ไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บันทึกโบราณบรรยายลักษณะไว้อย่างไร

ยุทธหัตถี การชนช้าง สงคราม ไทย กับ พม่า
“สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา” จิตรกรรมฝาผนัง จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2512 นายทหารจากจังหวัดพิษณุโลกได้ไปเรียนหลักสูตรนายร้อยที่ ศร. ปราณบุรี ได้ไปเยี่ยมหลวงอาที่วัดสัพพัง เขาย้อย จ. เพชรบุรี (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ได้อ่านหนังสือใบข่อยสมัยก่อน มีใจความเรื่องไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พอสรุปได้ดังนี้

ไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นไก่ที่ได้มาจากบ้านกร่าง รูปร่างลักษณะ

– เหลืองแก่ หางยาว (ดังฟ่อนข้าว)
– หน้าหงอนบาง กลางหงอนสูง หน้านกยูง
– มีเกล็ดพิเศษอีก 4 เกล็ดด้วยกัน ต้องดูที่นิ้ว ดังนี้

1. เกล็ดเสือซ่อนเล็บ
2. เกล็ดเหน็บชั้นใน
3. เกล็ดชัยบาดาล
4. เกล็ดผลาญศัตรู

– รูปร่างไก่ชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สูงโปร่ง คอยาว น่องสิงห์
– ลักษณะเดือยดําทั้งสองข้าง เล็บขาว ปากขาว

หมายเหตุ: ข้อมูลนี้มาจากบันทึกที่พบตามความเชื่อเท่านั้น…พลตรีรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ ผบ.พล.4 (ตำแหน่งเมื่อพ.ศ. 2525) เสาะแสวงหาเรื่องไก่พระนเรศวรฯ ตามความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งมาหลายปี และได้พบกับนายทหารดังกล่าว เมื่อพ.ศ. 2522 ที่พิษณุโลก

สมเด็จพระนเรศวร ทรงเล่นชนไก่กับพระมหาอุปราช ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดาราราม (ภาพโดย ธัชชัย ยอดพิชัย)

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 3 เมษายน 2562