ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
---|---|
เผยแพร่ |
เหตุที่ร้านตัดผมหยุดวันพุธ พระเจ้าแผ่นดิน “ตัดผมวันพุธ” จริงหรือไม่ ?
เมธ วิมล หรือ อ.สุเมธ ไกรวิมล ถามมาว่า ทำไมร้านตัดผมส่วนมากมักจะหยุดวันพุธ… พี่สุเมธถามช่าง ช่างตอบว่า..ไม่มีอะไร แค่จะหาวันหยุดสักวันเท่านั้น…..
พี่สุเมธอยากรู้เหตุผลที่แท้จริง จึงค้นหนังสือหาคำตอบต่อไป
หนังสือบางเล่มบอกว่า สมัยก่อนช่างตัดผมหายาก
วันพุธช่างจะต้องเข้าวัง ไปตัดผมให้บรรดาเจ้านายในวัง ..ทำให้มีการถือห้ามตัดผมคนทั่วไปวันพุธ
ลุงรักชาติ ราชบุรี หรือ อ.เล็ก เพื่อนเก่าวรนารีเฉลิม สงขลา ช่วยตอบว่า ตอนเด็ก ๆ มีบทท่องที่ว่า
“วันพุธห้ามตัด (โบราณว่าหัวกุดท้ายเน่า) วันศุกร์ห้ามเผา วันเสาร์ห้ามแต่ง”
นี่ก็น่าสนใจเหมือนกัน
เรื่องหยุดร้านวันพุธนั้น ลองสำรวจในอินเตอร์เนตดู เห็นตอบกันไป ตอบกันมา ลอกกันไป ลอกกันมาโดยไม่รู้ต้นรู้ปลาย
คือไม่มีใครอ้างอิงหลักฐานให้ทราบแน่ชัดว่ารู้อะไรมาจากไหน
เป็นการเขียนแบบเลื่อนลอย อ่านแล้วลำบากใจ -ผมไม่ชอบวิธีเขียนแบบนี้
เช่นบอกว่าวันพุธเป็นวันพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายตัดผม คนทั่วไปจึงไม่ตัดผมวันพุธ เพราะเกรงเป็นการตีตนเสมอเจ้านาย …..อันนี้ประเดี๋ยวผมจะพิสูจน์
ต่อไปบอกว่าตัดผมวันพุธไม่เป็นมงคล นำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่น
และสุดท้ายบอกว่า วันพุธเป็นวันเกษตร ขัดแย้งกับการเจริญงอกงาม
เดี๋ยวนี้ ร้านตัดผมหลายร้านไม่ได้หยุดวันพุธ และคนตัดผมวันพุธก็ไม่เห็นมีใครเป็นอะไร
ที่บางร้านหยุดวันพุธ คงมีเหตุผลอะไรสักอย่างซึ่งต้องหาหลักฐานมาแสดง
ทีแรกผมนึกถึงเรื่องตัดจุก พระคเณศ หรือ พระพิฆเนศ ซึ่งมีหัวเป็นช้าง แทนที่จะมีหัวสวย ๆ อย่างเทพทั่วไป
เรื่องของเรื่องคือ วันหนึ่งพระอิศวร พ่อของพระคเณศท่านจะจัดงานโกนจุกให้ลูกชาย ให้เทวดาองค์หนึ่งไปเชิญพระนารายณ์มาร่วมพิธีด้วย
บังเอิญพระนารายณ์กำลังนอน พอท่านถูกปลุกให้ตื่น กำลังงัวเงียก็พูดออกไปด้วยความรำคาญใจว่า อ้ายลูกหัวขาดนี่กวนใจนัก…
ทันใดนั้นหัวพระคเณศก็ขาดกระเด็นออกไป หาเท่าไรก็ไม่เจอ
เดือดร้อนต้องตัดเอาหัวช้างตัวหนึ่งที่นอนตายอยู่มาต่อแทน พระคเณศจึงมีหัวเป็นช้างตั้งแต่บัดนั้น
ผมจำผิดนึกว่าวันตัดจุกพระคเณศตรงกับวันพุธ แต่ค้นเรื่องพระคเณศเท่าที่มีข้างตัว ก็ไม่เห็นระบุว่าตัดวันพุธหรือวันไหน
แสดงว่าเรื่องเหตุที่ไม่ตัดจุกหรือตัดผมวันพุธ มิได้เกี่ยวกับเรื่องพระคเณศ (หมายเหตุ-โปรดอ่านคอมเม้นต์จากภัทรพล เปี้ยวนิ่ม กล่าวว่าตัดจุกพระคเณศวันพุธ อ้างหลักฐานจากเยรินี “เยรินีเขียนในเล่มจุฬากันตะมงคลเมื่อกล่าวถึงงานโกนจุกพระขันธกุมารว่าวันที่ประกอบพิธีนั้นเป็นวันพุธครับ กับว่าวันพุธเป็นวันแรง (จำไม่ได้แล้วว่าแกอ้างหรือไม่ว่าทำไมจึงเป็นวันแรง) ห้ามทำการใด ๆ ที่ใช้มีดหรือกรรไกรเด็ดขาด“)
