ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
ผู้สนใจประวัติศาสตร์ “อียิปต์” หรือเรื่องราวอารยธรรมแห่งแดนไอยคุปต์ ย่อมรู้จัก มัมมี่ (Mummy) กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ความเข้าใจที่ยึดถือกันมานานเกี่ยวกับมัมมี่ คือวิธีรักษาสภาพศพที่ชาวอียิปต์กระทำกับร่างกายของผู้ตาย มีที่มาจากความเชื่อเกี่ยวกับโลกหน้า เพราะชนโบราณลุ่มแม่น้ำไนล์เหล่านี้เชื่อว่า วิญญาณจะออกจากร่างเพียงชั่วคราว และจะกลับร่างอีกครั้งหลังจากเข้าเฝ้าเทพเจ้าในโลกหลังความตาย เป็นเหตุผลว่าทำไมร่างกายของผู้วายชนม์จะต้องถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี และต้องแยกอวัยวะภายในมาเก็บไว้ต่างหาก เพื่อป้องกันการเน่าเปื่อยจากในร่างกาย
แต่… ความเชื่อเหล่านี้ถูกต้องแค่ไหน? อันที่จริง แม้เหตุผลต่าง ๆ ที่นักโบราณคดีและนักไอยคุปต์วิทยายกมาสนับสนุนมีความสมเหตุสมผลในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่มีข้อพิสูจน์หรือสิ่งยืนยันใด ๆ ที่ชี้ชัดว่าถูกต้อง 100% (และไม่มีข้อโต้แย้งหรือหักล้าง) กระทั่งความเชื่อที่คลุมเครือดังกล่าวถูกท้าท้ายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเมื่อปลายปี 2022 เพราะมีนักวิชาการส่วนหนึ่งยกทฤษฎีที่ว่า แท้จริงแล้ว มัมมี่ ของชาวอียิปต์ โดยเฉพาะมัมมี่ฟาโรห์ ไม่ใช่การ “รักษา” สภาพศพ แต่คือการสร้าง “เทวรูป”
ทฤษฎีดังกล่าวมี ดร. แคมป์เบล ไพรซ์ (Dr. Campbell Price) นักไอยคุปต์วิทยารุ่นใหม่ แห่งพิพิธภัณฑ์แมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร เป็นคนสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลที่พลิกวงการนี้ เพราะมันแทบจะหักล้างความเชื่อเดิม ๆ ที่ยึดถือกันมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยนักโบราณคดีรุ่นแรก ๆ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นก็เป็นชาวอังกฤษเหมือนกัน
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ความเข้าใจดั้งเดิมเกี่ยวกับเจตนารมณ์ในการสร้าง มัมมี่ มีช่องโหว่พอสมควร เพราะไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่หนักแน่น การทำมัมมี่เพื่อรักษาสภาพศพจึง (เกือบ) จะเป็นทฤษฎีที่ “เข้าใจไปเอง” ในหมู่นักโบราณคดี แล้วยึดถือตามกันมา
บริบทสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามเกี่ยวกับทฤษฎีแบบเก่าคือ ทัศนคติต่อ “ความตาย” ของคนยุคนั้น หรือ “ยุควิกตอเรียน” ที่ชาวอังกฤษพยายามอย่างหนักเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลกหลังความตาย เมื่อพวกเขาค้นพบและศึกษาเกี่ยวกับมัมมี่ของชาวอียิปต์ จึง “ทึกทัก” ไปว่านี่เป็นวิธีทำให้ผู้วายชนม์มีชีวิตหลังความตายที่สมบูรณ์แบบ และพร้อมสำหรับการฟื้นคืนชีพ
