ไฉน “ขุนโลกทีป” โหรหลวงพระเจ้าตาก พยากรณ์ว่า เจ้าพระยาจักรีจะได้เป็นกษัตริย์?

ภาพประกอบเนื้อหา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2547)

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทั้งสองพระองค์มีดวงพระชะตาสอดคล้องสมพงศ์กันมาตลอด เริ่มจากเป็นสามัญชน เข้ารับราชการไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งสูง ๆ ขึ้นตามลำดับ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในแผ่นดินก่อน โดยมีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รับราชการเป็นขุนนางในแผ่นดินพระองค์ เวลานี้เองเป็นเวลาที่ดวงพระชะตาของทั้งสองพระองค์ก็ขัดข่มกันเองจนถึงขั้นที่ฝ่ายหนึ่ง “แพ้ดวง” จนชะตาขาด

ดวงพระชะตาของพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์สมพงศ์กันนับแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พม่า ดังที่ปรากฏในตำนานเรื่อง “อภินิหารบรรพบุรุษ” ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังเป็นเพียง “นายสิน” มหาดเล็กวังหลวง ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อมา “นายสิน” ได้บวชกับพระอาจารย์ทองดีมหาเถระ เจ้าอธิการวัดโกษาวาศน์ หรือวัดเชิงท่าในปัจจุบัน ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ยังเป็นมหาดเล็กอยู่เช่นกัน ต่อมาบวชอยู่ที่วัดมหาทลาย แต่อ่อนพรรษากว่า “พระสิน” อยู่ 3 พรรษา เวลานั้นได้มีตำนานเรื่องดวงพระชะตาของทั้งสองพระองค์ที่เล่าสืบกันมาว่า

“ครั้นวันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าเสด็จไปบิณฑบาตร พบพระเจ้าตากก็เสด็จมาบิณฑบาตร ท่านก็หยุดยืนสนทนากันด้วยสมณวัตกถาฯ ขณะนั้นมีจีนชะราเดินมาถึงที่ตรงประทับอยู่นั้น จีนชะราก็หยุดยืนแลดูพระภักตรท่านทั้งสองพระองค์เปนช้านานแล้วก็หัวร่อ แล้วก็เดินไปห่างพระองค์ประมาณ 10 ศอก แล้วก็เหลียวหน้ามาหัวร่ออีก แล้วจึงกลับเหลียวหน้าเดินไป ทำอาการกิริยาอย่างนั้นเปนหลายครั้งจนเดินห่างไปประมาณ 8 วาเศษ

ขณะนั้นพระเจ้าตากจึงกวักพระหัตถ์เรียกจีนชะรานั้นให้กลับมาถึงแล้วจึ่งตรัสถามว่า ท่านแลดูหน้าเราแล้วก็หัวร่อด้วยเหตุไร จีนชะราตอบว่า ข้าพเจ้าเห็นราษีแลลักษณท่านทั้งสองนี้แปลกประหลาดกว่ามนุษทั้งปวง พระเจ้าตากจึ่งถามว่าท่านเปนหมอดูฤๅ จีนรับว่าเปนหมอดู พระเจ้าตากตรัสว่า ถ้ากระนั้นท่านช่วยดูเราสักหน่อยเถิด จีนนั้นจึ่งจับพระหัตถ์ดู แล้วจึ่งถามถึงปีเดือนวันพระชนม์พรรษาทราบแล้ว ก็ทักทำนายว่าท่านจะได้เปนกระษัตริย์ พระเจ้าตากก็ทรงพระสรวลเปนที่ไม่เชื่อ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจึ่งตรัสกับจีนชะรานั้นว่า ท่านจงช่วยดูให้เราบ้าง จีนนั้นจึ่งจับพระหัตถ์แล้วถามถึงปีเดือนวันพระชนม์พรรษาทราบแล้วจึ่งทำนายว่า ท่านก็จะได้เปนกระษัตริย์เหมือนกัน ขณะนั้นท่านทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระสรวลแล้วจึ่งตรัสตอบจีนนั้นว่า เรามีอายุศม์อ่อนกว่าพระเจ้าตากสองปีเศษเท่านั้น จะเปนกระษัตริย์พร้อมกันอย่างไรได้ ไม่เคยได้ยิน สัดตวงเข้าดอกกระมัง ตรัสเท่านั้นก็เสด็จเลยไปบิณฑบาททั้งสององค์…” (อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ 2545, หน้า 24)

