แฟชั่นทรงผม “ทรงมหาดไทย” มาจากไหน? ทำไมถึงฮิต?

ทรงผม ทรงมหาดไทย ชายไทย
ผมทรงมหาดไทย (ภาพจากหนังสือ The Country and People of Siam โดย Karl Döhring)

ที่มาของผม “ทรงมหาดไทย” นั้น จอร์จ วินด์เซอร์ เอิร์ล (George Windsor Earl) ซึ่งเดินทางเข้ามายังสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2375 บันทึกไว้ว่า

“กล่าวกันว่าการที่คนสยามตัดผมข้างหลังออกเช่นนี้ เป็นผลเนื่องมาจากความไม่สะดวกในเวลาออกรบ กล่าวคือในการทำสงครามครั้งหลังๆ มีชาวสยามถูกพวกโคชินจีน [เวียดนาม – ผู้เขียน] ที่มีความกล้าหาญมากกว่า ดึงผมจับตัวไปเป็นเชลย ซึ่งไม่เหมาะกับวิธีการรบในส่วนนี้ของโลก…”

ขณะที่หลวงวิจิตรวาทการระบุว่าผมทรง “มหาดไทย” มาจากคำว่า “มหาอุทัย” ซึ่งหมายถึงดวงอาทิตย์แรกขึ้นหรือพระอาทิตย์อุทัย

“อนึ่งในชั้นเดิมที่พวกไทยเรายกมาจากดินแดนที่ประเทศจีนในเวลานี้นั้น ก็ไว้ผมยาวเกล้ามวยทั้งหญิงชายเหมือนกับจีนในสมัยโบราณ แต่พอตั้งกรุงสุโขทัยเสร็จไทยก็ตัดผม มีรูปเป็นวงกลมกลางกระหม่อม และโกนรอบข้างทำให้ผมตรงกลางมีรูปร่างเหมือนพระอาทิตย์ และเรียกชื่อผมที่ตัดใหม่นี้ว่ามหาอุไทย…”

ตามด้วยทัศนะของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ระบุถึงทรงผมคนไทยสมัยสุโขทัย ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาไว้ ความว่า

“ยังมีข้อสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่ง ด้วยธรรมเนียมของเรา เจ้านายขุนนางย่อมไว้ผมยาว ต่อไพร่เลวจึงตัดผมสั้น เช่น ชฎา ลอมพอก ซึ่งมาแต่ผ้าโพกเมื่อยังไว้ผมสูง จะเลิกไว้ผมยาวเมื่อเกิดบวชกันขึ้นดอกกระมัง (พระบรมไตรโลกนาถ) ข้อนี้ไม่มีหลักฐานเป็นแต่ข้าพเจ้านึกขึ้น ก็จดเอาไว้สำหรับผู้อื่นพิจารณาต่อไป”

สอดคล้องกับ สมภพ จันทรประภา ระบุในหนังสืออยุธยาอาภรณ์ ว่า ผม “ทรงมหาดไทย” ได้รับความนิยมขึ้นหลังจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. 1991-2031) ทรงเจรจาสงบศึกสงครามกับล้านนา และทรงออกผนวช

คราวนั้นมีข้าราชการจำนวนมากออกบวชตามด้วย จึงทำให้ผมสั้นทรงนี้ได้รับความนิยมในเวลาต่อมา และเมื่อปลายอยุธยา ต่อธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามมาโดยตลอด ซึ่งหนังสือกองวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้อธิบายไว้ด้วยเช่นกันว่า

“ครั้นย่างเข้ายุคสงคราม ชาติไทยในสมัยอยุธยาตอนปลาย ต้องรบพุ่งเพื่อผดุงเอกราช ชายหญิงต้องจับดาบฟาดฟันกับผู้รุกราน เครื่องแต่งกายจึงแปรผันไปบ้าง ดังผู้หญิงที่ตัดผมให้สั้นลง เพื่อปลอมเป็นผู้ชายและสะดวกในการหนีภัย เสื้อผ้าอาภรณ์ก็ต้องตัดทอนลงมิให้รุ่มร่าม เป็นอุปสรรคแก่การเคลื่อนที่ มีการห่มผ้าตะแบงมานขึ้นด้วย ส่วนชายไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกจนกระทั่งกรุงธนบุรี”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

องค์ บรรจุน. (มิถุนายน, 2561). การเมืองเรื่องทรงผมของชายชาวหงสาวดีและพระนเรศวร. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 39 (ฉบับที่ 8) : หน้า 34-43


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กันยายน 2561