กลับมาที่ทฤษฎีใหม่ ดร. แคมป์เบล ไพรซ์ ยกข้อสนับสนุนเรื่องที่ชาวอียิปต์เชื่อว่า ฟาโรห์ คือ “เทพผู้มีกายหยาบ” (Living God) มาสนับสนุนหลักการของเขา ทั้งยังมีการค้นพบหลักฐานมากมายที่ต่างชี้ให้เห็นว่า การทำศพของฟาโรห์ และราชินีแสดงออกถึงการ “คืนสู่สภาวะเทพ” ร่างไร้วิญญาณของพวกเขาจึงต้องถูกทำให้เป็นรูปเคารพ หรือเทวรูป แม้มัมมี่ของฟาโรห์จะถูกเก็บรักษาไว้อย่างมิดชิด ไม่ได้ตั้งไว้ในตำแหน่งสำหรับสักการะบูชาโดยตรงก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ มัมมี่ จึงเป็นนวัตกรรมเพื่อตอบสนองต่อความเชื่อทางศาสนามากกว่าวิทยาการด้านการแพทย์ของชาวอียิปต์โบราณ
ยิ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถจำลองใบหน้าสามมิติของฟาโรห์ จากโครงสร้างกะโหลกศีรษะและบริเวณใบหน้า โดยไม่ต้องผ่าตัดหรือสร้างความเสียหายให้กับร่างมัมมี่ ช่วยเผยว่าใบหน้าที่แท้จริง (หรือเสมือนจริง) ของมัมมี่บางร่างแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากหน้ากากทองคำที่ครอบทับหีบบรรจุร่างมัมมี่ ชิ้นส่วนข้างต้นยังถูกสลักเสลาอย่างงดงามปราณีต จึงอนุมานได้ว่า หน้ากากทองคำ คือการจำลองรูปลักษณ์ของเทพเจ้า ไม่ใช่ใบหน้าที่แท้จริงของเจ้าของร่างมัมมี่เอง
ดร. แคมป์เบล ไพรซ์ กล่าวว่า “มันเป็นความแตกต่างทางความคิดที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง แต่มีความสำคัญมาก แนวคิดในอดีตเรื่องวิญญาณจะคืนสู่ร่างและมีการฟื้นคนจากความตายอีกอีกครั้ง ไม่มีการบ่งชี้อย่างชัดเจนในกระบวนการทำมัมมี่หรืองานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับมัมมี่มากเท่าที่ควร มันจึงต่างจากที่คนทั่วไปเคยจินตนาการ”
ที่น่าสนใจคือ แม้แต่มัมมี่ที่โด่งดังที่สุดของอียิปต์อย่าง ฟาโรห์ตุตันคามุน ซึ่งมีหน้ากาก และชิ้นส่วนประกอบหีบบรรจุอันงดงามอลังการ แต่ศพกลับถูกทำให้เป็นมัมมี่แบบไม่ปราณีตเท่าที่ควร เหมือนขาดการเอาใจใส่ ประเด็นนี้ ดร. แคมป์เบล ไพรซ์ บอกว่า
“หากอ่านจากบันทึกของผู้ค้นพบสุสานเก็บพระศพ ดูเหมือนว่ากระบวนการทำมัมมี่มีจุดบกพร่อง แต่คนโบราณที่จัดการพระศพไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเขาทำอะไรลงไป ดังนั้น ร่างมัมมี่ของตุตันคามุนจึงถูกถนอมรักษาไว้ไม่ดีเท่าที่ควร นั่นเพราะการสร้างรูปลักษณ์ของผู้วายชนม์ให้เหมือนตัวจริงก่อนเสียชีวิต แบบที่เห็นแล้วจำได้ทันที ไม่ใช่วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของคนทำมัมมี่มาตั้งแต่แรก
ชาวอียิปต์โบราณถือว่ารูปเคารพมีความศักดิ์สิทธิ์ดั่งเทพเจ้า รวมถึงภาพวาดและภาพสลักที่ถือเป็นตัวแทนของเทพเจ้าด้วย โดยถือว่าภาพสัญลักษณ์เหล่านี้มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวของมันเอง”
