“หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม” ปรุงอาหารเป็นเลิศ จนรัชกาลที่ 5 พระราชทานสร้อยข้อมือให้

ม.จ.จงจิตรถนอม ดิศกุล หรือ "ท่านหญิงจง" พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ภาพ : Wikimedia Commons)

หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล หรือ ท่านหญิงจง เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ท่านหญิงจงทรงมีฝีมือการปรุงอาหารเป็นเลิศ กระทั่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานสร้อยข้อมือให้ 1 เส้น

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม วังบางขุนพรหม
สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร (ภาพ: กรมศิลปากร)

หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม กับการฝึกปรือการปรุงอาหารที่ “วังบางขุนพรหม”

1 ใน 4 วังที่เลื่องชื่อเรื่องอาหารชาววัง คือ วังบางขุนพรหม ที่ประทับ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ซึ่งในวังมีห้องเครื่องขนาดใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ 20-30 คน ใครเชี่ยวชาญการทำอะไรก็ทำอย่างนั้นโดยเฉพาะ

Advertisement

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เล่าไว้ในผลงานเล่มล่าสุด “ตำรับสร้าง(รส)ชาติ” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า หม่อมเจ้าจงจิตรถนอมทรงเติบโตมากับการทำอาหารในวังบางขุนพรหม ครั้งหนึ่งทรงเล่าให้น้องๆ ฟังถึงสมัยที่เคยทรงทำกับข้าวตั้งเครื่องรัชกาลที่ 5

เวลานั้น ท่านหญิงจงทรงอยู่ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ) ซึ่งทั้ง 2 พระองค์โปรดให้ท่านทรงฝึกหัดทำกับข้าว แล้วทำตั้งเครื่องต้น ด้วยเวลานั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระมเหาสีทรงผลัดเวรกันทำเครื่องเสวย

นริศ เล่าอีกว่า กับข้าวจานแรกที่ท่านหญิงจงทรงทำตั้งเครื่องต้น คือ กะปิพล่า รัชกาลที่ 5 เสวยแล้วพอพระราชหฤทัยมาก ถึงกับมีลายพระราชหัตถ์ทรงชมพระราชทานมายังสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ และทรงขอเสวยอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น

กะปิพล่า หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม
กะปิพล่า สูตรตำราแม่ครัวหัวป่าก์ (ภาพ : กฤช เหลือลมัย ในมติชน)

ต่อมา รัชกาลที่ 5 เสด็จมาเสวยพระกระยาหารค่ำ ณ พระที่นั่งอุดรภาค ซึ่งเป็นที่ประทับในสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ท่านหญิงจงทรงทำเครื่องจิ้มต่างๆ ถวายพระเจ้าอยู่หัวตลอดมา เป็นที่พอพระราชหฤทัย จนได้พระราชทานรางวัลสร้อยข้อมือ 1 เส้น พร้อมด้วยพระราชดำรัสว่า “ข้าได้กินน้ำพริกของเจ้าทำให้ข้ารอดตายไปได้”

ฝีมือการปรุงอาหารของท่านหญิงจง ยังเป็นที่พอพระทัย สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กระทั่งทรงมีลายพระหัตถ์ชมเชยว่า

“…กับเข้าของเธอทุกอย่างที่ทำมา อร่อยทุกสิ่ง สำหรับกับเข้าฉันเลียมือของเธอทีเดียวว่าอร่อยนัก แม้แต่กะปิพล่า ซึ่งเป็นของทำอย่างง่ายที่สุด เธอก็ปรุงอร่อยกลมกล่อมดี ถูกปากฉันนัก ฉันลองทำดูบ้าง กว่าจะปรุงได้ที่เหมือนมือเธอ ชิมไปชิมมากว่าจะได้ที่ก็อิ่มพอดี แต่อย่างนั้นก็ยังไม่อร่อยเหมือนเธอทำ…”

ส่วนงานของ “วังวรดิศ” ที่ประทับในกรมดำรง พระบิดาของท่านหญิงจง ไม่ว่าจะเป็นงานบำเพ็ญกุศลหรือการเลี้ยงรับรองแขกสำคัญ ท่านหญิงจงจะทรงเป็นผู้จัดการและควบคุมเองทั้งหมด

หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล จึงทรงเป็นเชื้อพระวงศ์องค์หนึ่งที่มีฝีมือการปรุงอาหารอย่างยิ่ง และได้รับการกล่าวขานกระทั่งปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นริศ จรัสจรรยาวงศ์. ตำรับสร้าง(รส)ชาติ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567. (สั่งซื้อที่เว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชนได้ที่นี่)

พนิดา สงวนเสรีวานิช. “อาหารชาววัง เบื้องหลังโต๊ะเสวย”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2541.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2567