การเมืองเรื่องทรงผมของชายชาวหงสาวดี และพระนเรศวร

พระองค์ดำ พระนเรศวร สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผมทรงกลมที่ด้านหน้า และ โกนที่ด้านหลัง จาก ภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ภาพพระองค์ดำหรือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงไว้ผม “ทรงกลมที่ด้านหน้าและโกนที่ด้านหลัง” จากภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

การเมืองเรื่อง “ทรงผม” ของชายชาวหงสาวดี และ “พระนเรศวร”

เส้นผมของมนุษย์มีนัยยะสำคัญหลากหลายแง่มุม ดังจะเห็นว่าพราหมณ์และโยคีจะไม่ตัดผมจนตลอดชีวิต ตามคติที่ว่าเรือนผมเป็นที่สถิตของเทพดา เช่นเดียวกับชาวซิกข์ ด้วยถือว่าร่างกายเป็นดั่งวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ที่พระผู้เป็นเจ้าสาดแสงส่องทาบ ผู้เคารพในพระประสงค์จึงไม่ควรทำลายรูปลักษณ์ที่พระองค์ประทานให้ แม้นักบวชในพุทธศาสนาจะมีข้อกำหนดให้ปลงผม ก็ด้วยมุ่งปลดภาระการตกแต่งเส้นผมเพื่อสะดวกต่อการบรรลุธรรม

ปัจจุบัน ทรงผม ผู้คนทั่วโลกมีลักษณะร่วมสมัย ทรงเตะตาในตอนนี้น่าจะเป็น “แมนบัน” (Man Bun) ที่แปลว่า “มวยผมบุรุษ” จะว่าใหม่สำหรับคนไทยคงไม่ เป็นแต่ความใหม่ที่มาจากข้างนอก

ภาพประกอบเนื้อหา – ทรงผม กลุ่ม Man Bun

ขณะเดียวกันคนไทยอีกหลายคนก็โหยหา “มหาดไทย” อย่างวันก่อนคืนเก่า ที่เชื่อว่าเป็นทรงไทยแท้ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย แต่ไทยที่แท้นั้นอาจเป็นแต่การเมืองอันสืบเนื่องมาแต่สมัย “พระนเรศวร” สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งทรงเป็นองค์ประกันอยู่ที่ กรุงหงสาวดี ก็เป็นได้

เมื่อสมัยโบราณ หากมีองค์พระมหากษัตริย์ พระมเหสีเทวีเจ้า และบุคคลในราชวงศ์ สวรรคตหรือสิ้นพระชนม์ ไพร่พลและราษฎรจะต้องโกนหัวไว้ทุกข์กันทั่วทั้งแผ่นดิน ดังที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารมอญหลายตอน เช่น ในครั้งที่พระนางจันทะมังคะละ พระอัครมเหสีในพระเจ้าช้างเผือก (พญาอู่) สวรรคต พระเจ้าช้างเผือกโปรดให้ราษฎรโกนศีรษะทั้งเมือง

และในวาระแห่งการโกนศีรษะ ก็ยังถูกข้าศึกศัตรูนำไปใช้เป็นอุบายในการปลอมตัวเป็นราษฎรของเมืองที่ปราศจากเรือนผมบนศีรษะและกำลังเศร้าโศกในระหว่างไว้ทุกข์นั้นเข้าโจมตี

เอกสารแทบทุกแห่งกล่าวตรงกันว่า ชายชาวมอญสมัยโบราณไว้ผมยาว เกล้ามวยมุ่นไว้กลางศีรษะ และมีผ้าโพก การบรรยายการตกแต่งร่างกายทุกครั้งก็จะต้องกล่าวถึงผ้าโพกศีรษะเสมอ เช่น พงศาวดารมอญที่ได้รับการแปลและตกแต่งเป็นวรรณคดีไทยเรื่องราชาธิราช ในตอน สมิงนครอินท์อาสาพระเจ้าราชาธิราชรบพม่า ความว่า

“ครั้นเวลาเช้าสมิงนครอินท์อาบน้ำทาแป้งหอมน้ำมันหอม แต่งตัวใส่เสื้อชมพูขลิบทองจีบเอว กำไลต้นแขนปลายแขน โพกผ้าชมพูขลิบทอง ใส่แหวนเพชรเก้ายอดทั้งสองก้อย แล้วเข้ากราบถวายบังคมลาสมเด็จพระเจ้าราชาธิราช…”

หรือในตอนที่สมิงพระรามอาสาพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง กษัตริย์พม่าออกรบกามะนี ทหารฝ่ายพระเจ้ากรุงจีน

“ฝ่ายสมิงพระรามก็แต่งตัว ใส่เสื้อสีชมพูขลิบทองจีบเอว โพกผ้าสีชมพูขลิบแล้วไปด้วยทอง ใส่กำไลต้นแขนปลายแขน แหวนสอดก้อยแล้วไปด้วยเนาวรัตน์ แต่ล้วนทองเป็นอันงาม แล้วสอดดาบสะพายแล่งขึ้นมา…”