เดือดร้อนต้องไปหาตำราพรหมชาติมาเปิดดู จึงได้คำตอบ ว่าเป็นเรื่องของความเชื่อเกี่ยวกับวันดีวันไม่ดี ตามตำราที่คัดลอกต่อ ๆ กันมายาวนาน
และไม่มีใครสนใจทำสถิติพิสูจน์ว่าจริงไม่จริง
เช่น ตำราพรหมชาติบอกว่า
“ใครจะตัดเกษให้ วิจารณ์
อาทิตย์มีชนมาน มากไซร้
ศะศิพึงสำราญ ระงับโรค
ผิววันอังคารให้ เดชล้ำลือชา
ตัดผมวันพุธแล้ว อัปลักษณ์ นาพ่อ
พฤหัสบดิ์เทพยดารักษ์ ปกป้อง
วันศุกร์จะมีพักตร์ สามารถ
เสาร์เกิดมงคลสร้อง แซ่ผู้สรรเสริญฯ”
หมายความว่าตัดวันอาทิตย์จะมีอายุยืน
ตัดวันจันทร์(ศศิ) มีความสำราญ ไม่มีโรค
ตัดวันอังคาร มีเดชมีชื่อเสียง
ตัดวันพุธ อัปลักษณ์ ไม่ดี….
ตัดวันพฤหัสเทวดาปกป้อง
ตัดวันศุกร์มีหน้ามีตา มีความสามารถ
ตัดวันเสาร์มีมงคล มีคนแซ่ซร้องสรรเสริญ
นึกถึงหนังสือสำคัญชื่อ เคล็ด ลาง อาถรรพณ์ ของ น. ณปากน้ำ หรือพลูหลวง (ประยูร อุลุชาฎะ ผู้แต่งตำราโหร และตำราศิลปะ) สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง พิมพ์หลายครั้งมาก (2533-2544 รวม 11 ครั้ง)
ผมได้รับแจกตอนงานพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์ น. เมื่อวันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2544
เปิดไปหน้า 3-4 ได้ความรู้ว่า “ห้ามขึ้นบ้านวันเสาร์ เผาผีวันศุกร์ โกนจุกวันอังคาร แต่งงานวันพุธ”
เหตุผลเพราะวันเสาร์เป็นวันทุกข์โศก จึงห้ามขึ้นบ้านใหม่
วันศุกร์เป็นวันโชคลาภรื่นเริงจึงห้ามเผาผี (มีคำกล่าวเสริม ว่าเผาผีวันศุกร์ ให้ทุกข์คนยัง-หมายถึงเมื่อเผาผีในวันศุกร์แล้วคนที่ยังอยู่ต่อไปจะเดือดร้อน)
ห้ามโกนจุกวันอังคาร เพราะวันอังคารเป็นวันแรง มักมีอุปัทวเหตุเลือดตกยางออก หากโกนจุกวันนี้อาจเผลอพลาดทำมีดบาดได้ง่าย ๆ
ห้ามแต่งงานวันพุธ เพราะถือกันว่าวันพุธรวนเร หากแต่งงานหรือหมั้นหมายมักจะอยู่กันไม่ยั่งยืน
อีกสำนวนหนึ่งกล่าวกันว่า “วันพุธห้ามตัด วันพฤหัสห้ามถอน”
อธิบายขยายความว่า
“วันพุธเป็นวันเจริญเติบโตของการแตกหน่อ
จึงห้ามตัดต้นไม้หรือตัดผม
ทุกวันนี้ช่างตัดผมหยุดกิจการในวันพุธก็เนื่องด้วยคติข้อนี้”
ส่วนวันพฤหัสบดีเป็นวันอุดมสมบูรณ์และความมั่งคั่ง
จึงห้ามถอนต้นไม้หรือถอนเสาเรือนโยกย้ายใด ๆ ทั้งสิ้น
น. ณ ปากน้ำ เป็นผู้ศึกษาเรื่องโหราศาสตร์อย่างจริงจัง
ได้รวบรวมข้อมูลและสถิติต่าง ๆ มาอธิบายให้อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน
หนังสือเคล็ดลางอาถรรพณ์ จึงน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด
ในการอธิบายว่าทำไมช่างตัดผมจึงหยุดวันพุธ….
