ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“อาหารชาววัง” ขึ้นชื่อเรื่องวัตถุดิบที่หลากหลาย นำมาปรุงด้วยกรรมวิธีที่ซับซ้อน มีการตกแต่งประดับประดาอย่างวิจิตรงดงาม ทั้งยังมีรสชาติครบรส ซึ่งหลายตำรับได้รับการสืบทอดมาถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี อาหารชาววังไม่ได้มีเฉพาะ “พระบรมมหาราชวัง” ซึ่งเป็นวังหลวง แต่ยังมีพระตำหนักในพระภรรยาเจ้าที่มีฝีมือในการปรุงอาหารอีกด้วย แล้วอาหารชาววัง 4 วังขึ้นชื่อ มีวังไหนบ้าง?
อาหารชาววัง 4 วังขึ้นชื่อ
นริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักประวัติศาสตร์อิสระ ที่ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับตำราอาหารเก่าแก่ของไทย เล่าไว้ในผลงานเล่มล่าสุด “ตำรับสร้าง(รส)ชาติ” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า พระตำหนักในอัครมเหสี 4 พระองค์ นับเป็นศูนย์กลางแวดวงเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ และเชื่อมโยงความสัมพันธ์เครือข่ายสมาชิกสตรี ที่เป็นพระธิดา เจ้าจอม บุตรหลานขุนนาง ซึ่งพระตำหนักหรือวังทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย
วังพญาไท ที่ประทับในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
วังสระปทุม ที่ประทับในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
วังบางขุนพรหม ที่ประทับในสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
วังสวนสุนันทา ที่ประทับในพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
นริศ เล่าว่า ในแง่อันดับฐานันดรศักดิ์สูงต่ำสามารถไล่เรียงได้ดังข้างต้น แต่ในแง่ชื่อเสียงด้านอาหารจะเป็นไปในทางกลับกัน คือ วังสวนสุนันทา มีชื่อเสียงเลื่องลือที่สุด ด้วย พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงมีหน้าที่ควบคุมดูแลห้องพระเครื่องต้น ของเสวยคาวหวาน
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์เนื่อง ต้นธาร “ตำหรับสายเยาวภา” ตำนานสูตรอาหารชาววังอันดับ 1 เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ ต้นตำรับน้ำพริกลงเรือ หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ เจ้าของผลงาน “ชีวิตในวัง” และ “ชีวิตนอกวัง” ล้วนฝึกปรือฝีมือการปรุงอาหารจากวังสวนสุนันทาทั้งสิ้น
ถัดมาเป็น วังบางขุนพรหม ที่ประทับ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ซึ่งในวังมีห้องเครื่องขนาดใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ 20-30 คน ใครเชี่ยวชาญการทำอะไรก็ทำอย่างนั้นโดยเฉพาะ เช่น คนตำน้ำพริกก็ตำแต่น้ำพริก คนย่างปลาดุกก็ย่างแต่ปลาดุก ไม่ต้องทำอย่างอื่น
ผู้สืบสายตำรากับข้าวสำนักนี้โดยตรงคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ)
เมื่อพระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมานทรงย้ายไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมหม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล พระสวามี พระองค์ก็ทรงเปิดร้านอาหารไทยร้านแรกและร้านเดียวในกรุงลอนดอน ชื่อว่า “Siam Rice”
อาหารชาววัง 4 วังขึ้นชื่อ ลำดับถัดมาคือ วังสระปทุม ที่ประทับ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
นริศ ได้ยกเนื้อหาใน “อาหารเสวย” ซึ่งเป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพ คุณเพี้ยน อากาศฤกษ์ ข้าหลวงในสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาในสมเด็จพระพันวัสสาฯ ที่ทายาทจัดทำขึ้น มาให้พอเห็นบรรยากาศห้องเครื่องในวังสระปทุมว่า
“ท่าน (คุณเพี้ยน-กอง บก. ศิลปวัฒนธรรม) ตื่นแต่เช้ามืดดำเนินการจัดทำน้ำสะต๊อกไก่ อัดไก่สดเข้าหม้อต้มกลั่นวันละ 2 ตัว เพื่อเอาน้ำซุบที่สะกัดแล้วมาปรุงเครื่องเสวย เครื่องเสวยทุกอย่างต้องมีคุณภาพและปราณีต…”
ท้ายสุดคือ วังพญาไท ที่ประทับ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีความพิถีพิถันในการปรุงอาหารเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน
วังนี้ต่อมาคือ พระราชวังพญาไท ที่ประทับในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์สวรรคตใน พ.ศ. 2468 มีการปรับปรุงวังนี้ให้เป็น “โฮเต็ลพญาไท” ซึ่งพ่อครัวของโฮเต็ลพญาไทเคยเป็นพ่อครัวในรัชกาลที่ 6 ได้ตามเสด็จเมื่อครั้งพระองค์ประพาสสิงคโปร์
เป็นอันได้คำตอบกันเรียบร้อยว่า อาหารชาววัง 4 วังขึ้นชื่อ ได้แก่ วังสวนสุนันทา วังบางขุนพรหม วังสระปทุม และวังพญาไท นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- งานเลี้ยงฉลองพิธีอภิเษกสมรส “สมเด็จพระบรมราชชนก-สมเด็จย่า” เมื่อ 100 กว่าปีก่อน มีเมนูอาหารใดบ้าง?
- ต้นเครื่องพระกระยาหารไทย เล่า “พระกระยาหารโปรด” ในหลวงรัชกาลที่ 9
- อาหารชาววัง ไม่ได้เน้นรสหวาน! อาหารชาววังแท้จริงเป็นอย่างไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นริศ จรัสจรรยาวงศ์. ตำรับสร้าง(รส)ชาติ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567. (สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2567