ยามสามตา วิธีการคำนวณฤกษ์ยาม เวลาใดดีร้าย

ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยุธยา

ยามสามตา พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายความไว้ว่า “ชื่อวิธีจับยามของหมอดู ใช้นับตามหลัก 3 หลัก คือ อาทิตย์ จันทร์ และอังคาร เวียนกันไป โดยนับขึ้นต้นที่อาทิตย์ ถ้าวันจับยามเป็นวันข้างขึ้น ให้นับเวียนขวาจากอาทิตย์ไปยังจันทร์และอังคาร ถ้าวันจับยามเป็นวันข้างแรม ให้นับเวียนซ้ายจากอาทิตย์ไปยังอังคารและจันทร์ แล้วทำนายตามตำรายามสามตาหรือตรีเนตร”

ตำรายามสามตา หรือ ตรีเนตร เป็นคำประพันธ์แบบกาพย์ตามตำราฉบับเดิมบันทึกว่า

“ท่านท้าวตรีเนตร เล็งญาณชาญเหตุ แต่ยามสามตา คือยามทิพย์ยล ยามนี้วิเศษ ท่านท้าวตรีเนตร เล็งรู้เหตุผล ผู้ใดได้พบ ยามเจ้าจุมพล อาจเข้าใจคน เรียนรู้ทุกประการ.

เดือนแรมบ่ผิด ให้นับอาทิตย์ ไปหาอังคาร เวียนไปตามค่ำ แล้วจึงนับยาม ชอบเวลางาม จึงทายอย่าคลา.

ถ้าเดือนขึ้นไซร้ นับอาทิตย์ไป หาพระจันทรา นับตามค่ำแล้ว จึงนับยามมา ให้ชอบเวลา แม่นแล้วจึงทาย.

กำลังอังคาร ท่านท้าวมัฆวาน บอกไว้โดยหมาย จันทร์ปลอดมัธยม เล่ห์ลมอุบาย ยามเจ้าฤๅสาย เที่ยงแท้สัตย์จริง.

อาทิตย์คือใส กำหนดลงไว้ อย่าได้ยุ่งยิ่ง ตรองให้เห็นเงื่อน อย่าเชือนประวิง ถูกแน่แท้จริง อย่าได้สงสัย.

ถ้าดูสู้กัน เล็งดูยามนั้น จะเป็นฉันใด ถ้าดำอยู่หลัง เบื้องหน้ายามใส ว่าเขาจักได้ เราแพ้เสียคน.

ถ้าดำอยู่หน้า ยามใสโสภา อยู่หลังเป็นต้น เขาแพ้กุมเอา ยุบยับอับเฉา ฝ่ายเรามีชัย อับในทำเนา.

ถ้าข้าศึกมา เรือนดำอยู่หน้า ศึกมาถึงเรา ถ้าใสอยู่หน้า มาแล้วกลับเล่า หน้าปลอดจักเปล่า ถ้าเจ็บอย่าฟัง.

คนมากเท่าใด ถ้าหน้าดำไซร้ คนมากโดยหวัง ถ้าว่าหน้าใส คนน้อยอย่าฟัง ถ้าปลอดอย่าหวัง หาไม่สักคน.

คนหาญหรือขลาด หน้าดำสามารถ เรียวแรงแสนกล หน้าใสพอดี บ่มีฤทธิรณ หน้าปลอดอำพน ว่าชายเหมือนหญิง.

ถืออันใดมา หน้าดำโสภา ถือสาตราจริง หน้าใสถือไม้ มาได้สักสิ่ง หน้าปลอดประวิง ว่ามือเปล่ามา.

ว่าสูงหรือต่ำ หน้าดำควรจำ ว่าสูงโสภา หน้าใสปานกลาง ปลอดต่ำหนักหนา ทายตามเวลา ยามเจ้าไตรตรึงส์.

ว่างามมิงาม หน้าดำอย่าขาม ว่างามบ่ถึง หน้าใสงามนัก หน้าปลอดพอพึง ยามเจ้าไตรตรึงส์ อย่าได้สงกา.