ภายหลังเมื่อกองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีชนะทัพพม่าเด็ดขาด ก็ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี และปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยาม ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ก็ทรงเข้ารับราชการในแผ่นดินนี้ จนเป็นขุนนางที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ

ดวงพระชะตาของทั้งสองพระองค์นำพาให้ฝ่ายหนึ่งนั่งอยู่บนบัลลังก์ทอง อีกฝ่ายหนึ่งถือกำลังหนุนค้ำราชบัลลังก์ แต่ดวงพระชะตานั้นไม่ได้เกื้อหนุนพึ่งพิงกัน แต่กลับขัดแย้งกันในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองถึงขั้นอยู่คนละฝั่งความคิด

ความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองได้ก่อตัวขึ้นด้วยสาเหตุหลายประการ เหตุหนึ่งคือการที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรง “ละเลย” ต่อความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นหลักและหัวใจสำคัญในการปกครองควบคุมไพร่ฟ้า และขุนนาง การละเลยต่อความสำคัญในการรักษาระเบียบแบบแผนที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ โดยเฉพาะเรื่อง “ข้างใน” ได้ถูกกรมหลวงนรินทรเทวีทรงวิจารณ์ไว้อย่างชัดเจนหลายเรื่องดังเช่น “ลูกขุนนางไม่ใช้ ให้เก็บลูกพลเรือน ชาวตลาด ญวนงานกลางยกขึ้นเปนนางอยู่งาน”

นอกจากนี้ธรรมเนียมในการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการใกล้ชิด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรง “ละเลย” ธรรมเนียมที่เคยยึดถือกันมาเนิ่นนานอีกเช่นกัน คือไม่อุ้มชูเลี้ยงดูบุตรหลานตระกูลขุนนาง ซึ่งถือเป็นสายผู้ดีเก่าแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเท่าที่ควร กลุ่มคนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบุคคลระดับสูงของสังคม ที่มีพลังขับดันสังคมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร ในทางตรงข้ามทรงแต่งตั้ง “มิตรร่วมรบ” ขึ้นอยู่ในตำแหน่งสูง ๆ ตามที่ตุรแปง ได้เขียนวิจารณ์ในเรื่องนี้เอาไว้คือ “พระยาตากได้ยกย่องบุคคล ซึ่งเป็นพรรคพวกของพระองค์ทั้งหมดขึ้นอยู่ในตำแหน่งสูง ๆ ของประเทศ”

ด้วยเหตุนี้เหล่าขุนนางที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองในแบบ “อนุรักษนิยม” จึงรวมตัวกันขึ้น โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนขุนนางสายผู้ดีเก่าอย่างเจ้าพระยาจักรี กระบวนการจัดตั้งของขุนนางสายอนุรักษนิยมนี้ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและเข้มแข็ง ภายใต้การนำของเจ้าพระยาจักรี