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นมันเป็นเรื่องของความเชื่อซึ่งยากจะพิสูจน์….
ก็ได้แต่เชื่อต่อ ๆ กันไป ถ้าไม่เชื่อเสียอย่างก็ตัดได้หมดทุกวัน
ปิดท้าย
ผมจะพิสูจน์ว่าพระเจ้าแผ่นดิน “ทรงเครื่องใหญ่” หรือ ตัดผมวันพุธ ตามที่อินเตอร์เนตว่าหรือไม่
วิธีการคือต้องไปหยิบหนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ที่ ร.5 ทรงบันทึกเอง มาเปิดดู
โชคดีที่ไม่ต้องรอข้ามวัน เพราะผมเก็บหนังสือสองบ้าน ราชกิจฯ ส่วนใหญ่อยู่อีกบ้าน แต่มีบางเล่มหลงอยู่ที่บ้านพิพิธภัณฑ์
หยิบภาคที่ 1 มาได้พอดี พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2476 พลิกดูไปเรื่อย ๆ….น่าตื่นเต้น…
พอถึงหน้า 54 เท่านั้นแหละคุณเอ๋ย…
ขนลุกซู่….
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเขียนว่า
“วันเสาร์ แรม 1 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลูนพศก จุลศักราช 1239 วันนี้ตัดผมแล้วเจ้าพระยาศรีพิพัฒ มาพูดด้วยการที่ภูเขาทอง ได้สั่งให้หยุดการไว้ ต่อบรรจุพระแล้วจึงจะไปดูการให้ทำต่อไป….”
เป็นอย่างไรล่ะ !!!
พระเจ้าแผ่นดิน ทรงตัดผมวันพุธไหม? ปล่าวเลย…ย…ย….ย…ย…ย…ย…..
ทรงตัดผมวันเสาร์ หรือหากค้นต่อไปอีก อาจทรงตัดวันอื่นอีกด้วยก็ได้
แต่เอาตัวอย่างแค่นี้ก็คงเพียงพอ
สรุปว่า ที่ ร้านตัดผม หยุดวันพุธ น่ะ มาจากความเชื่ออย่าง น.ณปากน้ำ ว่าเป็นหลัก
ส่วนที่ลอกต่อ ๆ กันมาว่าวันพุธ พระเจ้าแผ่นดินตัดผม ชาวบ้านมิบังควรตีเสมอ เป็นเรื่องเลื่อนลอย ไม่รู้ไปหยิบอะไรเอามาจากไหน
เลอะเทอะ เลอะเทอะ… ตัดสาย !!!
อ่านเพิ่มเติม :
- เล่าเรื่องความเชื่อว่าด้วยฤกษ์ “วันตัดผม” จากตำนานขุนนางเข้าเฝ้าแล้วโดนประหาร
- การเมืองเรื่องทรงผมของชายชาวหงสาวดี และพระนเรศวร
- โหราศาสตร์ กับข้อห้าม แต่งงานวันพุธ-เผาผีวันศุกร์-ขึ้นบ้านใหม่วันเสาร์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2562