ว่าหนุ่มหรือแก่ หน้าดำนั้นแล ว่าแก่ชรา หน้าใสกลางคน ปลอดเด็กหนักหนา ประดินเวลา แม่นแล้วจึงทาย.

คนผอมหรือพี หน้าดำมีศรี ว่าพีพ่วงกาย หน้าใสพอดี ฉวีเฉิดฉาย หน้าปลอดเร่งทาย ว่าผอมเสียศรี.

ดำแดงหรือขาว หน้าดำควรกล่าว ว่าดำอัปรีย์ หน้าใสดำแดง เป็นแสงมีศรี หน้าปลอดขาวดี เที่ยงแท้โดยถวิล.

ต้นลงหรือปลาย หน้าดำเร่งทาย ว่าปลายลงดิน หน้าใสปลายขึ้น ต้นลงอาจิณ หน้าปลอดเร่งถวิล ว่านอนราบลง.

สุกหรือดิบห่าม หน้าดำอย่าขาม ว่าสุกโดยตรง หน้าใสห่ามแท้ ทายแต่โดยตรง หน้าปลอดเร่งปลง ว่าดิบหนักหนา.

ว่าหญิงหรือชาย หน้าดำเร่งทาย ว่าชายละหนา หน้าใสบัณฑิตย์ พึงพิศโสภา หน้าปลอดทายว่า หญิงงามโดยหมาย.

เต็มหรือพร่องแห้ง หน้าดำควรแถลง ว่าเต็มบ่มิคลาย หน้าใสบ่มิเต็ม งวดเข้มจงหาย หน้าปลอดกลับกลาย ว่าแห้งห่อนมี.

ขุนนางหรือไพร่ หน้าดำควรไข ว่าคนมีศรี หน้าใสโสภา วาสนาพอดี หน้าปลอดกาลี เข็ญใจหนักหนา.

ไข้เป็นหรือตาย หน้าดำเร่งทาย ว่าตายบ่คลา หน้าใสว่าไข้ ลำบากหนักหนา หน้าปลอดทายว่า ไข้นั้นบ่ตายง

ท่านรักหรือชัง หน้าดำท่านหวัง รักดังลูกชาย หน้าใสมิรัก มิชังโดยหมาย หน้าปลอดเร่งทาย ว่าชังหนักหนา.

หน้าจืดหรือหวาน หน้าดำเปรียบปาน น้ำตาลโอชา หน้าใสรสหวาน ประมาณรสา หน้าปลอดทายว่า จืดชืดมิดี.

หน้าขมหรือฝาด หน้าดำสามารถ ว่าขมแสนทวี หน้าใสทายว่า ฝาดนักมิดี หน้าปลอดตรงที่ ว่าจืดจริงนา.

ว่าอยู่หรือไป ถ้าหน้าดำไซร้ ว่าไปบ่ช้า หน้าใสแม้นไป กลางทางกลับมา หน้าปลอดทายว่า ว่าแต่จะไป.

สี่ตีนหรือสอง หน้าดำควรสนอง ว่าสี่ตีนแท้ หน้าใสสองตีน ประดินจงแน่ หน้าปลอดจงแก้ ว่าตีนบ่มี.

แม้นดูของหาย หน้าดำเร่งทาย ว่าได้บัดนี้ หน้าใสแม้นได้ ชาเจียรขวบปี หน้าปลอดหน่ายหนี บ่ได้เลยนา.

แม้นดูปลูกเรือน นับยามอย่าเชือน เร่งทายอย่าคลา แม้ดำอยู่หลัง ยามใสอยู่หน้า ว่าดีหนักหนา ถาวรมีศรี.

หน้าดำนำพา คือดำอยู่หน้า ท่านว่ามิดี แม่เรือนจะตาย วอดวายเป็นผี หน้าปลอดมิดี บอกให้รู้นา.

ว่าคว่ำหรือหงาย หน้าดำเร่งทาย ว่าคว่ำบ่คลา หน้าใสหงายแท้ นอนแผ่อยู่นา หน้าปลอดทายว่า ตะแคงแฝงตน.

