพยากรณ์ตามหลักโหราศาสตร์นี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและใช้เวลายาวนาน ผู้พยากรณ์จึงได้นำหลักการพยากรณ์อื่น ๆ เช่น ตารางกราฟชีวิต การดูลายมือ ไพ่ยิปซี ไพ่ทาโรต์ ฯลฯ เข้ามาใช้ร่วมด้วย จึงกลายเป็นการเรียกว่าหมอดูเสียมากกว่าโหร หากมองถึงยุคปัจจุบัน คำว่า ‘โหร’ และ ‘หมอดู’ ก็แทบแยกจากกันไม่ออก แต่ก็มักใช้ในความหมายเดียวกันคือหมายถึง ‘ผู้พยากรณ์’

ขอเชิญลงทะเบียนเข้าร่วมฟัง สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ชะตาเมือง – เรื่องดวงดาว” (ผู้ลงทะเบียนล่วงหน้า มีสิทธิ์ลุ้น รับคำทำนายดวงชะตาส่วนตัว “ฟรี” ในวันเสวนา) วิทยากร : บุศรินทร์ ปัทมาคม และ วสุวัส คำหอมกุล, เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ดำเนินการเสวนา วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2566 เวลา 13.30-15.00 น. ณ ห้องโถงอาคารมติชนอคาเดมี โปรดสำรองที่นั่งล่วงหน้า ตามลิงค์นี้ https://docs.google.com/…/1WQ6xE0DeELNZriIk…/viewform… หรือ inbox เฟซบุ๊กเพจ Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม หรือโทร. 0 2580 0021-40 ต่อ 1206, 1220

ความเชื่อโหราศาสตร์ต่อวิถีชีวิตคนไทยในศตวรรษที่ 21

มานพ นักการเรียน นักวิชาการประจำหลักสูตรสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา เขียนไว้ในบทนำเอกสารประกอบการสอนของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย เรื่อง พระพุทธศาสนากับความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ ว่า

“โหราศาสตร์กับสังคมไทยนั้น แยกจากกันไม่ออก ในสมัยโบราณการดำเนินชีวิตของบุคคลหรือเหตุการณ์บ้านเมือง โหราศาสตร์จะนำมาใช้อย่างเข้มงวดกวดขัน โดยแสดงออกในรูปของพิธีกรรม ความเชื่อ และวัฒนธรรม ประเพณี ตั้งแต่การเกิด การมีคู่ครอง การทำบุญอายุ การตาย การทำศึกสงคราม การวางศิลาฤกษ์ฝังเสาหลักเมือง แต่ในปัจจุบัน มนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุดที่จะพรรณนาได้ โหราศาสตร์อาจจะไม่จำเป็นเสียแล้วก็ได้

แต่เป็นเรื่องที่ผิดคาด ยิ่งโลกเจริญมากขึ้นเท่าใด วิถีชีวิตของมนุษย์ยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้นทวีคูณ มีปัญหา ความเครียดถาโถมโหมกระหน่ำเข้ามานับไม่ถ้วน ถึงอย่างไรเสียก็จำต้องพึ่งโหราศาสตร์ จากงานวิจัยของพิไลรัตน์ รุจิวณิชย์กุล พบว่า ผู้ที่ใช้บริการตรวจดวงชะตาราศีจากโหราจารย์หรือหมอดูเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ฐานะทางเศรษฐกิจระดับปานกลาง การศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุด เรื่องที่นิยมถามกันมากมี 4 เรื่อง ได้แก่ เรื่องความรักรวมถึงปัญหาครอบครัว เรื่องการงาน เรื่องการศึกษา และเรื่องการเจ็บป่วย(มานพ นักการเรียน, 2554)

จากบทนำงานวิจัยเรื่อง การศึกษาเชิงวิเคราะห์ทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทที่มีต่อ โหราศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ของ จักรเทพ รำพึงกิจ บัณฑิตวิทยาลัยมหามกุฏมหาราชวิทยาลัย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องโหราศาสตร์กับสังคมไทยไว้ว่า

