ฟาโรห์ไม่ได้มีแต่ชาย พบอียิปต์มี “ฟาโรห์หญิง” อีก 6 พระองค์

สฟิงซ์ พระนางฮัตเชปสุต ฟาโรห์หญิง อียิปต์ อียิปต์โบราณ
ศีรษะและไหล่ของสฟิงซ์แห่งฮัตเชปสุต อันนี้เป็นตัวแทนของฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุต

เรามักได้ยินว่าอียิปต์ยุคก่อนมี “ฟาโรห์ชาย” ปกครอง แต่จริงๆ แล้วมี “ฟาโรห์หญิง” ด้วยเช่นกัน และฟาโรห์หญิง ก็ไม่ได้ปรากฏเพียงไม่กี่พระองค์ เพราะเท่าที่มีหลักฐานพบว่า อียิปต์โบราณ มีฟาโรห์หญิง “อย่างน้อย” 6 พระองค์ เช่น พระนางฮัตเชปสุต พระนางคลีโอพัตราที่ 7

ประวัติความเป็นมาของอียิปต์ค่อยๆ เลือนหายไป เมื่อความรู้ในการอ่าน เขียน ภาษาอียิปต์โบราณที่ชาว กรีกเรียกว่า ไฮโรกลิฟ (Hieroglyph ซึ่งแปลว่าสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์) ได้สูญสิ้นไป โดยเริ่มจากการเปลี่ยนเป็นภาษากรีก เมื่อศาสนาคริสต์ได้แผ่เข้ามายังอียิปต์ ซึ่งในขณะนั้นมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรไบแซนทีน (Byzantine)

แต่ก็เป็นภาษาที่ไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับประวัติความเป็นมาของ “อียิปต์โบราณ” อีกต่อไป จึงกล่าวได้โดยรวมว่า ภาษาอียิปต์โบราณได้ตายจากไปเกือบ 1,500 ปี

นักปราชญ์ทางภาษาหลายคนอาจพอจะจับเค้าการอ่านภาษาอียิปต์โบราณได้บ้าง แต่ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการอ่านได้โดยสมบูรณ์คือ ฌอง- ฟรองซัวร์ ฌองโปลิยง (Jean-François Champollion) ผลงานเขียนของเขาถือเป็นตำราพื้นฐานในการศึกษาภาษาอียิปต์โบราณตลอดมา

ผลการศึกษาของฌองโปลิยง ได้ทำให้นักประวัติศาสตร์รุ่นต่อมามีกุญแจสำคัญที่จะไขเข้าไปสู่เรื่องราวต่างๆ ที่เป็นอดีตอันไกลโพ้นของอียิปต์ ทั้งเรื่องชีวิต, ความเป็นอยู่, ความเชื่อศาสนา, เศรษฐกิจ, การ ทหาร, สงคราม, การปกครองโดยเฉพาะกษัตริย์ที่มีฐานะกึ่งเทพเจ้าและเราเรียกกันต่อๆ มาในภาษาอังกฤษว่า ฟาโรห์ (Pharaoh)

ในช่วงเวลาเกือบ 3,000 ปี ของประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณนั้น มีฟาโรห์ประมาณ 170 พระองค์ จาก 72 ราชวงศ์ ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นครองราชย์ โดยมีทั้ง ฟาโรห์ชาย และ ฟาโรห์หญิง

นักโบราณคดีพยายามค้นหามัมมี่ของกษัตริย์หรือบุคคลสำคัญตามรายพระนาม/รายนามที่มีอยู่ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในการค้นพบแตกต่างกันไป เช่น ค้นพบมัมมี่พระศพฟาโรห์ที่สำคัญอย่าง รามเสสที่ 2 (Ramesses II) เซติที่ 1 (Seyt I) ธุตโมสิสที่ 1-3 (Thutmosis I-III) ฯลฯ

สฟิงซ์ พระนางฮัตเชปสุต ฟาโรห์หญิง อียิปต์
พระนางฮับเซปซุต “ฟาโรห์หญิง” ในรูปสฟิงซ์ สัตว์ผสมมีปัญญาเหมือนมนุษย์ มีพลังเหมือนสิงห์ (ภาพจาก www.kimbellart.org)