ยามนี้วิเศษ ท่านท้าวตรีเนตร เล็งรู้เหตุผล คือเนตรท่านเอง แลเล็งทิพย์ผล สมเด็จจุมพล ให้ไว้เราทาย.

ผู้ใดได้พบ ยามเจ้าไตรภพ ร่ำเรียนกฎหมาย เดือนขึ้นเดือนลง วันคืนเช้าสาย ให้แม่นแล้วทาย อย่าคลาดเวลา

พระอาทิตย์ฤทธิไกร คือเนตรทาวไท ท่านท้าวพันตา อยู่ตรงนลาฏ พระบาทภูวนา ดูงามหนักหนา รุ่งเรืองเฉิดฉัน

ครั้นจักมีเหตุ ร้อนอาสน์ตรีเนตร ตรึกเหตุด้วยพลัน เล็งแลทั่วโลก ทุกทิศหฤหรรษ์ พระองค์ทรงธรรม์ เล็งตาทิพย์พราย.

ท่านให้นับยาม ครั้งรุ่งอร่าม สายงามแก่งาย แม้ตะวันเที่ยง เฉวียงตะวันชาย สายบ่ายบ่คลาย ฝ่ายค่ำสุริยัน.

ค่ำเฒ่าเข้านอน เด็กหลับกลับผ่อน ใหญ่นอนเงียบพลัน เที่ยงคืนยามสาม ล่วงเข้าไก่ขัน ใกล้พระสุริยัน สุวรรณเรืองรอง.

ตำรายามสามตา หรือราตรีเนตร มีอยู่ทั้งภาคใต้และภาคกลางนับแต่โบราณผู้ใหญ่เล่าเรียนกันมาตั้งแต่เด็กๆ และเคยท่องจำได้คู่กับวิชาหมอดู ผูกเป็นคำกาพย์ มีเนื้อหาสมบูรณ์มากกว่าตำราฉบับอื่น แต่ภาษาที่ใช้เข้าใจได้ยากและบอกวิธีทำนายไว้เป็นกาพย์ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร จึงเรียบเรียงใหม่เป็นร้อยแก้วเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นดังนี้

“หลัก 3 หลักมีดังนี้ เลข 1 แทนอาทิตย์อยู่ตำแหน่งเดียวกับใส เลข 2 แทนจันทร์ตำแหน่งเดียวกับปลอด และเลข 3 แทน อังคารตำแหน่งเดียวกับดำ

เวลาทำนาย ให้นับขึ้นต้นที่อาทิตย์ ถ้าวันที่จับยามเป็นวันข้างขึ้น ให้นับเวียนตามเข็มนาฬิกา ถ้าวันที่จับยามเป็นวันข้างแรม ให้นับวียนตามเข็มนาฬิกา ถ้าวันที่จับยามเป็นข้างแรม ให้นับเริ่มต้นที่เลข 1 หรืออาทิตย์ แล้วเวียนทวนเข็มนาฬิกาไปที่เลข 3 หรืออังคาร ต่อไปที่เลข 2 หรือจันทร์ คือนับเลข 1-3-2-1-3-2…ไปจนถึงวันที่จับยาม เช่น ถ้าจับยามวันแรม 5 ค่ำ นับ 1 ที่อาทิตย์ นับ 2 ที่อังคาร นับ 3 ที่จันทร์ นับ 4 ที่อาทิตย์ และนับ 5 ที่อังคาร แล้วหยุดลงตรงนั้น

เริ่มนับยามที่ 1 ณ ตำแหน่งที่หยุดนั้น คือยาม 1 ที่อังคาร ยาม 2 ที่จันทร์ ยาม 3 ที่อาทิตย์ ไปจนถึงยามที่ทำนาย ทั้งนี้ต้องนับทวนเข็มนาฬิกาเพราะเป็นวันข้างแรม