ในส่วนของมอญในเมืองไทย ปรากฏหลักฐานอยู่ในจารึกภาพคนต่างภาษา ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้จารึกไว้บนคอสองศาลาราย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) กรุงเทพมหานคร บรรยายลักษณะของชายชาวมอญเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ ดังนี้

“นุ่งผ้าตารางริ้วเช่น   ชาวอัง วะแฮ

พันโพกเกล้าแต่งกาย   ใส่เสื้อ

มอญมักสักไหล่หลัง   ลงเลข ยันต์นา

พลอยทับทิมน้ำเนื้อ   นับถือ”

นอกจากบันทึกของฝ่ายมอญและไทย ที่ระบุว่าชายชาวมอญไว้ผมยาวเกล้ามุ่นไว้กลางศีรษะแล้ว ยังมีบันทึกของชาวตะวันตก ว่าด้วยทรงผมของชายชาวมอญและพม่าเมื่อกว่า 300 ปีก่อน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

ชาวตะวันตกดังกล่าว คือ Victor Lieberman นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่ เขาได้ศึกษาเรื่องราวว่าด้วยการเมือง รวมทั้งลักษณะทางด้านสังคม และวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศพม่า ในบทความของเขาที่ชื่อ “Ethnic Politics in Eighteen-Century Burma” ตีพิมพ์ในวารสาร Modern Asian Studies เมื่อ พ.ศ. 2521 ตอนต้นของบทความ เขาได้กล่าวถึงทรงผมของชายชาวมอญและพม่า โดยอ้างอิงเอกสารโบราณที่บันทึกโดยชาวตะวันตกเช่นกันอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนได้สรุปมาลงไว้พอสังเขปดังนี้ คือ

ชาวมอญกับพม่ามีหลายสิ่งหลายอย่างเหมือนกัน แต่ก็มีแบบแผนบางอย่างที่ต่างกัน เช่น การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ขนบธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป การอ่านการเขียน ประการสำคัญ มีลักษณะทางกายภาพที่ต่างกัน เช่น ในช่วง พ.ศ. 2302 นั้น ชายชาวพม่านิยมสักที่ต้นขา แต่ชายชาวมอญไม่สัก ชาวพม่าโดยรวมคล้ำกว่าชาวมอญ นอกจากนี้ชายชาวพม่ายังนิยมไว้ผมยาวแล้วเกล้ามวยมุ่นไว้กลางศีรษะ ขณะที่ชายชาวมอญนิยมตัดผมเป็น “ทรงกลมที่ด้านหน้าและโกนที่ด้านหลัง”

ยากที่ใครจะจินตนาการได้ว่าผมของชายชาวมอญ “ทรงกลมที่ด้านหน้าและโกนที่ด้านหลัง” เมื่อ 200 กว่าปีก่อน ในบันทึกชาวตะวันตกนั้นได้ว่าเป็นอย่างไร อาจลองเทียบกับทรงผมของพระองค์ดำ หรือ พระนเรศวร (ครองราชย์ พ.ศ. 2133-2148) ในภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ที่พอจะอ้างอิงได้ว่า

พระองค์ดำนั้นได้ถูกนำไปเป็นองค์ประกันอยู่ยัง “กรุงหงสาวดี” อันเป็นเมืองหลวงของมอญที่เวลานั้นตกอยู่ใต้อำนาจพม่า พระองค์ดำเป็นศิษย์ในสำนักของพระมหาเถรคันฉ่อง พระเถระมอญผู้ทรงวิทยาคม ดังนั้นผม “ทรงกลมที่ด้านหน้าและโกนที่ด้านหลัง” อย่างที่ชาวตะวันตกบันทึกไว้ก็อาจมีลักษณะอย่างนั้น ซึ่งก็คงพอจะอนุโลมได้ว่า น่าจะเป็นต้นแบบของผมทรง “มหาดไทย” ในเวลาต่อมา (และอาจเลยรวมทั้งทรงแมนบันของฝรั่งในเวลานี้)

ซึ่งในส่วนที่มาของผมทรงมหาดไทยนั้น George Windsor Earl ซึ่งเดินทางเข้ามายังสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2375 ได้บันทึกไว้ว่า

“กล่าวกันว่าการที่คนสยามตัดผมข้างหลังออกเช่นนี้ เป็นผลเนื่องมาจากความไม่สะดวกในเวลาออกรบ กล่าวคือในการทำสงครามครั้งหลังๆ มีชาวสยามถูกพวกโคชินจีน [เวียดนาม – ผู้เขียน] ที่มีความกล้าหาญมากกว่า ดึงผมจับตัวไปเป็นเชลย ซึ่งไม่เหมาะกับวิธีการรบในส่วนนี้ของโลก…”

ขณะที่หลวงวิจิตรวาทการระบุว่าผมทรง “มหาดไทย” มาจากคำว่า “มหาอุทัย” ซึ่งหมายถึงดวงอาทิตย์แรกขึ้นหรือพระอาทิตย์อุทัย

