โหราศาสตร์ กับข้อห้าม แต่งงานวันพุธ-เผาผีวันศุกร์-ขึ้นบ้านใหม่วันเสาร์

ขุนช้าง วันทอง งานแต่งงาน ขันหมาก งานแต่ง
(ภาพประกอบเนื้อหา) “แต่งงานขุนช้างกับนางวันทอง” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. 2547

คนสมัยก่อนยึดถือเรื่อง “โหราศาสตร์” มาก ไม่ว่าจะทำกิจการอันใดในชีวิตก็จะถือ “ฤกษ์ยาม” เป็นสำคัญ อย่างเช่นวันที่ไม่ควรประกอบกิจการบางอย่าง คือ ห้ามเผาศพวันศุกร์ ห้ามโกนจุกวันอังคาร ห้ามขึ้นบ้านวันเสาร์ ห้ามแต่งงานวันพุธ

วันที่ไม่ควรประกอบกิจการงานบางอย่างตามที่โบราณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโหราศาสตร์ได้ห้ามไว้ มีกล่าวถึงในหนังสือ “ปฏิทิน 125 ปี” (อุดมศึกษา, 2509) เรียบเรียงโดย อุดม จงกมานนท์ มีรายละเอียดดังนี้

“ห้ามเผาศพวันศุกร์ วันศุกร์เป็นวันที่โบราณท่านห้ามทำการเผาศพ เพราะถือกันว่า ‘ปลงศพวันศุกร์ให้ทุกข์กับคนเป็น’ และอีกประการหนึ่ง ทางด้านโหราศาสตร์ ดาวพระศุกร์ท่านจัดไว้ในประเภท เทพยดาแห่งความสมบูรณ์พูนสุข จึงไม่สมควรแก่การกระทำการ ซึ่งจะทำให้เกิดความเศร้าโศก อย่างเช่น ปลงศพเป็นต้น…

ห้ามขึ้นบ้านใหม่ในวันเสาร์ วันเสาร์เป็นวันที่ไม่ควรที่จะขึ้นอยู่บ้านใหม่ และยกเสาเอก หรือเปิดอาคารห้างร้านค้า เพราะทางโหราศาสตร์ถือว่า ดาวเสาร์เป็นดวงดาวที่ท่านจัดไว้ว่าเป็นเทพยดาแห่งความทุกข์ยาก เจ้าแห่งความวิตก จึงไม่ควรที่จะทำการเพื่อหวังสิ่งสุขสวัสดิมงคล เช่นขึ้นบ้านใหม่เป็นต้น

ห้ามแต่งงานวันพุธ วันพุธเป็นวันที่ห้ามในการประกอบพิธีมงคลสมรส เพราะทางโหราศาสตร์ถือว่า วันพุธนี้จัดเข้าในสุนัขนาม เป็นนามสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งเป็นนามไม่เป็นมงคล ดาวพุธเป็นดวงดาวที่แปรปรวน หาความแน่นอนมิได้ พิธีการมงคลสมรสนี้ เป็นพิธีการมงคลที่ต้องการความถาวร จึงไม่ควรกระทำในวันพุธ

อนึ่งดาวพุธนี้ถือว่าเป็นดาวปัญญา ฉะนั้นโบราณาจารย์ จึงห้ามตัดผมวันพุธ ถือว่าถ้าตัดผมในวันพุธจะทำให้ปัญญาเสื่อม ซึ่งมีเป็นคำพังเพยมีอยู่ว่า ‘พุธห้ามตัด พฤหัสห้ามถอน’…”

นอกจากความเชื่อเรื่องวันที่ไม่ควรประกอบกิจการบางอย่างข้างต้นแล้ว ยังมีความเชื่อเรื่อง วันโลกาวินาส-วันอบาทว์, วันดับ-วันสูรย์, ดิถีมหาสูญ, อัคนิโรธ, วันจมวันลอย รวมถึงเรื่อง ภิกษุ 14, นารี 11, สมรส 7, เผาผี 15 มีรายละเอียดดังนี้

