เล่าเรื่องความเชื่อว่าด้วยฤกษ์ “วันตัดผม” จากตำนานขุนนางเข้าเฝ้าแล้วโดนประหาร

ตัดผมแบบเก่า ถ่ายราวยุค 2410 (ANP-0002-123 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

แรกเริ่มนั้นคนจีนตั้งร้านตัดผมกันมากช่างตัดผมส่วนใหญ่เป็นคนจีน ภายหลังรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้คิดสงวนอาชีพบางอย่างไว้ให้คนไทยทำ อาชีพด้าน ตัดผม ก็เป็นอาชีพหนึ่งที่สงวนไว้สำหรับคนไทย เจ้าของร้านและช่างตัดผมจึงเป็นคนไทยกันมากขึ้น

ในสมัยก่อนร้านตัดผมนิยมหยุดวันพุธ ให้เหตุผลที่ว่าวันพุธคนไม่ค่อยตัดผม เพราะมีความเชื่อเกี่ยวกับวันดี วันไม่ดี เช่น มีคำกล่าวกันว่า “วันพุธห้ามตัดผม วันประหัดห้ามถอน” วันประหัดของคนโบราณเพี้ยนมาจากวันพฤหัสบดีนั่นเอง คนโบราณท่านกำหนดไว้ในตำราว่า

Advertisement

ถ้าตัดผมวันอาทิตย์ อายุจะยืนยาว

ถ้าตัดผมวันจันทร์ ตนเองจะมีภัย

ถ้าตัดผมวันอังคาร ศัตรูจะคิดอาฆาตพยาบาท

ถ้าตัดผมวันพุธ จะเกิดมีปากเสียงกันในวงศ์ญาติ

ถ้าตัดผมวันพฤหัสบดี เทวดาทั้งปวงจะอารักขา

ถ้าตัดผมวันศุกร์ จะมีลาภมาจากทุกทิศ

ถ้าตัดผมวันเสาร์ จะได้รับพรชัยจากเทวดา

ตัดผมแบบเก่า ถ่ายราวยุค 2410 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เรื่องตัดผมวันพุธนี้เคยฟังผู้ใหญ่เล่าเป็นทำนองนิทานตั้งแต่ครั้งอยู่ในวัยรุ่น ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งจะเป็นสมัยใดไม่ปรากฏ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งก่อนจะเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ก็ถือโอกาสตอนเช้าที่อยู่ว่างๆ ให้ช่างตัดผม เข้าใจว่าสมัยนั้นคงไม่มีตำรากำหนดวันดีและไม่ดีเผอิญวันนั้นเป็นวันพุธ เมื่อตัดผมแล้วก็เป็นเวลาจวนจะต้องเข้าเฝ้าจะอาบน้ำอาบท่าก็ไม่ทันการ เพียงแต่เอาผ้าขาวม้าปัดๆ เศษผมแล้วก็รีบเข้าเฝ้ากันเลยทีเดียว

เขาว่าคนเราคราวจะมีเคราะห์ก็ให้มีเหตุเป็นไปจนได้ วันนั้นพระเจ้าแผ่นดินเผอิญไม่มีพระราชกิจอะไรมากนักใบบอกอะไรต่างๆ ไม่มีส่งเข้ามา พระเจ้าแผ่นดินก็เลยมีเวลาทอดพระเนตรข้าราชการอย่างทั่วถึงได้พินิจพิเคราะห์ตรวจตราความสะอาดเรียบร้อยและสุขภาพของบรรดาข้าราชการพิเศษและก็เป็นการบังเอิญสายพระเนตรได้แลมาประสบพบเศษผมติดอยู่ตามไหล่ ตามใบหูของขุนนางเจ้ากรรมคนนั้นเข้าและด้วยความหวังดี พระองค์ตรัสสั่งเสนาว่า “นี่แน่ะเสนา เอ็งจงพาขุนนางของข้าไปล้างหัวเดี๋ยวนี้”

ฝ่ายเสนามิทันช้ารีบสนองพระบรมราชโองการ จูงมือขุนนางไปยังตะแลงแกงจัดการประหารตัดศีรษะทันที

ทั้งนี้เพราะเข้าใจคำว่าล้างผิดไป พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชประสงค์จะให้เอาน้ำล้างศีรษะให้หมดเศษผม แต่เสนาบดีกลับตีความไปอีกอย่างหนึ่ง โดยเข้าใจว่าให้เอาไปล้างตัดศีรษะ

ผู้เล่านิทานนี้สรุปว่า ตั้งแต่นั้นมาคนโบราณก็ไม่ตัดผมในวันพุธ ก็ฟังเป็นนิทานไว้ไม่เสียหายอะไร เพราะเราไม่รู้เรื่องเดิม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ส.พลายน้อย. สิริมงคล. สำนักพิมพ์พิมพ์คำ, 2547.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ตุลาคม 2559