ในขณะเดียวกันพระราชอำนาจของพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งวางอยู่บนรากฐานของการคุมกำลังไพร่ในหัวเมืองขึ้นมหาดไทย ก็สลายลงหลังศึกอะแซหวุ่นกี้ สมุหนายกจึงมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งในฐานะแม่ทัพประจำและในฐานะหัวหน้าเสนาบดีฝ่ายพลเรือน (หัวหน้าเสนาบดีฝ่ายทหารคือ สมุหพระกลาโหม ถูกลิดรอนอำนาจมาแต่ปลายอยุธยา) เพราะฉะนั้นจึงไม่ประหลาดอะไรที่เจ้าพระยาจักรีจะกลายเป็นหัวหน้าของกลุ่มเชื้อสายผู้ดีที่โค่นล้มพระเจ้ากรุงธนบุรีลงในต้น พ.ศ. 2325 เพราะในปลายรัชกาลนั้นเจ้าพระยาจักรีเป็นขุนนางกลุ่มเชื้อสายผู้ดีอยุธยาที่สูงเด่นที่สุด…” (นิธิ เอียวศรีวงศ์, การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, ศิลปวัฒนธรรมพิเศษ 2547, หน้า 403)

ใช่ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะไม่รู้ไม่เห็นกับความเคลื่อนไหวนี้ ทรงดำเนินการหลายอย่างเพื่อยุติศึกภายในนี้ ทั้งอย่างเปิดเผยและในทางลับ สิ่งที่รับรู้กันอย่างเปิดเผยคือ ทรงรับเอา “คุณฉิม” พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มาเป็นพระมเหสี ซึ่งภายหลังคือเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ ให้พระราชโอรสพระองค์สำคัญคือ “เจ้าฟ้าเหม็น” เท่ากับทรงเป็นลูกเขยเจ้าพระยาจักรีผสานเป็นทองแผ่นเดียวกัน แต่ในทางลับนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีแผนเชิงรุก “พิฆาต” เจ้าพระยาจักรีอยู่เหมือนกัน เรื่องร่ำลือนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ 331 ปีสกุลอมาตย์ และ 73 ปีแห่งการพระราชทานนามสกุลอมาตยกุล ปี 2529

“ในแผ่นดินเจ้าตากความนอกจากพงศาวดาร ได้ยินคุณอิ่มพี่พระยาเกษตรเป็นต้น ต่อมาคนอื่นเล่าให้ฟังกันหลายปาก ว่าเจ้าตากคิดจะฆ่าพระพุทธยอดฟ้ามาก่อนแต่ยังไม่คลั่ง คิดอุบายให้พระพุทธยอดฟ้าขึ้นไปขัดทัพที่เพ็ชรบูรณ์หน้าฝน เวลานั้นความไข้ชุกนัก การทัพนั้นไม่สำคัญ ท่านจึงรู้พระองค์ว่าจะแกล้งท่าน จะทำท่านอย่างไรไม่ได้ท่านไม่มีผิด จึงแกล้งจะให้ไปตายด้วยความไข้ ครั้นท่านขึ้นไปท่านก็ประกาศสั่งลูกทัพนายกอง ให้ปลูกทับกระท่อมพื้นสูงตั้งแต่สี่ศอกขึ้นไป ถ้าต่ำกว่า 4 ศอก หรือนอนกับดินจะฆ่าเสีย ท่านรักษาลูกทัพนายกองและพระองค์ท่านดังนี้ก็ไม่มีผู้ใดเจ็บไข้เป็นอันตรายสิ่งใดจนกลับมา ปัญญาเกิดขึ้นดังนี้ก็ไม่รู้เคมมิสตรีอย่างไร ก็เพราะบุญของท่านจะเป็นเจ้าแผ่นดิน”

สิ่งนี้เองเมื่อเกิดกบฎพระยาสรรค์ จึงปรากฏว่ามีการต่อต้านจากทหารฝ่ายรัฐบาลน้อยมากจนผิดสังเกต นอกจากนี้ขุมกำลังที่นำมาปราบกบฏ ก็มีความพร้อมสมบูรณ์ที่จะทำการ “รัฐประหาร” ได้ในทันที ขุนนางฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจำนวนไม่น้อยที่หันคมดาบเข้าหาฝ่ายรัฐบาลได้รับการปูนบำเหน็จโดยถ้วนหน้าเมื่อมีการเปลี่ยนแผ่นดิน ในขณะที่ขุนนางฝ่ายตรงข้ามนั้นถูก “ปิดบัญชี” ไปจำนวนไม่น้อย