“ภิกษุ 14 คือวันที่มีดิถีขึ้นหรือแรม 14 ค่ำ ห้ามประกอบการมงคลเกี่ยวแก่สงฆ์ เช่น การบวชนาค วันนี้เนื่องมาจากตำราอัคนิโรธ หรือตัวกาลกรรณีนั้น ลงสู่พัทธเสมาในวันขึ้นและแรม 14 ค่ำ จึงมิควรที่จะทำการบวชนาคกุลบุตรเป็นพระภิกษุสงฆ์ เพราะการที่จะบวชต้องกระทำกันภายในบริเวณพัทธเสมา

นารี 11 คือวันที่มีดิถีขึ้นหรือแรม 11 ค่ำ ห้ามประกอบพิธีมงคลเกี่ยวกับหญิง เช่น โกนจุกเด็กหญิง เป็นต้น ห้ามทำในวันขึ้นหรือแรม 11 ค่ำ โบราณาจารย์ถือในข้อนี้อย่างเด็ดขาด

สมรส 7 คือวันที่มีดิถีขึ้นหรือแรม 7 ค่ำ ห้ามประกอบพิธีมงคลสมรส คือแต่งงาน ยิ่งถ้าไปตรงเข้ากับวันศุกร์ด้วยแล้วยิ่งถือนัก แต่ส่วนมากมักถือกันเฉพาะวันศุกร์ขึ้นหรือแรม 7 ค่ำเท่านั้น ส่วนวันอื่นขึ้นหรือแรม 7 ค่ำ ไม่สู้จะถือกันเท่าไรนัก เหตุที่ถือก็เพราะไม่เข้ากับตำราโหราศาสตร์ ในเรื่องพินธุอุบาทว์ว่า ‘ศุกร์เจ็ด อาจารย์เจ้า ว่าร้อนนิรันดร’ ถ้าไปตรงกับวันอื่น เหตุที่ไม่ถือเพราะไปเข้ากับตำราเรียงหมอน (ดิถีแมลงปอ) ซึ่งใช้ในการพิธีมงคลสมรสได้

เผาผี 15 คือวันที่มีดิถีขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ ห้ามทำการปลงศพ และมีเรื่องลือกันในเรื่องเผาผีนี้อีกประการหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวกับดิถี คือข้างขึ้นให้เผาผีดิถีเป็นคี่ เช่น 1-3-5-7-9-11-13-15 ค่ำ ข้างแรมให้เผาผีเป็นดิถีคู่ เช่น 2-4-6-8-10-12-14 ค่ำ เป็นต้น สำหรับวันที่ห้ามปลงศพ 15 ค่ำ เห็นจะเป็นที่ไปตรงกับวันพระ อันเป็นวันที่พระสงฆ์จะต้องทำสังฆกรรม เกรงจะไม่สะดวก เพราะการปลงศพจะทำกันในวัด และพระสงฆ์จะต้องปฏิบัติกิจวัตรในวันนั้น อีกประการหนึ่ง การปลงศพในสมัยก่อน ปลงกันในลานวัดไม่มีเตาอบอย่างสมัยปัจจุบัน เกรงกลิ่นศพจะรบกวนสุขภาพแก่พระสงฆ์ที่ท่านทำสังฆกรรม เห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้จึงไม่ปลงศพ ในวัน 15 ค่ำนี้ ตำราที่ถือกันมาแต่โบราณกาล แต่ในปัจจุบันนี้มักจะไม่ใคร่ถือกันเคร่งครัด…”

ปัจจุบันความเชื่อ “โหราศาสตร์” ยังมีอยู่มากในสังคมไทย แต่เรื่องวันที่ไม่ควรประกอบกิจการบางอย่างนั้นดูจะไม่ใคร่เคร่งครัดเท่าใดนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤกษ์สะดวกเป็นสำคัญ แต่หากจะเชื่อเรื่องเหล่านี้ก็ไม่เสียหายอะไร อย่างน้อยเพื่อความสบายใจของตนเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2565