“อาหารฝรั่ง” สมัยรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์และเจ้านายไทยโปรดเสวยมีอะไรบ้าง?

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ปลาทู ทรงเสวยพระกระยาหาร ร่วมกับ พระเจ้าลูกเธอ และ พระเจ้าลูกยาเธอ อาหารโปรดของรัชกาลที่ 5 อาหารฝรั่งสมัยรัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยพระกระยาหารร่วมกับพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอ (ภาพจากหนังสือ "ประมวลภาพพระปิยมหาราช" โดย เอนก นาวิกมูล)

เราอาจคิดว่า “อาหารชาววัง” หมายถึงอาหารไทยที่ปรุงขึ้นด้วยกรรมวิธีซับซ้อน ตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงเท่านั้น แต่ที่จริงอาหารชาววังยังรวมถึงอาหารฝรั่งด้วยเช่นกัน แล้วอาหารฝรั่งสมัยรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์และเจ้านายไทยหลายพระองค์โปรดเสวย มีเช่นเมนูอะไรบ้าง?

อาหารฝรั่งสมัยรัชกาลที่ 5

อาสา คำภา เล่าเรื่องนี้ไว้ใน “รสไทย(ไม่)แท้: ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม” (สำนักพิมพ์มติชน) ผลงานที่ชวนตั้งคำถามถึงนิยามคำว่า “อาหารไทย” และ “ความเป็นไทย” ไว้อย่างน่าสนใจ โดยพูดถึงอาหารฝรั่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ไว้ว่า

พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา อาหารชาววัง 4 วังขึ้นชื่อ อาหารฝรั่งสมัยรัชกาลที่ 5
พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

เจ้านายไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ล้วนคุ้นเคยกับอาหารฝรั่ง มีข้อมูลระบุว่า หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับจากการประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 พระองค์โปรดให้มีการจ้างกุ๊กฝรั่งเข้ามาประจำห้องเครื่องฝรั่ง และโปรดให้สร้างห้องเครื่องฝรั่งขึ้น ด้วยเหตุผล “…จะต้องมีการเลี้ยงแขกบ้านแขกเมืองอยู่เสมอ ให้เขากินดี กลายเป็นให้เขากินเนื้อเผาไหม้ไฟ คงจะต้องเป็นที่นินทายิ่งขึ้น…”

ขณะเดียวกัน รัชกาลที่ 5 น่าจะทรงมีพระราชนิยมในอาหารตะวันตกไม่น้อย ดังปรากฏในบันทึกความทรงจำ หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล ที่ระบุว่า

“…(รัชกาลที่ 5) ทรงทำอาหารฝรั่งที่ชั้นล่างหน้าเรือนต้นริมคลอง ทรงต้มหมูแฮม ทรงทำไส้กรอก และคนาเป หน้าปูทะเล เวลาเสด็จประทับในพระบรมมหาราชวัง ข้าพเจ้าก็ได้รับพระราชทานคนาเปหน้าปูทะเลกับเนยแข็งตอนเวลาค่ำ เวลาเฝ้าเสวยที่พระเฉลียง…” (เน้นคำโดยผู้เขียนบทความออนไลน์) 

ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 อาหารฝรั่งดูจะเป็นเครื่องต้นหลักเสียยิ่งกว่าอาหารไทย เนื่องจากการถวายคำแนะนำของแพทย์ประจำพระองค์ ที่ให้รัชกาลที่ 5 เสวยพระกระยาหารที่ไม่แสลงต่อพระโรค ดังทรงเคยพระราชปรารถว่า “…เวลานี้อาศัยกับเข้าฝรั่งเป็นเครื่องเลี้ยงชีวิตจริงๆ ไม่ได้กินเป็นอดิเรกลาภ…”

อาสา เล่าอีกว่า ส่วนในหมู่เจ้านายชั้นสูงก็ทรงเริ่มคุ้นเคยกับสำรับกับข้าวทั้งไทยและฝรั่ง ที่กลายเป็นสำรับในชีวิตประจำวันมากขึ้น

มีข้อมูลระบุว่า ในเครื่องต้นมื้อเช้าของ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา จะมีอาหารฝรั่ง 1 อย่าง ข้าหลวงในพระวิมาดาเธอฯ เริ่มหัดทำอาหารฝรั่งโดยเรียนจากกุ๊กภัตตาคารชาวจีนที่จ้างมาสอน ตลอดจนเรียนจากตำรากับข้าวฝรั่งที่แปลเป็นภาษาไทย

หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา กรมดำรง อาหารฝรั่งสมัยรัชกาลที่ 5
หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล

ความนิยมในอาหารฝรั่งของเจ้านายไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ยังรวมถึงหม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่ง “ท่านหญิงจง” ได้ชื่อว่าเป็นเอตทัคคะด้านอาหารทั้งไทยและเทศที่สุดผู้หนึ่งในหมู่เจ้านายไทย

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม บันทึกช่วงเวลาที่มีโอกาสได้ร่วมโต๊ะเสวยที่ตระเตรียมโดยหม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอมไว้ว่า

“…การร่วมโต๊ะเสวยสมัยนั้นเริ่มด้วยอาหารฝรั่ง เช่น ไข่รัสเซีย หรือซุปหอยแมลงภู่ หรือตับเป็ดบดกับสลัดแล้วจึงถึงอาหารไทย ซึ่งจะต้องมีแกงสิ่งหนึ่ง เครื่องจิ้มสิ่งหนึ่ง และก็ผัดๆ ทอดๆ และแกงจืด บางวันก็มีขนมจีนด้วยโดยเฉพาะก็น้ำยา น้ำพริก และซาวน้ำ ถ้าเป็นฤดูร้อนมีข้าวแช่ กะปิ ข้าวแช่ย่อมทรงปรุงเอง ยิ่งเครื่องจิ้มผักต่างๆ ด้วยแล้ว ทรงปรุงเองทั้งสิ้น ผักก็สลักเสลางดงามมาก…” (เน้นคำโดยผู้เขียนบทความออนไลน์)  

อาหารฝรั่งสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในหมู่เจ้านายไทยไม่น้อยทีเดียว และที่ยกมาข้างต้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ปรากฏหลักฐานเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อาสา คำภา. รสไทย(ไม่)แท้: ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2568