“อนึ่งในชั้นเดิมที่พวกไทยเรายกมาจากดินแดนที่ประเทศจีนในเวลานี้นั้น ก็ไว้ผมยาวเกล้ามวยทั้งหญิงชายเหมือนกับจีนในสมัยโบราณ แต่พอตั้งกรุงสุโขทัยเสร็จไทยก็ตัดผม มีรูปเป็นวงกลมกลางกระหม่อม และโกนรอบข้างทำให้ผมตรงกลางมีรูปร่างเหมือนพระอาทิตย์ และเรียกชื่อผมที่ตัดใหม่นี้ว่ามหาอุไทย…”

ตามด้วยทัศนะของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ระบุถึงทรงผมคนไทยสมัยสุโขทัย ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาไว้ ความว่า

“ยังมีข้อสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่ง ด้วยธรรมเนียมของเรา เจ้านายขุนนางย่อมไว้ผมยาว ต่อไพร่เลวจึงตัดผมสั้น เช่น ชฎา ลอมพอก ซึ่งมาแต่ผ้าโพกเมื่อยังไว้ผมสูง จะเลิกไว้ผมยาวเมื่อเกิดบวชกันขึ้นดอกกระมัง (พระบรมไตรโลกนาถ) ข้อนี้ไม่มีหลักฐานเป็นแต่ข้าพเจ้านึกขึ้น ก็จดเอาไว้สำหรับผู้อื่นพิจารณาต่อไป”

สอดคล้องกับ สมภพ จันทรประภา ระบุในหนังสืออยุธยาอาภรณ์ ว่า ผมทรงมหาดไทยได้รับความนิยมขึ้นภายหลังจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. 1991-2031) ภายหลังทรงเจรจาสงบศึกสงครามกับล้านนา และทรงออกผนวช มีข้าราชการจำนวนมากออกบวชตามด้วย จึงทำให้ผมสั้นทรงนี้ได้รับความนิยมในเวลาต่อมา และเมื่อปลายอยุธยา ต่อธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามมาโดยตลอด และหนังสือกองวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้อธิบายไว้ด้วยเช่นกันว่า

“ครั้นย่างเข้ายุคสงคราม ชาติไทยในสมัยอยุธยาตอนปลาย ต้องรบพุ่งเพื่อผดุงเอกราช ชายหญิงต้องจับดาบฟาดฟันกับผู้รุกราน เครื่องแต่งกายจึงแปรผันไปบ้าง ดังผู้หญิงที่ตัดผมให้สั้นลง เพื่อปลอมเป็นผู้ชายและสะดวกในการหนีภัย เสื้อผ้าอาภรณ์ก็ต้องตัดทอนลงมิให้รุ่มร่าม เป็นอุปสรรคแก่การเคลื่อนที่ มีการห่มผ้าตะแบงมานขึ้นด้วย ส่วนชายไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกจนกระทั่งกรุงธนบุรี”

“ผมทรงเด็กวัด” ภาพจากหนังสือ “ทรงผมชาวพม่าโบราณ”

อย่างไรก็ตาม ทรงผมชายชาวมอญในบันทึกชาวตะวันตกนั้นขัดกับหลักฐานทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายมอญ และน่าเชื่อว่า ทรงผมชายชาวมอญแบบ “ทรงกลมที่ด้านหน้าและโกนที่ด้านหลัง” น่าจะเป็นผมทรง “เด็กวัด” ทรงผมที่เด็กวัดมอญสมัยโบราณนิยมไว้กัน ปัจจุบันยังเหลือร่องรอยอยู่ในเมืองมอญ (ประเทศเมียนมา) คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนมอญบางแห่งยังนิยมตกแต่งทรงผมลูกหลานก่อนเข้าพิธีบรรพชาหรือบวชเณร โดยการโกนผมข้างหลังออกจนขาว เหลือแต่ด้านหน้ากลมๆ ส่วนกลางกระหม่อมนั้นไว้ยาวเกล้ามุ่นหรือมัดจุกไว้

ที่มาของทรงผมซึ่งยกมาส่วนใหญ่เป็นไปในทางคาดเดาด้วยกันทั้งสิ้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า ขณะพระองค์ดำหรือสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพำนักอยู่ที่หงสาวดีในฐานะองค์ประกัน ดำรงสถานะเป็นเด็กวัดในสำนักพระมหาเถรคันฉ่องนั้น

ทรงผม “มหาดไทย” อดีต-ปัจจุบัน (ภาพจาก www.youtube.com/)

เมื่อเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยานั้นมีพระชนมายุ 17 พรรษา ทรงผมของพระองค์ดำเมื่อนิวัติกรุงศรีอยุธยา กระทั่งกลายมาเป็นแบบอย่างผม “ทรงมหาดไทย” รวมทั้งทรงผมที่ชาวตะวันตกพบเห็นในเมืองมอญ (ประเทศพม่า) เมื่อ พ.ศ. 2302 และจดบันทึกไว้นั้นก็คือทรงผมเด็กวัดของเด็กวัยรุ่นชายชาวมอญหงสาวดีก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

องค์ บรรจุน. “การเมืองเรื่องทรงผมของชายชาวหงสาวดีและพระนเรศวร”ใน, ศิลปวัฒนธรรม มิถุยายน 2561.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ตุลาคม 2562