กลางวันมี 12 ชั่วโมง แบ่งเป็น 8 ยาม ยามละหนึ่งชั่วโมงครึ่ง คือยาม 1 เวลา 6.00-7.30 น. ยาม 2 เวลา 7.30-9.00 น. ยาม 3 เวลา 9.00-10.30 น. จนถึงยาม 8 เวลา 16.30-18.00 น. กลางคืนมี 12 ชั่วโมงก็แบ่งออกเป็น 8 ยาม เช่นเดียวกัน

ถ้าวันที่จับยามเป็นวันข้างขึ้น ให้นับ 1 ที่ตำแหน่ง 1 หรืออาทิตย์ แล้วนับเวียนตามเข็มนาฬิกาไปที่ตำแหน่ง 2 หรือจันทร์ ต่อไปที่เลข 3 หรืออังคาร คือนับเลข 1-2-3-1-2-3…ไปจนถึงวันที่จับยาม เช่น วันที่จับยามขึ้น 8 ค่ำ จะไปหยุดที่ตำแหน่ง 2 คือ จันทร์ปลอด แล้วเริ่มนับยามที่ 1 ณ ตำแหน่งที่หยุดคือปลอด เวียนตามเข็มนาฬิกาต่อไป เพราะเป็นวันข้างขึ้น

ถ้าดูสู้กัน เล็งดูยามนั้น จะเป็นฉันใด ถ้าดำอยู่หลัง เบื้องหน้ายามใส ว่าเขาจักได้ เราแพ้เสียคน’ แปลความหมายว่า นับถึงยามที่ทำนาย ตกที่ปลอดหรือ 2 วันทำนายเป็นวันข้างแรม เพราะเมื่อนับทวนเข็มนาฬิกาถึงปลอด เราผ่านดำทิ้งไว้ข้างหลัง และใสจะอยู่ข้างหน้า ฉะนั้นถ้าดูเรื่องสู้รบกัน ข้าศึกจะชนะ ฝ่ายเราจะแพ้เสียผู้คน และ

ถ้าข้าศึกมา เรือนดำอยู่หน้า ศึกมาถึงเรา ถ้าใสอยู่หน้า มาแล้วกลับเล่า หน้าปลอดจักเปล่า ถ้าเจ็บอย่าฟัง’ ถ้าเป็นข้างขึ้น นับยามมาตกที่ปลอด ดำจะอยู่ข้างหน้า ถามเรื่องข้าศึกทำนายว่า ข้าศึกจะมาประชิดเรา แต่ถ้าเป็นข้างแรม นับยามตกที่ปลอดใสจะอยู่ข้างหน้า ทำนายว่าข้าศึกจะมาแล้วก็กลับไป ถ้าหน้าปลอด ทำนายว่า ไม่มีอะไร ถ้าถามเรื่องเจ็บไข้ ทายว่าไม่ต้องเป็นห่วงเทียบกับข้อความในบทต่อไป “ถ้าว่าหน้าใส น้อยอย่าฟัง” ถ้าข้างหน้าใส ทายว่าข้าศึกจะมาน้อย ไม่ต้องเป็นห่วง”

ศ.ดร.ประเสริฐ ยังอธิบายต่อไปอีกว่า ตำราฉบับนี้ไม่บอกไว้ชัดว่าวันหนึ่งแบ่งเป็นกี่ยาม อาจแบ่งกลางวันและกลางคืนออกเป็นอย่างละ 4 ยามก็ได้ ตามที่แบ่งกลางวันออกเป็น 8 ยามนี้ อนุโลมตามตำราฤกษ์ยามของนายเหรียญ มีเดช (นาครเขษมบุ๊คสโตร์ พ.ศ. 2475) ที่นับวันและยามต่อกันไปแบบเดียวกับตำราข้างบนนี้ แต่ทายวันและยามแยกจากกัน เช่นวันอาจจะตกตำแหน่งที่ดีแต่ยามตกตำแหน่งที่ไม่ดี ก็ให้ทายเป็นปานกลาง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร. ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด รวมบทนิพนธ์ “เสาหลักทางวิชาการ” ของศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2549.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ธันวาคม 2564