หลักฐานชิ้นสำคัญที่ชี้ว่าใครเป็นใครในการ “ยกสำรับ” ขุนนางใหม่เมื่อต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ นั้น ปรากฏอยู่ในเอกสารที่ชื่อว่า “คำปฤกษาตั้งข้าราชการในแผ่นดินพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1” พิมพ์อยู่ในหนังสือวชิรญาณวิเสศ รายงานคำปฤกษาฯ นี้ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้นำมาเรียบเรียงใหม่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 แล้ว แต่มีข้อความผิดเพี้ยนกันอยู่บ้าง

ในคำปฤกษาฯ นี้ “ข้าหลวงเดิม” หรือขุนนางที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงใช้สอยใกล้ชิดมาแต่แผ่นดินกรุงธนบุรี ได้รับแต่งตั้งตามความดีความชอบกันถ้วนทุกคน รวมไปถึงผู้ที่เอื้อประโยชน์จนเป็นผลให้การเปลี่ยนแผ่นดินประสบผลสำเร็จ แต่หนึ่งในจำนวนนี้ได้สร้างความประหลาดใจ และคาดไม่ถึงคือ เจ้ากรมโหรหลังของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งแสดงว่าฝักใฝ่ในฝ่ายเจ้าพระยาจักรีเมื่อครั้งก่อนด้วยเช่นกัน

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงปูนบำเหน็จขุนโลกทีป เจ้ากรมโหรหลัง ขึ้นเป็นพระโหราธิบดี เจ้ากรมโหรหน้า หรือเป็นหัวหน้าโหรทั้งปวง ตามที่ปรากฏในคำปฤกษาฯ ดังนี้ “อนึ่งขุนโลกทีป กาไชโยค 2 คน จงรักษภักดี ชำระพระชันษาทูลเกล้าฯ ถวายทำนายถูกต้องแต่เดิม จนเสดจ : ขึ้นปราบฎาภิเศกมีความชอบ ขอพระราชทานตั้งขุนโลกทีปเปนพระโหราธิบดี กาไชโยคเปนขุนโลกทีป ให้พระราชทานเครื่องยศโดยถานาศักดิ”

อย่างไรก็ดีเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้นิพนธ์ไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 (ฉบับตัว เขียน) ได้ขยายความให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น คือ “ตรัสเอาขุนโลกยทีป ซึ่งได้ถวายพระยากรณ์ไว้แต่เดิม ว่าจะได้ราชสมบัตินั้น มีความชอบเปนพระโหราธิบดี ตรัสเอากาไชยโยคเปนขุนโลกทีป” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 (ฉบับตัวเขียน), อมรินทร์ พริ้นติ้งฯ, 2539)

ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2547

โหรในราชสำนักจะใช้พราหมณ์จากหัวเมืองปักษ์ใต้ คือนครศรีธรรมราช มีกำหนดไว้ตายตัวในกฎมนเทียรบาล ดังนี้ “เดีมดำแหน่งโหราหน้าหลังเปนคนแลฝ่ายไต้ขึ้นดั่งนี้ โหราหน้าคือ พระโหราธิบดี พขุนโชติสาตราจาริย ราชบหลัด โหราหลัง พระโลกทีปโหราธิบดี พขุนเทพากร ราชบหลัด…”

หน้าที่โดยรวมของโหรฝ่ายหน้าคือกำกับพระราชพิธี 12 เดือน เว้นพระราชพิธีตรียัมปวายเป็นหน้าที่โหรหลัง นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ดูแลพระราชพิธีพยุหยาตราพิไชยสงคราม และอาจจะรวมไปถึงการคุมทัพไปทำราชการศึกสงครามอีกด้วย เนื่องจากปรากฏว่าพระโหราธิบดีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต้องออกศึกสงครามหลายครั้ง เช่น “ณวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 4 สั่งให้หากองพระโหราธิบดี กองหลวงรักษ์มนเทียร ลงไปตั้งโคกสลุด…”