การที่หนังสือพิมพ์รายวันและนิตยสารมีคอลัมน์เกี่ยวกับโหราศาสตร์และข่าวการทำนายดวงเมืองหรือดวงบุคคลสำคัญได้รับความสนใจ มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง พอจะสะท้อนให้เห็นว่าการทำนายทายทักเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย กิจกรรมที่สำคัญต่อชีวิตของคนไทยล้วนเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ เช่น การหาฤกษ์แต่งงาน การกำหนดวันเปิดกิจการใหม่ หรือการตัดสินใจปัญหาสำคัญ เป็นต้น

บุคคลหลากหลายอาชีพ ทุกระดับชั้น ทุกเพศ ทุกวัย จากชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ ชนชั้นกลาง จนถึงผู้นำระดับประเทศ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าโหราศาสตร์มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทยปัจจุบัน

โดยจะรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตาม จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แม้เราจะไม่เชื่อ คนรอบข้างเราก็อาจจะเชื่อ หรืออาจกล่าวได้ว่า การทำนายทายทัก เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดพลวัตในสังคมไทย(จักรเทพ รำพึงกิจ, 2551, หน้า 1-2)

ดังนั้น สังคมไทยจึงมีความเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์และพระพุทธศาสนาผสมกลมกลืนกันมาช้านาน เห็นได้ว่า ตั้งสมัยอดีตมาจนถึงปัจจุบัน การมีอยู่ของโหราศาสตร์เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่ในปัจจุบันนั้นแนวทางในการทำนายหรือพยากรณ์มักมีความแตกต่างกันไปตามความถนัดของผู้พยากรณ์และตามความสนใจของผู้ที่ได้รับการพยากรณ์ แต่ที่มาที่ไปของการพยากรณ์ประเภทต่าง ๆ ในไทย (ตั้งแต่สมัยโบราณ) ก็มาจากผู้ทำนายหรือผู้พยากรณ์ที่เรียกว่าโหร ซึ่งใช้หลักการของโหราศาสตร์ในการทำนาย

อีกทั้งแม้ในปัจจุบัน ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทต่อสังคมไทยหรือสังคมโลกมากขึ้นแค่ไหน แต่ศาสตร์การพยากรณ์ ความเชื่อต่าง ความคิด พิธีกรรมต่าง ๆ ก็ยังฝังรากความคิดไว้กับคนไทย ยังคงมีอิทธิพลต่อคนในสังคมอยู่ และมีทีท่าว่าจะมากขึ้นในศตวรรษที่ 21 นั่นมาจากการเข้าถึงช่องทางการทำนายที่หลากหลายขึ้น หรือด้วยปัจจัยทางสังคมที่ผลักดันให้คนมีความเครียดมากขึ้นจนต้องหันมาพึ่งความเชื่อหรือสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายทางวิทยาศาสตร์

ด้วยเหตุต่าง ๆ ดังกล่าว ทั้งการต้องการเสริมสร้างกำลังใจ การหาที่พึ่งในการตัดสินใจต่อเรื่องต่าง ๆ ของผู้คน ทำให้โหราศาสตร์ยังคงมีอิทธิพล มีบทบาทอย่างมากต่อสังคมไทย และเห็นได้ว่าทวีขึ้นในศตวรรษ 21 นี้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุนึก ทวิวนานันท์. (2535). บทบาทของหมอดูกับการแก้ปัญหาวัยรุ่น. สารนิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต, ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.

มานพ นักการเรียน. (2554). พระพุทธศาสนากับความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

จักรเทพ รำพึงกิจ. (2551). การศึกษาเชิงวิเคราะห์ทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทที่มีต่อโหราศาสตร์ในยุคปัจจุบัน An Analytical Study of the Concept of Theravada Buddhist Philosophy to Astrology. สารนิพนธ์(ศน.ม), มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มกราคม 2566