ฮัตเชปสุต “ฟาโรห์หญิง” แห่งอียิปต์

บุคคลสำคัญมากๆ อีกพระองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่หมายปองของนักโบราณคดีคือ พระนางฮัตเชปสุต (Hatshepsut) ฟาโรห์หญิงผู้ครองราชย์อยู่นานกว่า 20 ปี และเป็นยุคสมัยที่จัดว่าเจริญรุ่งเรืองที่สุดสมัยหนึ่ง

พระนางฮัตเชปสุต เป็นพระราชธิดาของฟาโรห์ธุตโมสิสที่ 1 ((Thutmosis I ครองราชย์ระหว่างปี 1504-1492 ก่อนคริสตกาล) แต่งงานกับพี่ชาย (หรือน้องชาย) ของพระนางเอง คือ ธุตโมสิสที่ 2 (ซึ่งครองราชย์อยู่ระหว่าง 1492-1479 ก่อนคริสตกาล) ต่อเมื่อสวามีของพระองค์สิ้นพระชนม์ลง พระนางฮัตเชปสุตก็ก้าวขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการ ใช้อำนาจร่วมกันกับโอรสบุญธรรมอยู่ 3 ปี พอมาถึงปีที่ 3 พระนางก็ประกาศตนเป็นฟาโรห์ และปกครองโดยลำพังต่อไปถึง 21 ปีกว่า (1479-1458/7 ก่อนคริสตกาล)

รัชสมัยของพระนาง อียิปต์ได้ขยายการค้ากว้างไกลไปยังพันต์ (Punt) และนูเบีย ซึ่งอยู่ลึกลงไปในทวีปแอฟริกา ดังที่ปรากฏอยู่ในภาพจำหลักบนฝาผนังของมหาวิหารบูชาพระนางเองในหุบผาแห่งกษัตริย์บริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า ดีร์ เอล บาฮารี (Deir el-BA-hari)

ส่วนหนึ่งของภาพจำหลัก เป็นรูปการลำเลียงเรือข้ามทะเลทรายฟากทิศตะวันออก จนกระทั่งถึงทะเลแดง แล้วจึงแล่นในเลาะชายฝั่งลงไปทางใต้ ต่อจากนั้นจึงเดินเท้าไปยังดินแดนพันต์ และนูเบีย เพื่อเอาสิ่งมีค่า 2 ชนิด คือ ผงทองคำ และยางไม้หอม ซึ่งใช้เป็นเครื่องหอมในพิธีกรรมต่างๆ แม้กระทั่งการทำมัมมี่

ที่นี่ยังมีภาพจำหลักของพระนางฮัตเชปสุต ซึ่งแต่งพระองค์เช่นเดียวกับฟาโรห์ชาย คือ นุ่งผ้าอัดเป็นกลีบละเอียด นุ่งโดยโอบรอบสะโพกมาทบกันด้านหน้า ผ้านุ่งยาวถึงเข่า เปิดเผยให้เห็นช่วงขาที่เปลือยเปล่าเช่นเดียวกับเบื้องพระองค์ท่อนบน ผิวเป็นสีน้ำตาลแดง (ตามที่นิยมทาสีนี้สำหรับบุรุษเพศ) สวมกรองพระศอขนาดใหญ่ทำด้วยทองคำ ศิราภรณ์นั้นมีต่างๆ แล้วแต่วาระที่กำลังกระทำ และที่สำคัญคือ จะต้องทรงประดับเคราปลอม (ceremonial beard) ที่ใต้คางอย่างที่ฟาโรห์ทุกพระองค์มี พระองค์ทรงเฉลิมพระนามในฐานะฟาโรห์ว่า “มาอัตคารา (Maatkara) ผู้เป็นที่รักของสุริยเทพอามูน และได้รับพรให้มีชีวิตนิ รันดร์”

ฟาโรห์หญิง (อย่างน้อย) 6 พระองค์

แม้ฟาโรห์เกือบทุกพระองค์ตลอดระยะเวลาเกือบ 3,000 ปี จะเป็นชาย แต่ก็มีข้อยกเว้นอย่างน้อย 6 พระองค์ ที่เป็น “ฟาโรห์หญิง” อันได้แก่

นิโตคริส (Nitocris) ครองราชย์อยู่ประมาณ 3 ปี ระหว่าง 2218-2216 ก่อนคริสตกาล ไม่มีประวัติชัดแจ้ง ยกเว้นถูกกล่าวถึงโดยเฮโรโดตัส (Herodotus)