แต่ภายหลังชื่อของพระโหราธิบดีท่านนี้ก็หายไปจากพงศาวดาร คงเหลือแต่ขุนโลกทีปโหรหลัง ซึ่งมาปรากฏชื่อในคำปฤกษาฯ หลังผลัดแผ่นดินนั่นเอง ซึ่งโหรหลังนี้มีหน้าที่สำคัญคือเป็นผู้กำกับพระราชพิธีตรียัมปวาย

พราหมณ์หรือโหรประจำราชสำนักนั้นเป็นชนชั้นพิเศษคือ พระมหากษัตริย์จะไม่สั่งประหารชีวิต “ถ้าโทษตาย ให้เดดสังวาร เดดสายธุรำเสียนิฤเทศไปต่างเมือง” และหากในงานหลักคือหากทำนายผิด หรืออ่านโองการผิด ก็ต้องรับโทษเช่นกัน กฎมนเทียรบาลกำหนดโทษไว้ เช่น “อนึ่งโหรพราหมณทายเคราะห์ทายศึกทายฤกษผิด ลงอาชญา ลูกประคำใหญ่แขวนคอ”

ในการที่ขุนโลกทีปซึ่งเป็นโหรของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทำนายเจ้าพระยาจักรีถึงขั้นจะได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์นั้น มีความผิดชัดแจ้งอยู่ในข่ายกบฏ ในขณะที่เจ้าพระยาจักรีมีสิทธิ์ถูกลงพระราชอาญาประหารชีวิตเช่นกัน ดังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิพนธ์ถึงโทษของคำ “หมอดู” ไว้ว่า “เมื่อหมอดูทายว่าในกำหนดปีเดือนนั้น ๆ จะได้ดีฤาจะสมประสงค์นั้น ๆ ซึ่งปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเปนที่กีดขวางอยู่แล้ว คนผู้ที่หมอดูทายนั้นคงต้องรับพระราชอาญาประหารชีวิตรเสียจงได้โดยเร็ว จะให้พ้นตายไม่ได้ แลจะรอรั้งไว้ให้ช้าใกล้กำหนดที่หมอว่าก็ไม่ได้เลย…”

แต่การที่ขุนโลกทีป “ดูดวง” ให้เจ้าพระยาจักรีนั้น เห็นจะเป็นการลับ มิฉะนั้นคงเป็นเหตุใหญ่ทั้งโหรและเจ้าพระยาจักรีเอง แต่อย่างไรก็ดีสิ่งนี้เป็นการกระทำในข่ายกบฏ มีบุคคลในชั้นหลังที่เห็นควรว่าสิ่งนี้ควรจะเป็นความลับอยู่ต่อไป

เพราะสิ่งนี้อาจสร้างความไม่ชอบธรรม หรือความไม่สง่างามในการ “ปราบยุคเข็ญ” ของเจ้าพระยาจักรีได้ ดังนั้น พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับ “ชำระแล้ว” โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงปรากฏข้อความการแต่งตั้งข้าราชการประจำรัชกาลใหม่ในตอนขุนโลกทีปดังนี้ “ให้ขุนโลกทีปเปนพระโหราธิบดี ให้กาไชยโยคเปนขุนโลกทีป” โดยตัดความดีความชอบ ซึ่งได้ถวายพระยากรณ์ไว้แต่เดิม ว่าจะได้ราชสมบัตินั้น” ออกไป

หลักฐานสำคัญชิ้นนี้ ย่อมเป็นร่องรอยสำคัญที่อธิบาย “ความไม่บังเอิญ” ของเหตุการณ์กบฏพระยาสรรค์ได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “โหรพระเจ้าตาก ‘กบฏ’ ลอบทายดวงกษัตริย์รัชกาลที่ 1” เขียนโดย ปรามิทนทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2565