อียิปต์สมัยโบราณหา “นกศักดิ์สิทธิ์” นับล้านตัวมาจากไหน เอาไว้ใช้ทำมัมมี่

ภาพช่างน้ำหนักหัวใจจากเอกสาร คัมภีร์แห่งความตาย ในวงกลมแดงคือเทพธอธ (Thoth) กำลังจดบันทึก ภาพจาก Wikimedia Commons

อียิปต์ยุคโบราณเป็นช่วงเวลาที่ทำให้นักประวัติศาสตร์และอีกหลายอาชีพยังคงต้องค้นหาข้อมูลมาคลี่คลายปริศนาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการก่อสร้างพีระมิด หรือแหล่งฝังพระศพบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่ปริศนาเล็กๆ อย่างเรื่องแหล่งที่มาของ นก Ibis (ภาษาไทยเรียกว่า “นกช้อนหอย”) ซึ่งถูกนำมาทำเป็นมัมมี่จำนวนมากเฉียดล้านตัว

หากพิจารณาตามหลักฐานที่ค้นพบ การทำมัมมี่สัตว์เป็นสิ่งที่พบเห็นทั่วไปในอียิปต์โบราณ เนื่องจากการขุดค้นสุสานใต้ดินก็มักพบมัมมี่สัตว์เป็นจำนวนมาก สัตว์ที่ถูกทำมัมมี่มีตั้งแต่เต่าทองตัวเล็กๆ ไปจนถึงลิงบาบูนขนาดใหญ่ในโลงหินแบบอียิปต์ที่เรียกว่า “Sarcophagus” เดิมทีแล้ว จะเป็นกลุ่มนักบวชเป็นผู้เตรียมการสำหรับทำมัมมี่ จากนั้นก็นำมาตกแต่ง และนำออกมาจำหน่ายแก่สาธารณชนด้วยราคาที่แตกต่างกัน ส่วนผู้คนที่ซื้อมัมมี่ไปนั้น ก็เพื่อแสดงความเคารพศรัทธาต่อเทพเจ้า หรือเพื่อนำมาส่งเสริมการสวดภาวนาเทพ

สำหรับการทำมัมมี่นกศักดิ์สิทธิ์นั้น เชื่อว่ามีที่มาจากความเชื่อของอียิปต์ยุคโบราณ เทพธอธ (Thoth) เทพแห่งเวทมนตร์ การเขียน ความรอบรู้ (และอีกหลายข้อ) มีศีรษะเป็นนกไอบิส ชาวอียิปต์โบราณจึงมักทำมัมมี่นกไอบิสศักดิ์สิทธิ์สายแอฟริกันเพื่อเป็นของสังเวยแด่เทพธอธ คำถามต่อมาคือ ชาวอียิปต์ไปหานกไอบิสศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากมาจากไหน จำนวนมากที่ว่านี้ หากอ้างอิงตามรายงานข่าวจากนิวยอร์ก ไทม์ส แหล่งข่าวนี้บ่งชี้ว่ามีมัมมี่นกชนิดนี้มากถึงหลักล้านตัวเลยทีเดียว

นก African Sacred Ibis ในสวนสนุกที่ Geiselwind ประเทศเยรอมนี เมื่อปี 2013 (ภาพจาก DANIEL KARMANN / DPA / AFP)

สมมติฐานที่ผ่านมามีหลากหลาย ทั้งเรื่องนักบวชของอียิปต์โบราณเป็นผู้เพาะเลี้ยงนกในฟาร์ม แต่ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปโดยยืนยันสมมติฐานใดๆ ล่าสุด วารสาร PLOS One เผยแพร่ผลการวิจัยและวิเคราะห์ดีเอ็นเอที่อาจเป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่ช่วยไขข้อสงสัยนี้

แซลลี่ วาเซฟ (Sally Wasef) นักพันธุกรรมดึกดำบรรพ์จากศูนย์วิจัยออสเตรเลียนเพื่อวิวัฒนาการของมนุษย์ (Australian Research Center for Human Evolution) จากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ (Griffith University) หัวหน้าทีมวิจัยอธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้คนที่ซื้อมัมมี่ไปนั้นเปรียบได้เหมือนกับการไปโบสถ์และนำเทียนไปถวาย การนำมัมมี่นกไอบิสศักดิ์สิทธิ์ไปถวายเทพธอธก็น่าจะเป็นไปตามความเชื่อว่า จะช่วยให้ผู้ภาวนาโดยศรัทธาพัฒนาทักษะการเขียนหรือช่วยเหลือในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน

