ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จพระบรมราชชนก) และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ทรงอภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 จากนั้น เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ได้กราบทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อจัดงานเลี้ยงฉลองพิธีอภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 18 กันยายน ปีเดียวกัน แล้วงานเลี้ยงฉลองพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระบรมราชชนก-สมเด็จย่า มีเมนูอาหารรายการใดบ้าง?
“สมเด็จพระบรมราชชนก-สมเด็จย่า”
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือ “สมเด็จพระบรมราชชนก” (แรกประสูติคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434
เมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้น รัชกาลที่ 5 ทรงส่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ทั้งที่อังกฤษ เยอรมนี จากนั้นทรงศึกษาต่อด้านการแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา
ส่วน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” (พระนามเดิมคือ สังวาลย์) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443
หลังจากทรงศึกษาในโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงแล้ว ก็ทรงศึกษาต่อในโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ก่อนที่ พ.ศ. 2460 จะทรงได้รับทุนไปศึกษาวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกา
ทั้ง 2 พระองค์ทรงพบกันที่สหรัฐอเมริกา และเมื่อทรงรู้จักกันยิ่งขึ้น เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชก็ทรงพอพระทัยนางสาวสังวาลย์ ทั้งพระอุปนิสัย ความเฉลียวฉลาด ความสามารถ ฯลฯ จึงทรงกราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาฯ ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นหมายนางสาวสังวาลย์ใน พ.ศ. 2462
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช อภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ณ วังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับในสมเด็จพระพันวัสสาฯ โดยรัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานน้ำสังข์ด้วยพระองค์เอง
งานเลี้ยงฉลองพิธีอภิเษกสมรส มีเมนูอาหารใดบ้าง?
ด้วยเป็นพิธีมงคลยิ่ง เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) จึงกราบทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 6 เพื่อจัดงานเลี้ยงฉลองพิธีอภิเษกสมรส ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2463 ณ บ้านศาลาแดง ซึ่งเป็นบ้านที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานแก่เจ้าพระยายมราช
นริศ จรัสจรรยาวงศ์ กล่าวถึงเมนูงานเลี้ยงฉลองพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระบรมราชชนกกับสมเด็จย่า ไว้ในหนังสือ “ตำรับสร้าง(รส)ชาติ” ว่า ปรากฏรายการอาหารจีนทั้งคาวหวาน ดังนี้
อาหารคาว ได้แก่ หูฉลามน้ำ หมูหัน หน่อไม้ผัดปูทะเล แฮ่กึ๊น นกผัดเปรี้ยวหวาน เกยย้งก๊กเซียงบี๊ ผัดหอยนางรมไข่ไก่ และผัดคะน้า และอาหารหวานอย่างรังนกก๊กเซียงบี๊ ไอศกรีม และผลไม้
“เกยย้งก๊กเซียงบี๊” คืออะไร?
นริศบอกในหนังสือว่า ได้ลองค้นชื่อคำทับศัพท์จีน 2 คำ คือ “เกยย้ง” ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าคือ “โกยย้ง” หรือ ไก่หย็อง และ “ก๊กเซียงบี๊” ซึ่งเป็นวัตถุดิบชื่อไม่คุ้นหู แต่จากการลองถอดรากเสียงจีนแต้จิ๋ว นริศก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า คือ “กั๊วเซียงบี้” เป็นไซยาโนแบคทีเรียที่รับประทานได้ พบได้ในแหล่งที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย เช่น ทะเลสาบ แม่น้ำ นำมาทำเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงมีคุณสมบัติทางเภสัชกรรม
นริศสันนิษฐานด้วยว่า เหตุผลอีกประการที่นำอาหารจีนมาตั้งโต๊ะในงานพิธีฉลองอภิเษกสมรส อาจเพราะหม่อมสังวาลย์ (พระยศขณะนั้น) มีเชื้อสายสืบทอดจากชาวจีนนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- “16 มหาสาขา” จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ มีราชสกุลใดบ้าง พระองค์ใดเป็นต้นราชสกุล?
- สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับ “คำฝากฝัง” ที่ไม่มีผู้ใดสนองแม้สักคน เพราะเหตุใด?
- 24 กันยายน “วันมหิดล” พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์. “พระราชประวัติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฉบับสมบูรณ์”.
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง. “พระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี”.
นริศ จรัสจรรยาวงศ์. ตำรับสร้าง(รส)ชาติ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2567