รัชกาลที่ 5 ไม่โปรดผลไม้ชนิดใด ถึงขั้นรู้กันว่าห้ามนำเข้าวังเด็ดขาด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ไม่โปรดทุเรียน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ทุเรียน” เป็นผลไม้ที่ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนจำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 5 ไม่โปรดทุเรียน ซึ่งเรื่องนี้หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ โสณกุล ทรงเคยบอกเล่าไว้

รัชกาลที่ 5 ไม่ทรงโปรดทุเรียน
ทุเรียน ผลไม้ที่ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา (ภาพ: มติชนออนไลน์)

หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ผู้ชำชาญอาหารและขนมฝรั่ง

หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ โสณกุล ทรงเป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่ท้าววรจันทร์ หรือ “เจ้าจอมมารดาวาด)

Advertisement

หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอทรงเป็นผู้มีฝีมือในการทำอาหารและขนมหวานพระองค์หนึ่ง ทรงแต่งตำราทำขนมไว้ คือ “ตำราทำขนมสำหรับเลี้ยงน้ำชา และขนมปังปรุงต่างๆ” ซึ่งที่มาในการแต่งตำรานี้ ทรงระบุไว้ในคำนำ ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2483 ว่า

“การที่คิดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น ก็เพราะในชั้นต้นได้จดให้นักเรียนการเรือนของโรงเรียนราชินีหัดทำก่อน พวกเพื่อนๆ ของข้าพเจ้าเห็นเข้าก็ชอบใจ ขอลอกคัดกันไปหลายคน ข้อความก็ผิดๆ พลาดๆ ไปบ้าง จึงได้คิดว่า พิมพ์เสียให้เป็นการสะดวกดีกว่า ทั้งนักเรียนก็จะได้ไม่ต้องมัวคัดลอกให้เสียเวลา

ขนมที่แต่งตำราไว้นี้ เป็นขนมที่ได้ทดลองทำแล้วแทบทั้งหมด บางสิ่งได้พลิกแพลงแก้ไขมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี เคล็ดต่างๆ ที่จะช่วยให้สำเร็จก็บอกไว้หมด ข้อความอันใดที่จะช่วยมิให้พลาดพลั้งก็ได้รวบรวมไว้หมดเท่าที่จะนึกออก รวมความว่า มิได้มีการ ‘ปิดวิชา’ ในหนังสือเล่มนี้เลย ถ้าท่านผู้อ่านใช้ความพินิจพิเคราะห์แล้ว เชื่อว่าจะทำขนมได้ดีเป็นแน่ โดยมิต้องมีครูเลย”

ในตำรายังตีพิมพ์ถ้อยความที่ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีถึงหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2482 ที่แสดงถึงความชำนาญในการทำขนมของหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอว่า

“ได้รับขนมฝรั่งที่เธอส่งมาให้แล้ว ฉันกำลังอยากอยู่ทีเดียว ให้เขาไปหาซื้อก็ไม่ได้ เธอนำมาให้พอดี ใจช่างตรงกัน ขนมที่ไหนก็ไม่อร่อยเหมือนของเธอ รสกำลังเหมาะกับปากของฉัน ไม่หวานเกินไป ขอขอบใจเป็นอย่างยิ่งที่นึกถึงฉันเสมอ มีอะไรเล็กน้อยก็นำมาให้มิได้ขาด”

หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ โสณกุล รัชกาลที่ 5 ไม่ทรงโปรดทุเรียน
หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ โสณกุล (ภาพ: Wikimedia Commons)

ใน “ตำราทำขนมสำหรับเลี้ยงน้ำชา และขนมปังปรุงต่างๆ” มีสูตรขนมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ขนมตรอปิคอะโรมา, ขนมเลดีเบ็ตตี, ขนมฟองน้ำ (สปันชเคก), ขนมส้มจีน (อย่างฟองน้ำ), ขนมม้วน (แยมโรล ชอคอเลตโรล, ขนมมันฮ่อ, ขนมกาแฟ, เอแคล, ขนมชอคอเลต, สโคน, ขนมปังลูกเกตก์กับถั่ว, กริดเดิลเคก, แป้งปายอย่างร่วน (ชอร์ตครัสต์), ปายมะนาวหน้าเมแรง, ชีสเคกอามันด์, คุกคีถั่วลิสง, คุกคีข้าวโอ๊ต ฯลฯ

ขนมเหล่านี้สะท้อนถึงความนิยมในขนมอย่างฝรั่งที่แพร่หลายในสังคม อย่างน้อยก็ในหมู่ชนชั้นสูงและในโรงเรียนสตรีสมัยนั้น

รัชกาลที่ 5 ไม่โปรดทุเรียน

หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอทรงเป็นเจ้านายที่ใกล้ชิดพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 หลายพระองค์ ดังที่ทรงเล่าถึงชีวิตวัยเยาว์ไว้ว่า ได้ไปค้างอยู่ในวังสวนดุสิต ที่เรียกว่า “สวนสี่ฤดู” เป็นครั้งเป็นคราว

กระทั่งใน พ.ศ. 2449 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีรับสั่งให้เข้าไปในวังเพื่อเรียนหนังสือ และได้รับการถ่ายทอดวิชาทำอาหารฝรั่งจากหม่อมเจ้าจันทรนิภา เทวกุล

ส่วนเรื่อง รัชกาลที่ 5 ไม่โปรดทุเรียน หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอทรงเล่าว่า เมื่อถึงคราวหน้าทุเรียนออก ต้องซื้อจากแม่ค้านอกวังเสมอ

“เพราะอยู่ในวังไม่มีที่ซื้อหรือจะหาที่ไหนก็ไม่ได้เลย ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ ไม่โปรด ถึงห้ามนำเข้าวังเป็นอันขาด”

เป็นอันว่าเรื่องรัชกาลที่ 5 ไม่โปรดทุเรียน มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งอ้างอิงได้จากหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ โสณกุล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สิบพันพารเสนอ โสณกุล, หม่อมเจ้า. ตำราทำขนมสำหรับเลี้ยงน้ำชา และขนมปังปรุงต่างๆ. พิมพ์ครั้งที่ 3. โรงพิมพ์ตีรณสาร, 2496.

นริศ จรัสจรรยาวงศ์. ตำรับสร้าง(รส)ชาติ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2567