รายงานข่าวจากนิวยอร์กไทมส์ (New York Times) บ่งชี้ข้อมูลว่า การสำรวจตลอดระยะที่ผ่านมาพบมัมมี่ลักษณะนี้ในสุดสานรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตัว เชื่อว่าเป็นมัมมี่ในช่วงระหว่าง 664 ปีก่อนคริสตกาล จนถึงค.ศ. 250 นั่นย่อมฉายภาพได้ว่า มัมมี่นกไอบิสศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นธุรกิจอันเป็นล่ำเป็นสันของนักบวชก็ว่าได้ นั่นจึงนำมาสู่ประเด็นคำถามในที่นี้ว่า พวกนักบวชหานกจำนวนมากขนาดนี้ได้จากไหน

มีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายแหล่งที่มาของมัมมี่นกไอบิสศักดิ์สิทธิ์ อาทิ นักบวชให้อาหารและจับนกที่อยู่ตามธรรมชาติมาเอง แต่การพิสูจน์สมมติฐานก็เป็นไปได้ยากกว่าเดิมเมื่อนกไอบิสแอฟริกันศักดิ์สิทธิ์สูญพันธุ์ในอียิปต์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แต่ปัจจุบันพวกมันยังมีหลงเหลืออีกจำนวนมากในภูมิภาคอื่นของทวีปแอฟริกา

หรืออีกทฤษฎีหนึ่งก็มองว่า มีฟาร์มนกไอบิสขนานใหญ่เกิดขึ้น นักบวชเป็นผู้เพาะเลี้ยงนกในท้องถิ่นแบบเดียวกับฟาร์มไก่และสัตว์ปีกที่ใช้สำหรับนำมาทำเป็นอาหารในปัจจุบัน สมมติฐานนี้มีหลักฐานอ้างอิงด้วย เอกสารโบราณก็กล่าวถึงฟาร์มลักษณะนี้ เนื้อหาเอ่ยถึงนักบวชให้อาหารนกด้วยพืชและขนมปัง อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีใครพบหลักฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงนกไอบิสในอียิปต์

ขณะที่งานวิจัยครั้งล่าสุดต้องการหาข้อมูลเพื่อช่วยคลี่คลายปมปริศนานี้ นักวิจัยในโครงการนำตัวอย่างจากมัมมี่นกหลายชนิดมาศึกษา (การทำมัมมี่ช่วยเก็บรักษาหลักฐานที่บ่งชี้ทางพันธุกรรมได้ดี) นักวิจัยสามารถลำดับพันธุกรรมจากไมโทคอนเดรีย (mitochondrial) แบบสมบูรณ์ของนก 14 ชนิด ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า พันธุกรรมของนกหลายตัวที่แตกต่างกันจะช่วยบอกแหล่งที่มาของมันได้ หากนกไอบิสเป็นนกที่เติบโตในท้องถิ่นอียิปต์เอง จีโนมของกลุ่มตัวอย่างน่าจะออกมาคล้ายคลึงกันเหมือนกับลักษณะไก่ที่มาจากฟาร์มเดียวกัน

แต่ผลการศึกษาออกมาว่า ดีเอ็นเอของมัมมี่นกเหล่านั้นมีความแตกต่างกัน ความแตกต่างที่ว่าเทียบเท่ากับความแตกต่างของนกไอบิสศักดิ์สิทธิ์สายแอฟริกันปัจจุบัน ดร.วาเซฟ ระบุว่า ความแตกต่างภายในกลุ่มตัวอย่างเปรียบได้กับภาพสะท้อนประชากรนกที่อยู่ตามธรรมชาติทั่วไปซึ่งมีการผสมพันธุ์และเคลื่อนย้ายถิ่นอย่างอิสระ ซึ่งผลการศึกษานี้ค่อนข้างทำให้น้ำหนักสมมติฐานเรื่องนกตามธรรมชาติมีมากกว่าสมมติฐานเรื่องการเพาะเลี้ยงของนักบวช

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญรายอื่นต่างเห็นตรงกันว่า ผลการศึกษานี้ยังไม่สามารถด่วนสรุปสมมติฐานเกี่ยวกับแหล่งที่มาของนกมัมมี่ได้ และยังต้องมีการทดสอบอีกหลายอย่างที่ควรศึกษาเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะตัดสมมติฐานเรื่องฟาร์มเลี้ยงนกของนักบวชออกไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ธันวาคม 2562