เนฟรูโซเบก (Nefrusobek) ครองอำนาจ 4 ปี ระหว่าง 1785-1781 ก่อนคริสตกาล ต่อจากฟาโรห์อาเมนเนมฮัตที่ 4 (Amenemhat IV) พี่ชายและพระสวามีของพระนาง

ฮัตเชปสุต (Hatshepsut) ครองอำนาจต่อจากธุตโมสิสที่ 2 พี่(น้อง)ชาย/สวามีที่สิ้นพระองค์ ทรงครองราชย์ในฐานะฟาโรห์หญิงต่อไปอีก 21 ปี

เนเฟอร์ตีติ (Nefertiti) ทรงมีบทบาทในการบริหารร่วมกับฟาโรห์อาเมนโฮเตปที่ 4 ทั้งสองร่วมกันใช้อำนาจจากปี 1346-1333

รูปปั้น พระนางเนเฟอร์ติตี ฟาโรห์หญิง อียิปต์ อียิปต์โบราณ
รูปปั้นครึ่งพระองค์พระนางเนเฟอร์ติตี (ภาพจาก www.wikipedia.org)

เทาสเรต (Tausret) มเหสีของฟาโรห์เซติที่ 2 (Seti II) เมื่อฟาโรห์สิ้นพระชนม์ลง พระนางได้ใช้อำนาจร่วมกับฟาโรห์ซิปทาห์ (Siptah) โอรสบุญธรรมในระหว่างปี 1193-1185 ก่อนคริสตกาล

และฟาโรห์ที่คนส่วนใหญ่รู้จักพระนางดี ก็คือ พระนางคลีโอพัตราที่ 7 (Cleopatra VII) ฟาโรห์องค์สุดท้ายของราชวงศ์  ปโตเลมี (Ptolemy) อันเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอียิปต์โบราณ ก่อนจะตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรโรมัน พระนางมักถูกวาดภาพให้เป็นหญิงงามแต่แพศยาด้วยทัศนะของนักประวัติศาสตร์ชายชาวโรมัน ซึ่งต้องการทำลายความชอบธรรมในการครองอำนาจของพระนางร่วมกับจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar)

พระเศียร พระนางคลีโอพัตราที่ 7 ฟาโรห์หญิง อียิปต์
พระเศียรจำหลักพระนางคลีโอพัตราที่ 7 (ภาพจากwww.wikipedia.org)

แต่มองจากมุมของอียิปต์บทบาทของพระนางระหว่างปี 51 ก่อนคริสตกาล (?) จนถึงคริสตกาล โดยเฉพาะการแต่งงานการเมือง กับผู้นำทางการเมืองโรมัน 2 ครั้ง ก็ล้วนเป็นไปเพื่อรักษาอียิปต์ทั้งสิ้น พระนางฆ่าตัวตายในฉลองพระองค์ฟาโรห์สตรีอย่างสมพระเกียรติ เมื่อแม่ทัพของโรมันบุกยึดอเล็กซานเดรีย อียิปต์ ในปีที่ 30 ก่อนคริสตกาล

โดยสรุปแล้ว แม้ฟาโรห์เกือบทั้งหมดจะเป็นชาย แต่ก็ไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่า มีข้อห้ามมิให้สตรีเป็นฟาโรห์หรือไม่ ส่วนกรณีของฟาโรห์สตรีทั้ง 6 พระองค์ ดังที่กล่าวแล้วนั้น พบว่า 5 ใน 6 มักเป็นช่วงที่บ้านเมืองระส่ำระสาย

การขึ้นสู่อำนาจของบรรดาสตรีเหล่านี้จึงเป็นไปเพื่อสืบทอดราชวงศ์ให้ดำเนินต่อไปได้ และพบว่าทุกกรณีเป็นการใช้อำนาจร่วมกันกับพระราชสวามีหรือโอรสบุญธรรมทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามกรณี พระนางฮัตเชปสุต และพระนางคลีโอพัตราที่ 7 “ฟาโรห์หญิง” ซึ่งครองราชย์ยาวนานถึง 20 ปีเศษไล่เลี่ยกันนั้น ต้องถือว่าเป็นกรณีพิเศษและวิเศษจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ทรงยศ แววหงษ์. การ”ค้นพบ” ฟาโรห์สตรี, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2551


เผยแพร่ในระบบออนไน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2561