ส่วนการบรรจุอวัยวะภายในใส่ โถคาโนปิค (Canopic jars) ดร. แคมป์เบล ไพรซ์ ชี้ว่าเป็นกระบวนการทำให้อวัยวะเหล่านั้นมีความ “ศักดิ์สิทธิ์” คู่ควรกับร่างกายส่วนหลักที่กลายเป็นเทวรูปหรือแบบจำลองแห่งเทพเจ้าไปแล้ว
แม้ทฤษฎีของ ดร. แคมป์เบล ไพรซ์ จะฟังดูสมเหตุสมผล แต่ยังมีนักไอยคุปต์วิทยาจำนวนไม่น้อยที่ยืนกรานทฤษฎีแบบเดิม ซึ่งไม่ใช่การดันทุรังแต่อย่างใด พวกเขาเองก็มีเหตุผลรองรับเช่นกัน เพราะแม้มัมมี่ชนชั้นสูงหลายร่างจะดูคล้ายเทวรูปจริง ๆ แต่ยังมีอีกหลายร่างที่ดูเหมือนมนุษย์ที่กำลังหลับใหล ทั้งภาพวาดหรืองานสลักยังปรากฏร่องรอยตำหนิที่บ่งชี้อัตลักษณ์ของผู้วายชนม์ไว้ด้วย เพื่อให้วิญญาณสามารถจำร่างกายเดิมของตนได้
ดร. สตีเฟน บักลีย์ นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยยอร์ก หนึ่งในผู้เห็นแย้งกับทฤษฎีใหม่อย่างเปิดเผย กล่าวว่า “แน่นอนว่าจุดประสงค์การทำมัมมี่ของชาวอียิปต์โบราณไม่ใช่การรักษาสภาพศพให้อยู่ทนนานเพียงอย่างเดียว แต่การปฏิเสธแนวคิดดังกล่าวไปอย่างสิ้นเชิง ดูจะผิดประเด็นไปเสียหน่อย”
หากเปิดใจให้กว้างแล้วพิจารณาเหตุผลกับข้อสนับสนุนของทุกฝ่ายอีกครั้ง อาจจะเป็นการด่วนตัดสินเกินไปที่จะชี้ขาดว่า มัมมี่ คือการรักษาสภาพศพ หรือคือการสร้างเทวรูป เพราะมันอาจเป็นทั้งสองอย่าง หรือเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เพราะค่านิยมหรือความเชื่อที่แปรเปลี่ยนไป ก็เป็นได้…
อ่านเพิ่มเติม :
- กิน-ดื่มอย่างอียิปต์ ยุคดึกดำบรรพ์ กินอะไร ดื่มอะไร
- อียิปต์โบราณ ใช้ปัสสาวะรดเมล็ดข้าว การทดสอบตั้งครรภ์เก่าแก่ที่สุดในโลก
- อียิปต์ สมัยโบราณ หา “นกศักดิ์สิทธิ์” นับล้านตัวมาจากไหน เอาไว้ใช้ทำมัมมี่
อ้างอิง :
BBC NEWS ไทย. (8 มกราคม 2023) : “มัมมี่ไม่ใช่การรักษาสภาพศพ ที่แท้ชาวอียิปต์โบราณจงใจสร้าง ‘เทวรูป’ ”. <https://www.bbc.com/thai/articles/cqv38jn5g11o>
Jennifer Nalewicki, Live Science (Nov 22, 2022) : Ancient Egyptian mummification was never intended to preserve bodies, new exhibit reveals. <https://www.livescience.com/ancient-egyptians-mummification-purpose-divinity>
Marianne Guenot, Insider (Dec 30, 2022) : Did we get Egyptian mummification totally wrong? It might have nothing to do with preserving the body after death, experts say. <https://www.businessinsider.com/ancient-egyptian-didnt-intend-preserve-mummy-bodies-say-scientists-2022-12>
Vanessa Thorpe, The Guardian (Nov 12, 2022) : Dead wrong: Victorians ‘mistaken’ about why Egyptians mummified bodies. <https://www.theguardian.com/science/2022/nov/12/victorians-wrong-about-why-egyptians-mummified-the-dead-exhibition-reveals>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2566