“มหาดไทย” สู่ “รองทรง” เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มปฏิรูปการแต่งกายจากทรงผม

ทรงผม มหาดไทย
ภาพประกอบ - ผมทรงมหาดไทยและทรงตามแบบฝรั่ง (รองทรง) (ภาพจาก Wikimedia Commons และ NYPL Digital Collections)

สมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 – พ.ศ. 2453) เป็นยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีไทยในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มรูปแบบ แม้ต้นรัชสมัยจะยังมิทรงมีพระราชอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศ แต่ก็ทรงดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งใกล้ ๆ พระองค์เท่าที่ทรงจะทำได้ก่อน เช่น ทรงผม การแต่งกาย

การเปลี่ยนแปลงทรงมักเริ่มต้นที่พระองค์และคนใกล้ชิดก่อน เพราะทรงเข้าพระทัยถึงความยึดมั่นถือมั่นขนบประเพณีโบราณ อันเป็นวิสัยสำคัญของคนไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะความเชื่อมั่นที่ว่า “พระเจ้าแผ่นดินจะต้องรักษาโบราณราชประเพณี หรือทรงประพฤติตามโบราณราชประเพณี บ้านเมืองจึงจะอยู่เย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรือง หากพระเจ้าแผ่นดินกระทำการสิ่งใดที่เรียกว่า ดัดจริตผิดโบราณ แผ่นดินจะรุ่มร้อน บ้านเมืองจะมีอันเป็นไป” ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนแปลงของขนบประเพณีดั้งเดิมแม้เรื่องเล็กน้อยจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะต้องต่อสู้กับความเชื่อดั้งเดิมด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระปรีชาสามารถในการปลุกปลอบ น้อมนำให้คนใกล้ชิดพระองค์ อันได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอในราชสำนักที่วัยไล่เลี่ยกับพระองค์ให้เข้าพระทัยเข้าใจถึงเหตุผล ความเหมาะสม และผลประโยชน์ที่จะได้รับในการเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นจากทรงผมตามประเพณีโบราณแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ผู้ชายจะไว้ผม “ทรงมหาดไทย” คือ โกนผมรอบศีรษะเกลี้ยง เว้นตรงกลางศีรษะ ปล่อยผมไว้ให้ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร แล้วจึงหวีหรือแต่งทรงผมที่ยาวตามแต่จะเห็นงาม ส่วนมากผู้ชายที่ไว้ผมทรงมหาดไทยจะแสกกลาง ตกแต่งให้อยู่ทรงด้วยวิธี “จับเขม่า” 

ผู้หญิงไว้ผมที่เรียกว่า “ผมปีก” มีลักษณะคล้ายผู้ชาย คือ ไว้ผมยาวกลางศีรษะ ถอนไรผมเป็นวงรอบปอยผมยาวนั้น ส่วนรอบศีรษะแทนที่จะโกลนเกลี้ยง ก็ไว้ผมคลุม บางยุคอาจไว้ยาวประบ่า บางยุคก็ตัดสั้น บางยุคเป็นพู่อยู่ริมหู สำหรับเกี่ยวดอกไม้หรือประดับผมอื่นๆ เรียกผมทรงชนิดว่าว่า “ผมทัด”

ทรงผมดังกล่าวเป็นทรงผมของคนไทยมาแต่โบราณจนยึดถือกันเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศให้เลิกไว้ผมทรงมหาดไทยมาเป็นไว้ผมยาวแบบฝรั่ง ทรงให้เหตุผลว่าทรงมหาดไทยอย่างโบราณทำให้ฝรั่งดูหมิ่นคนไทยว่าเป็นค่านิยมล้าหลังและป่าเถื่อน เมื่อทรงเริ่มไว้ผมยาวตามแบบฝรั่งด้วยพระองค์เอง พระเจ้าน้องยาเธอและข้าราชการที่มีอายุใกล้ชิดกับพระองค์จึงพากันเปลี่ยนทรงผมตามพระราชนิยม ส่วนข้าราชสำนักที่มีอายุมากก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงตามอย่างช้า ๆ เกิดทรงผมแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ขึ้น คือ ตัดผมรอบศีรษะให้สั้น ไว้ผมข้างบนยาวคล้ายผมทรงมหาดไทยเดิม เรียกผมทรงนี้ว่า “ผมรองทรง” อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้นิยมไว้ผมแบบฝรั่งมากขึ้น ผมทรงนี้จึงกลายเป็นผมทรงปกติในเวลาต่อมา

การเปลี่ยนแปลงในเรื่องทรงผมนี้ไม่ได้มีกฎหมายตรากำหนดไว้แต่อย่างใด เพียงทรงมีพระราชานุญาตให้ข้าราชการที่เข้าเฝ้าเปลี่ยนมาไว้ผมตามใจชอบ ผมรองทรงที่ตัดกันโดยทั่วไปตามฝรั่งในสมัยนั้นถูกเรียกว่า รองทรงอังกฤษชั้นเดียว และ รองทรงอังกฤษสองชั้น ซึ่งทุกวันนี้เรารู้จักกันว่าคือ รองทรงสูง และ รองทรงต่ำ นั่นเอง

นอกจากเรื่องทรงผมแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเริ่มการเปลี่ยนแปลงฉลองพระองค์ จนเป็นเครื่องแต่งกายพระราชนิยมให้คนใกล้ชิดแต่งตามและแพร่หลายออกไปในที่สุด เริ่มจากผ้านุ่งที่แต่เดิมทรงสวม ผ้าสมปัก เป็นผ้านุ่ง ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชสำนักเลิกนุ่งผ้าสมปักเพื่อบอกยศตามธรรมเนียมเก่า และโปรดฯ ให้ข้าราชการราชสำนักนุ่งผ้าพื้นสีกรมท่า (สีน้ำเงินแก่) แทนผ้าสมปัก ทั้งทรงให้ข้าราชสำนักในพระองค์สวมถุงเท้า รองเท้า ยืนเฝ้ารับเสด็จแทนการหมอบเฝ้า

นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้นำแบบอย่างของชาวตะวันตกมาดัดแปลงเป็นการแต่งกายในโอกาสต่าง ๆ กำหนดเครื่องแบบโดยเรียกทับศัพท์ว่า ยูนิฟอร์ม (Uniform) สำหรับเจ้านายและขุนนางแต่งเข้าเฝ้าฯ โดยกำหนดสีเสื้อตามชั้นและหน่วยงาน การแต่งกายในช่วงนั้นยังมีการผสมผสานระหว่างเครื่องแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ และขุนนางบางคนยังคงนุ่งสมปักชักพกคาดผ้าเกี้ยวอยู่

การแต่งกายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากทรงผมตั้งแต่ตอนต้นรัชกาลและปรับปรุงพัฒนาต่อมาโดยลำดับ การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เริ่มต้นและนิยมในหมู่ชนชั้นสูง ส่วนเครื่องแต่งกาย ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมแต่งกายตามแบบสบาย ๆ ตามสมัยก่อนอยู่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงการแต่งกายที่ทำตามได้อย่างง่ายและแพร่หลายที่สุดจึงเป็น ทรงผม นี่เอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2505). ความทรงจำ. กรุงเทพมหานคร: สมาคมสังคมศาสตร์

อเนก นาวิกมูล. (2525). การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร: ด่านสุทธาการพิมพ์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2565