ฟาโรห์ผิวดำแห่งอียิปต์! เมื่อกษัตริย์ชาวนูเบียปกครองดินแดนไอยคุปต์

ฟาโรห์ผิวดำ Taharqa ฟาโรห์ชาวนูเบีย ปกครอง อียิปต์
รูปปั้นเศียรของ Taharqa ฟาโรห์ชาวนูเบียแห่งราชวงศ์ที่ 25

ฟาโรห์ผิวดำ แห่ง อียิปต์ เมื่อกษัตริย์ชาวนูเบียปกครองดินแดนไอยคุปต์

อียิปต์ (Egypt) แหล่งอารยธรรมเก่าแก่ที่มากด้วยประวัติศาสตร์และขุมทรัพย์ทางโบราณคดี ดินแดนลุ่มแม่น้ำไนล์แห่งนี้ปกครองด้วยกษัตริย์หรือฟาโรห์ (Pharaoh) ราชวงศ์แล้วราชวงศ์เล่า และบ่อยครั้งความอุดมสมบูรณ์ของอียิปต์ดึงดูดผู้ถูกรุกรานต่างชาติให้เข้ามาครอบครอง ทั้งกลุ่มชนชาติเซเมติคจากเมโสโปเตเมียและเอเชียกลาง พวกลิเบียโบราณ ตลอดจนชาวเปอร์เซีย กรีก โรมัน และอาหรับในยุคหลัง

ในบรรดาราชวงศ์ต่าง ๆ และชนต่างชาติที่มีโอกาสปกครองอียิปต์นั้น ล้วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อินโดยูโรเปียนทั้งสิ้น มีหนึ่งเดียวที่เป็นราชวงศ์ของชาติพันธุ์แอฟริกันผิวดำจากพื้นที่ตอนในของทวีปแอฟริกา นั่นคือ ราชวงศ์นูเบียน (Nubian Dynasty) ของเผ่านูเบีย ราชวงศ์ลำดับที่ 25 แห่งอียิปต์

ผู้นำชาวคูช ชาวนูเบีย ฟาโรห์ผิวดำ
ประติมากรรมผู้นำชาวคูช หรือ ชาวนูเบีย ที่มีบทบาทในการปกครองอียิปต์โบราณ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ยุคสมัยของราชวงศ์นูเบียนอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล ดินแดนอียิปต์หลังยุคของฟาโรห์รามเสสที่ 3 (Ramses III, 1186–1155 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรค่อย ๆ เสื่อมถอยลง กระทั่งหลังปี 945 ก่อนคริสตกาล ราชวงศ์ต่างชาติจากดินแดนลิเบียสามารถปกครองอียิปต์ได้สำเร็จ อาณาจักรอียิปต์ภายใต้ราชวงศ์ของชาวลิเบียดำรงอยู่ได้ช่วงเวลาหนึ่งก็ต้องเผชิญสภาวะที่ไร้เอกภาพ และดินแดนต่าง ๆ ได้แตกออกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยของเหล่าขุนศึกในปีที่ 750 ก่อนคริสตกาล

ปิเย (Piye) ผู้นำของอาณาจักรนูเบีย กษัตริย์แห่งดินแดนทางใต้ของลุ่มแม่น้ำไนล์ บริเวณที่ปัจจุบันคือประเทศซูดาน ตัดสินใจเปิดฉากยกทัพปราบปรามกลุ่มต่าง ๆ ในดินแดนทางเหนือ เพื่อรวบรวมอาณาจักรอียิปต์ในช่วงปี 730 ก่อนคริสตกาล

หลังสงครามอันยาวนานร่วมปี บรรดาขุนศึกในดินแดนอียิปต์ต่างยอมจำนนต่อกองทัพนูเบีย เครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ หลั่งไหลมายังราชสำนักของปิเย พระองค์กลายเป็นฟาโรห์ชาวนูเบียองค์แรกที่ปกครองอียิปต์บนและอียิปต์ตอนกลางได้อย่างสมบูรณ์ เริ่มยุคสมัยของราชวงศ์ที่ 25 และเป็น “ฟาโรห์ผิวดำ” แห่งอียิปต์

ปิเยสิ้นพระชนม์หลังปกครองอียิปต์ประมาณ 30 ปี โดยมีทายาทเป็นฟาโรห์องค์ต่อมาคือ Shebitku ก่อนสิ้นพระชนม์ ปิเยทรงรื้อฟื้นธรรมเนียมการสร้างพีระมิดเหนือหลุมศพของพระองค์เอง โดยสถานที่ฝังอยู่ที่ เอลคูร์รู (El-Kurru) ทางตอนเหนือของซูดาน ประเพณีฝังศพฟาโรห์ในพีระมิดที่หายสาบสูญไปจากดินแดนอียิปต์กว่า 500 ปี จึงปรากฏขึ้นอีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์

ฟาโรห์ Taharqa ฟาโรห์ผิวดำ
ฟาโรห์ Taharqa ณ พิพิธภัณฑ์ลูฟ, ฝรั่งเศส (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ราชวงศ์นูเบียนปกครองอียิปต์ประมาณ 88 ปี ปรากฏหลุมฝังศพและรายพระนามของฟาโรห์ทั้งหมด 5 องค์ (อีก 3 องค์คือ Shabaka, Taharqa, Tantamani) ฟาโรห์นูเบียเหล่านี้แม้จะเป็นชาวต่างชาติ แต่มีบทบาทไม่น้อยในการรวบรวมดินแดนอียิปต์ที่แตกแยกให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ทั้งยังขยายจักรวรรดิไปถึงบริเวณดินแดนคาร์ทูม (Khartoum) ทางทิศใต้ และทิศเหนือจรดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ก่อนจะถูกจักรวรรดิอัสซีเรียน (Assyrian Empire) จากเอเชียตะวันตกแผ่อำนาจเข้ามารุกรานอาณาจักรอียิปต์ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์นูเบียนในศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล ผลักดันให้ชาวนูเบียต้องโยกย้ายกลับถิ่นฐานดั้งเดิมทางตอนใต้ของแม่น้ำไนล์อย่างถาวร

อย่างไรก็ตาม อารยธรรมนูเบียไม่ได้เพิ่งถือกำเนิดในราชวงศ์ที่ 25 แต่อย่างใด วัฒนธรรมของพวกเขามีความเก่าแก่ควบคู่กับอารยธรรมอียิปต์ ชาวอียิปต์เรียกชาวนูเบียรวมถึงดินแดนของพวกเขาว่า คูช (Kush) ตั้งแต่ยุคราชวงศ์ที่ 1 (ประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล) ดินแดนคูชยังมีแหล่งขุมทรัพย์เป็นเหมืองทองที่อียิปต์ต้องการ และชาวนูเบียก็ครอบครองสิ่งล้ำค่านี้ จนกระทั่งราชวงศ์ที่ 18 ของอียิปต์ (ศตวรรษที่ 16-13 ก่อนคริสตกาล) เข้ามายึดครองและผนวกให้ดินแดนคูชเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอียิปต์

อาณาจักรอียิปต์สร้างค่ายทหารรักษาการณ์ไว้ตลอดลำน้ำไนล์ในดินแดนคูช ชนชั้นปกครองชาวนูเบียเริ่มรับอารยธรรมอียิปต์เข้ามาสู่ดินแดนของตนตั้งแต่นั้น ทั้งวัฒนธรรม ภาษา ความเชื่อ และเทพเจ้าอียิปต์ล้วนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมนูเบีย กระทั่งพวกเขาประสบความสำเร็จในการสถาปนาราชวงศ์ที่ 25 ปกครองอียิปต์ในศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล

สำหรับยุคราชวงศ์ที่ 25 ฟาโรห์ชาวนูเบียรับมรดกและอารยธรรมความเป็นอียิปต์อย่างเต็มตัว พวกเขาบูชาเทพอามุน (Amun) หรือสุริยเทพ ซึ่งยึดถือปฏิบัติกันมาครั้งกษัตริย์นูเบียองค์ก่อน ๆ ในสมัยของฟาโรห์ปิเยยังมีการบูรณะวิหารเทพอามุนแห่งเจเบล บาร์กัล (Great Temple of Amun at Jebel Barkal) โดยจ้างช่างแกะสลักหินแห่งอียิปต์จำนวนมากด้วย

แม้จะถูกบีบให้ถอยกลับทางใต้ในเวลาต่อมา แต่พวกเขายังคงรักษาขนบธรรมเนียมในการฝังศพ และการสร้างพีระมิดเหนือสุสานกษัตริย์สืบต่อมา พีระมิดนูเบียยังมีความลาดชันมากกว่าพีระมิดอียิปต์ด้วย อีกหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความนิยมสร้างพีระมิดของชาวนูเบียคือ มีการค้นพบพีระมิดในพื้นที่ประเทศซูดานจำนวนมากกว่าพีระมิดในประเทศอียิปต์เสียอีก

แผนที่ อารยธรรม ที่ อียิปต์
ที่ตั้งของกลุ่มอารยธรรมอียิปต์ (อียิปต์บน-อียิปต์ล่าง) และดินแดนคูช (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ด้วยยุคสมัยอันสั้นของราชวงศ์ที่ 25 และศูนย์กลางการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อียิปต์มักอยู่กับชนชาติอื่นเสียเป็นหลัก ทำให้เรื่องราวของ ฟาโรห์ผิวดำ เหล่านี้ไม่ค่อยถูกพูดถึงบ่อยนัก กระทั่งจอร์จ ไรเนอร์ นักไอยคุปต์วิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดลงพื้นที่สำรวจซูดานเมื่อต้นคริสต์วรรษที่ 20 และค้นพบมรดกทางโบราณคดีจำนวนมากในดินแดนอียิปต์บนของซูดาน

ตัวตนของชาวนูเบียและราชวงศ์นูเบียนแห่งดินแดนคูชจึงเป็นที่รู้จักมากขึ้นในแวดวงนักประวัติศาสตร์ โบราณคดี และไอยคุปต์วิทยา

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

แอนดูรว์ ลอว์เลอร์. (2564). 100 อัศจรรย์ทางโบราณคดี. National Geographic ฉบับภาษาไทย. ฉบับที่ 244 พฤศิจากายน: 58-59.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กันยายน 2565